รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 35 ที่กรุงลิมา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 35 ที่กรุงลิมา

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 พ.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 16 พ.ย. 2567

| 1,656 view

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 35 (35th APEC Ministerial Meeting: AMM) ณ กรุงลิมา เปรู โดยมีนายเอลเมร์ เชียเลร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเปรู และนางสาวเดซิลู เลออน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศและการท่องเที่ยวเปรู เป็นประธานร่วม

การประชุมดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างดี โดยไทยร่วมกับรัฐมนตรีเอเปคแสดงวิสัยทัศน์ใน 3 หัวข้อ ได้แก่

(1) การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจในระบบและเศรษฐกิจโลก ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเชื่อมโยงทางดิจิทัล การส่งเสริมการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินของคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะ MSMEs สตรี ผู้สูงอายุ และกลุ่มคนที่มีศักยภาพแต่ยังไม่ได้ใช้ รวมถึงสนับสนุนการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เพื่อเพิ่มจำนวนแรงงานในระบบและเตรียมพร้อมสำหรับเศรษฐกิจสูงวัย

(2) การเติบโตที่ยั่งยืนเพื่อการพัฒนาอย่างยืดหยุ่น ซึ่งไทยย้ำความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของเอเปค ผ่านการดำเนินการตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี (Bangkok Goals on BCG Economy) โดยไทยสนับสนุนการทำเกษตรกรรมอัจฉริยะ (smart agriculture) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร และการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่ยั่งยืนพร้อมย้ำความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายในการใช้พลังงานสะอาด อีกทั้งผลักดันให้ MSMEs ดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน

(3) การค้าและการลงทุนสำหรับการเติบโตที่ครอบคลุมและเชื่อมโยง ซึ่งไทยสนับสนุนบทบาทของเอเปคในฐานะแหล่งบ่มเพาะทางความคิดเพื่อส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีโดยมีองค์การการค้าโลกเป็นแกนกลาง ตลอดจนการพัฒนาวาระงาน FTAAP ที่เน้นเศรษฐกิจดิจิทัล ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างพลังเศรษฐกิจของสตรีและกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น

ในโอกาสนี้ มีการประกาศผลรางวัล APEC BCG Award ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีผู้แทนจากไทยเป็นผู้ชนะรางวัลดังกล่าวถึง 2 สาขา ได้แก่ สาขาสตรี คือ คุณภัสสร์วี ตาปสนันทน์ โคะดากะ เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Folk Charm ซึ่งดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นธรรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มสตรีในชุมชนจังหวัดเลย และสาขา MSMEs คือ บริษัท นิพพาน อินเตอร์คร็อพ จากจังหวัดลพบุรี ซึ่งนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างซังข้าวโพดมาแปรรูปเป็นสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น วัสดุรองนอนสำหรับสัตว์เลี้ยง วัสดุเพาะเห็ด เป็นต้น ในขณะที่เยาวชนจากอินโดนีเซีย ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นที่ส่งเสริมการลดขยะอาหาร ได้รับรางวัลในสาขาเยาวชน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ