รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอภาคเอกชนและภาควิชาการ นำ Soft power ต่อยอดการพัฒนาในภูมิภาค

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอภาคเอกชนและภาควิชาการ นำ Soft power ต่อยอดการพัฒนาในภูมิภาค

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ธ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,754 view

เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๓ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจ การพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ร่วมกับภาคเอกชน ภาควิชาการ และผู้อำนวยการสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอให้ภาคส่วนต่าง ๆ ต่อยอดการพัฒนาโดยใช้ Soft power ได้แก่ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ของสหประชาชาติ ทั้ง ๑๗ เป้าหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ และได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ เป้าหมายการพัฒนาดังกล่าวจะเป็นรากฐานสำคัญและส่งเสริมให้ภาคเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน นอกจากนั้น ยังเสนอให้ ต่อยอดภาคธุรกิจจากกีฬาแนวผจญภัย ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี

ผู้อำนวยการสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง ได้สรุป ๓ ประเด็นสำคัญที่กำลังขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาในภูมิภาค ได้แก่ (๑) การสร้างขอนแก่นให้เป็นเมืองศูนย์กลางที่มีความโดดเด่น ทั้งในระดับภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (๒) ในภูมิภาคนี้มีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมาก ซึ่งรัฐอาจช่วยสนับสนุนโดยการเพิ่มการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) รวมถึงการจัด Road Show ทั้งกับผู้ประกอบการอื่น ๆ ในระดับภูมิภาค รวมถึงจากประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคด้วย และ (๓) สถาบันฯ ได้รับเงินสนับสนุนจากเกาหลีใต้ เพื่อใช้จัดกิจกรรมในกรอบความร่วมมือยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) กับเกาหลีใต้ โดยสถาบันฯ กำลังเสนอจัดกิจกรรมในหัวข้อแนวทางการจัดส่งและกระจายวัคซีน ซึ่งกำลังเป็นหัวข้อที่จะมีความสำคัญมากในสถานการณ์โควิด-๑๙ ระยะต่อไป

ในโอกาสเดียวกันนี้ ภาคเอกชนและภาควิชาการ ยังได้หารือแลกเปลี่ยนอย่างกว้างขวางในประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะเป้าหมายของการพัฒนาจังหวัดขอนแก่นและภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ให้เป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการขนส่งในระดับประเทศและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ ได้แก่ อุตสาหกรรมระบบราง อุตสาหกรรมอากาศยาน กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรรค์ อุตสาหกรรมดิจิทัล สาธารณสุข และการเพิ่มมูลค่าให้แก่อุตสาหกรรมด้านอาหาร บันเทิง และการท่องเที่ยว

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ