อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกนำคณะหน่วยราชการไทยส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างไทย - สปป. ลาว - จีน

อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกนำคณะหน่วยราชการไทยส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างไทย - สปป. ลาว - จีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 1 ก.ย. 2565

| 11,968 view

เมื่อวันที่ ๑๕ – ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๕ นางสาวอาจารี ศรีรัตนบัลล์ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก ได้นำคณะเจ้าหน้าที่ประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ กรมทางหลวง สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ เดินทางไปสำรวจเส้นทาง R3A (จากจังหวัดเชียงราย ถึงด่านสากลบ่อเต็น บริเวณชายแดนลาว - จีน) เส้นทางรถไฟลาว – จีน สถานีรถไฟไทย - ลาว (บ้านคำสะหวาด) และ Vientiane Logistics Park/ท่าบกท่านาแล้ง ซึ่งมีความสำคัญสำหรับการขนส่งที่เชื่อมโยงระหว่างไทย - สปป. ลาว และจีน ทั้งทางถนนและทางราง รวมถึงหารือเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมสำหรับการเชื่อมโยงรถไฟลาว – จีนกับระบบรางของไทยที่บริเวณนครหลวงเวียงจันทน์กับจังหวัดหนองคาย เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างไทย – สปป. ลาว – จีน

เส้นทาง R3A เป็นเส้นทางขนส่งที่สำคัญระหว่างไทย - สปป. ลาว - จีน โดยเฉพาะผลไม้ส่งออกจากไทยไปยังจีนผ่าน สปป. ลาว เข้ามณฑลยูนนาน โดยการเดินทางจากด่านสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ ๔ (เชียงของ – ห้วยซาย) ไปยังด่านสากลบ่อเต็น (ชายแดนลาว - จีน) มีระยะทางประมาณ ๒๓๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๕ ชั่วโมง เป็นถนน ๒ ช่องทาง ซึ่งส่วนใหญ่คดเคี้ยวและลาดชันเนื่องจากผ่านพื้นที่ที่เป็นภูเขา

ที่ด่านสากลบ่อเต็น บริเวณชายแดนลาว - จีน คณะได้พบหารือกับผู้แทนด่านภาษีสากลบ่อเต็นเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าผ่านแดนจากไทยไปจีน โดยในช่วงมกราคม – กรกฎาคม ๒๕๖๕ มีการส่งออกของไทยไปจีนผ่านด่านสากลบ่อเต็นทางรถจำนวน ๒๑,๕๓๘ ตู้ รวมมูลค่าประมาณ ๘๘๔.๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และภายหลังการเปิดใช้ทางรถไฟลาว – จีน เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๔ เป็นต้นมา มีการขนส่งสินค้าไทยโดยใช้ประโยชน์จากรถไฟลาว – จีน (จากสถานีเวียงจันทน์ใต้ไปยังสถานีนาเตย แล้วต่อด้วยทางรถมายังด่านสากลบ่อเต็นเพื่อเข้าจีน) แล้วจำนวน ๕๐๓ ตู้ มูลค่ารวมกว่า ๓๘.๖๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคณะทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าจากไทยข้ามแดนไปจีนให้คล่องตัวและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และความคืบหน้าของการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าข้ามแดนทางรางที่ด่านสถานีรถไฟโม่ฮานในฝั่งจีน

นอกจากนี้ คณะได้เยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงามใกล้ด่านสากลบ่อเต็น ซึ่งพัฒนาโดยกลุ่มบริษัทไห่เฉิงยูนนาน (Haicheng Yunnan) ให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของลาวเหนือใน ๔ สาขาหลัก ได้แก่ (๑) การค้าและการเงิน (๒) การท่องเที่ยวและพักผ่อน (๓) อุตสาหกรรมแปรรูปและการขนส่งและโลจิสติกส์ และ (๔) การศึกษาและการแพทย์ เพื่อศึกษาลู่ทางการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่และโอกาสสำหรับไทยในอนาคต

สำหรับการเดินทางโดยรถไฟลาว – จีนจากสถานีบ่อเต็นไปยังสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นสถานีปลายทางสำหรับผู้โดยสาร ระยะทาง ๔๐๙ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง ๓ ชั่วโมง ๓๐ นาที รถไฟวิ่งด้วยความเร็วปานกลางเฉลี่ย ๑๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผ่านอุโมงค์ ๗๕ จุด และสถานีหลัก ได้แก่ สถานีนาเตย เมืองไซ หลวงพระบาง วังเวียง ซึ่งทางรถไฟดังกล่าวได้ช่วยลดระยะเวลาเดินทางภายใน สปป. ลาว ลงอย่างมาก และจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นสำหรับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างไทย - สปป. ลาว - จีน

เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก และคณะ ได้เข้าพบหารือกับนายวิโรด สุนดารา อธิบดีกรมเอเชีย แปซิฟิก และแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว เพื่อติดตามความคืบหน้าและกระชับความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทย – ลาว ภายหลังการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี สปป. ลาว เมื่อวันที่ ๑ - ๒ มิถุนายน ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการเปิดใช้พื้นที่ควบคุมร่วมกัน (Common Control Area) เพื่อลดขั้นตอนการตรวจปล่อยสินค้าที่ด่านสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ ๒ (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต) การพัฒนาเส้นทาง R12 ในแขวงคำม่วน ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งสำคัญสำหรับการส่งออกสินค้าไทยไปเวียดนามและจีน การจัดพิธีวางศิลาฤกษ์สะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ ๕ (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) ความร่วมมือด้านแรงงาน การก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ การกลับมาเปิดด่านท้องถิ่นและด่านประเพณี และการจัดทำ MoU ว่าด้วยความร่วมมือด้านสื่อมวลชนและข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรมไทย - ลาว

ในวันเดียวกัน คณะได้เยี่ยมชมโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน - ห้วยซั้ว (หลัก ๒๒) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระมหากรุณาฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๓๗ ตามที่นายไกสอน พมวิหาน ประธานประเทศ สปป. ลาว (ขณะนั้น) ได้ขอพระราชทานความช่วยเหลือเพื่อเป็นสถานที่สาธิตกิจกรรมการเกษตรและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกรชาวลาว ปัจจุบัน ศูนย์ดังกล่าวเป็นศูนย์เผยแพร่องค์ความรู้ด้านการเกษตรสมัยใหม่แก่ชาวลาว ซึ่งเป็นที่ยอมรับและชื่นชมของภาคส่วนต่าง ๆ ใน สปป. ลาว อย่างมาก และเป็นสัญลักษณ์สำคัญของมิตรภาพระหว่างไทยกับ สปป. ลาว

ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๕ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก และคณะ ได้เยี่ยมชมสถานีเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) ซึ่งเป็นสถานีปลายทางสำหรับผู้โดยสารของรถไฟไทย - ลาว ที่สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) ให้การสนับสนุนทางการเงินในการก่อสร้าง โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปลายปีนี้ โดยสถานีเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) เป็นสถานีที่ตั้งอยู่ใกล้ใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์ โดยอยู่ห่างจากย่านธุรกิจของนครหลวงเวียงจันทน์เพียง ๖ กิโลเมตร และห่างจากสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ (รถไฟลาว - จีน) ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มช่องทางการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างจังหวัดหนองคายกับนครหลวงเวียงจันทน์ให้สะดวกมากยิ่งขึ้นในอนาคต

จากนั้น คณะได้เยี่ยมชม Vientiane Logistics Park/ท่าบกท่านาแล้ง บริเวณใกล้สะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ ๑ (หนองคาย - เวียงจันทน์) ซึ่งเป็นหนึ่งในสามโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ Lao Logistics Link ของ สปป. ลาว โครงการดังกล่าวได้รับการพัฒนาโดยบริษัท เวียงจันทน์โลจิสติกส์ พาร์ค จำกัด ในรูปแบบ build-operate-transfer (BOT) มีอายุสัมปทาน ๕๐ ปี แบ่งออกเป็น ๕ พื้นที่ ได้แก่ ท่าบกท่านาแล้ง เขตคลังน้ำมัน เขตโลจิสติกส์ เขตการค้าเสรี และเขตผลิตและแปรรูปสินค้าเพื่อการส่งออก โดยปัจจุบัน ท่าบกท่านาแล้งเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างรถไฟไทย – ลาว (สถานีท่านาแล้ง) กับรถไฟลาว – จีน (สถานีเวียงจันทน์ใต้) โดยใช้รถยกเพื่อเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าระหว่างรถไฟทั้งสองระบบ ซึ่งมีความกว้างของรางต่างกัน

ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกได้นำคณะเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายและรับฟังบรรยายสรุปจากหน่วยงานในพื้นที่เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมสำหรับการเชื่อมโยงรถไฟลาว – จีนกับระบบรางของไทย รวมทั้งได้เยี่ยมชมจุดก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ สถานีรถไฟหนองคาย และสถานีรถไฟนาทา

กระทรวงการต่างประเทศจะนำข้อมูลและข้อคิดเห็นที่ได้รับจากการสำรวจและศึกษาเส้นทางและระบบการคมนาคมขนส่งระหว่างไทย - สปป. ลาว - จีน ครั้งนี้ ไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดแนวทางการส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างไทย สปป. ลาว และจีน และในระดับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นประโยชน์ต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ