รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวปาฐกถาพิเศษในสัมมนาเชิงวิชาการเรื่อง “๒๐๒๔ ปีแห่งการเลือกตั้งโลก : การกำหนดและดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศของไทย”

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวปาฐกถาพิเศษในสัมมนาเชิงวิชาการเรื่อง “๒๐๒๔ ปีแห่งการเลือกตั้งโลก : การกำหนดและดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศของไทย”

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.พ. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 15 ก.พ. 2567

| 2,995 view

เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับเชิญให้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายด้านการต่างประเทศของไทยภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของนานาประเทศ” ในสัมมนาเชิงวิชาการ “๒๐๒๔ ปีแห่งการเลือกตั้งโลก : การกำหนดและดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศของไทย” จัดโดยคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวปาฐกถา โดยให้ความสำคัญกับการ “พลิกฟื้นและปฏิรูป” การต่างประเทศไทยผ่านการดำเนินแนวคิด “การทูตเชิงรุก” โดยให้ประเทศไทยมีท่าทีในประเด็นสำคัญของโลกที่ชัดเจนและสม่ำเสมอ เพื่อต่อยอดผลประโยชน์ของประเทศไทย เพื่อสร้างเสริมเสถียรภาพและความมั่นคง และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ตระหนักด้วยว่าประเทศไทยต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างสมดุลและยืดหยุ่น รักษาความเป็นกลางที่เป็นมิตรกับทุกฝ่าย และเข้าถึงฝ่ายต่าง ๆ เพื่อให้ไทยมีมิตรรอบด้านที่ทุกประเทศมีความเชื่อมั่นและเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ด้วย รวมทั้งไทยควรต้องมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในประเด็นที่ส่งเสริมค่านิยมและมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ความโดดเด่นและน่าสนใจของไทย และนำไทยกลับสู่จอเรดาร์โลก

ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำด้วยว่า ไทยต้องให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความร่วมมือและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของภูมิภาค เพื่อรักษาให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ที่มีสันติภาพ ความมั่นคง และปลอดจากความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ อันเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการดึงดูดการลงทุน การย้ายฐานการผลิตและห่วงโซ่อุปทานมายังไทยและอาเซียน ในขณะเดียวกัน ไทยให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นกับการร่วมมือกับอาเซียน เพื่อสนับสนุนการคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมา โดยอยู่ระหว่างการผลักดันข้อริเริ่มของไทย - เมียนมาในการยกระดับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนชาวเมียนมาตามแนวชายแดนไทย - เมียนมา ซึ่งข้อเสนอนี้ได้รับการสนับสนุนจากอาเซียน ซึ่งสะท้อนบทบาทไทยในการแสวงหาสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญเติบโตในภูมิภาคด้วยสันติวิธี

อ่านปาฐกถาฉบับเต็มได้ที่นี่

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ