วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ธ.ค. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๑๗ - ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการ และเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission for Bilateral Cooperation: JC) ไทย - กัมพูชา ครั้งที่ ๑๑ ณ กรุงพนมเปญ ตามคำเชิญของนายปรัก สุคน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชา
ในระหว่างการเยือนอย่างเป็นทางการครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าเยี่ยมคารวะสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่ทำเนียบรัฐบาลกัมพูชา เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๔ โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นความสัมพันธ์ทวิภาคีและประเด็นในภูมิภาค รวมถึงประเด็นที่กัมพูชาให้ความสำคัญและแนวทางการดำเนินการของกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนในปี ๒๕๖๕ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงความเชื่อมั่นและการสนับสนุนกัมพูชาอย่างเต็มที่
โดยเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๔ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชาได้หารือทวิภาคี โดยทั้งสองฝ่ายแสดงความยินดีกับความสัมพันธ์อันดีเยี่ยมระหว่างไทยกับกัมพูชาและยืนยันความมุ่งมั่นที่จะกระชับความร่วมมือในทุกมิติ ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการค้าชายแดน การสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม การคุ้มครองคนชาติของแต่ละประเทศ และความร่วมมือด้านแรงงาน โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำความพร้อมของฝ่ายไทยที่จะทำงานร่วมกับฝ่ายกัมพูชาอย่างใกล้ชิดเพื่อสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของกัมพูชาในปี ๒๕๖๕
ภายหลังการหารือทวิภาคีฯ ทั้งสองฝ่ายได้เป็นประธานร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission for Bilateral Cooperation: JC) ไทย - กัมพูชา ครั้งที่ ๑๑ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมการประชุมทั้งในห้องประชุมและผ่านระบบการประชุมทางไกล
ทั้งสองฝ่ายยินดีกับการเฉลิมฉลอง ๗๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - กัมพูชา และความร่วมมืออย่างแนบแน่นระหว่างทั้งสองประเทศท่ามกลางความท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙)
ภายใต้แนวคิด “ฟื้นฟูไปด้วยกันเพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง” ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือเพื่อสนับสนุนความพยายามของไทยและกัมพูชาในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์โควิด-๑๙ เพื่อให้ทั้งสองประเทศกลับมาเข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยผ่านการสานต่อความร่วมมือที่มีอยู่แล้วและการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ
นอกจากนั้น ยังเห็นพ้องที่จะร่วมกันรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน พร้อมทั้งส่งเสริมมิตรภาพอันใกล้ชิดระหว่างประชาชนไทยและกัมพูชา
ในประเด็นความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะประสานงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน โดยเฉพาะในโอกาสที่กัมพูชาดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีหน้า
ผลลัพธ์สำคัญของการประชุมซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทยและกัมพูชา รวมทั้งต่อภูมิภาค ได้แก่
๑) การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโดยเร็วจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙
- ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะอำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามแดนระหว่างกัน เช่น การใช้ระบบดิจิทัลในการตรวจสอบเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนระหว่างกัน การจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อหารือความเป็นไปได้ในการเปิดให้มีการท่องเที่ยวระหว่างกันโดยมีมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (bubble and seal) ในพื้นที่ชายแดนของสองประเทศ และการเพิ่มเที่ยวบินตรงระหว่างกัน
- ทั้งสองฝ่ายรับทราบว่าไทยได้กลับมานำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งรวมถึงกัมพูชาแล้ว เพื่อตอบสนองความต้องการแรงงานของไทยและเพิ่มโอกาสการมีงานทำให้แก่แรงงานกัมพูชา และเห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกันเพื่อให้ชาวกัมพูชาที่ต้องการหางานทำในไทยดำเนินการผ่านทางช่องทางที่ถูกต้อง
- ทั้งสองฝ่ายได้กำหนดกรอบเวลาใหม่เพื่อบรรลุเป้าหมายการค้า ๑๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ๒๕๖๘ และจะทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
- ในฐานะนักลงทุนอันดับ ๙ ของกัมพูชา ฝ่ายไทยยืนยันความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยในศักยภาพทางเศรษฐกิจของกัมพูชา และจะยังคงขยายธุรกิจเพื่อสร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ชาวกัมพูชาต่อไป
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่ส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนของทั้งสองฝ่ายในแต่ละประเทศ รวมถึงเสริมสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยยิ่งขึ้นต่อการลงทุน โดยฝ่ายไทยได้หยิบยกข้อเสนอแนะของนักลงทุนไทยในกัมพูชา เช่น การปรับกฎหมายภาษีให้ชัดเจนและปฏิบัติตามได้ง่ายขึ้น และ การใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากความตกลงยกเว้นภาษีซ้อน เป็นต้น
- ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว โดยเฉพาะการปรับใช้ตัวแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy Model เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่อย่างเต็มที่ในการส่งเสริมการเติบโตในอนาคตและการบรรลุการพัฒนาสีเขียวและการพัฒนาที่ยั่งยืน
- ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างทั้งสองประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือเพื่อเตรียมการเปิดสะพานมิตรภาพไทย - กัมพูชาที่เชื่อมโยงจังหวัดสระแก้วกับจังหวัดบันเตียเมียนเจย ซึ่งมีกำหนดเปิดทำการในปีหน้า รวมถึงการเปิดบริการการเดินรถไฟข้ามแดนระหว่างสองจังหวัดเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย
- ทั้งสองฝ่ายยินดีที่กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้นของประเทศหุ้นส่วนในโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของไทย โดยทั้งสองฝ่ายแสดงความมุ่งมั่นที่จะสานต่อความเป็นหุ้นส่วนดังกล่าว และจะร่วมมือกันในโครงการพัฒนาถนนเส้นทางต่าง ๆ เพื่อเชื่อมไทยกับกัมพูชา โดยปัจจุบัน มีสองเส้นทางที่อยู่ระหว่างการหารือ
- ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดน เพื่อส่งเสริมศักยภาพของทั้งสองประเทศในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ และเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคต ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ทำพิธีส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งมีมูลรวมประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา เพื่อสนับสนุนกัมพูชาในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ในช่วงท้ายของการประชุม
๒) การรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน และการส่งเสริมมิตรภาพอันใกล้ชิดระหว่างประชาชนไทยและกัมพูชา
- ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือเพื่อป้องกันและปราบปรามปัญหาการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงการช่วยเหลือและส่งกลับคนไทยที่ถูกชักชวนไปทำงานหลอกลวงทางโทรศัพท์หรือกรณี call centers การค้ายาเสพติด และอาชญากรรมข้ามชาติประเภทอื่น ๆ นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมตามแนวชายไทย - กัมพูชา
- ทั้งสองฝ่ายคาดหวังให้มีการเปิดศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดและฝึกอาชีพแห่งชาติในจังหวัดพระสีหนุ อย่างเป็นทางการในโอกาสแรก โดยฝ่ายไทยได้สนับสนุนทางการเงินในการก่อสร้างศูนย์ดังกล่าวเป็นเงินจำนวน ๓๘ ล้านบาทหรือ ๑.๑๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความเข้าใจอันดีและมิตรภาพในระดับประชาชน ซึ่งรวมถึงความร่วมมือในด้านกีฬาและการแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชน
๓) ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในประเด็นอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน
- ฝ่ายไทยแสดงความยินดีต่อความสำเร็จในการเป็นประธานการประชุมผู้นำเอเชีย - ยุโรป (อาเซม) ครั้งที่ ๑๓ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔
- ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านกลไกความร่วมมือต่าง ๆ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (ACMECS) และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission - MRC)
- ฝ่ายไทยสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของกัมพูชาในปี ๒๕๖๕ อย่างเต็มที่ และแสดงความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับกัมพูชาเพื่อส่งเสริมความเป็นเอกภาพและความเป็นแกนกลางของอาเซียนท่ามกลางสถานการณ์ระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อสนับสนุนอาเซียนในการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงประเด็นเมียนมา บนพื้นฐานของความเป็นสมาชิกครอบครัวอาเซียนด้วยกัน
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - กัมพูชา ครั้งที่ ๑๒ ในประเทศไทยในปี ๒๕๖๖ ในช่วงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายจะกำหนดร่วมกันต่อไป
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **