รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีกับบุคคลต่าง ๆ ในห้วงของการประชุม WEF ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๔

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีกับบุคคลต่าง ๆ ในห้วงของการประชุม WEF ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๔

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ม.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 ม.ค. 2567

| 4,481 view

เมื่อวันที่ ๑๗ – ๑๘ มกราคม ๒๕๖๗ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีกับบุคคลต่าง ๆ ในห้วงของการประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๔ รวม ๖ การหารือ ได้แก่

(๑) การหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนางสาว Viola Amherd ประธานาธิบดีสมาพันธรัฐสวิส (๑๗ มกราคม) ประธานาธิบดีสมาพันธรัฐสวิสหวังให้ลงนามความตกลง FTA ไทย-EFTA ได้ภายในปีนี้ ขณะที่นายกรัฐมนตรีขอบคุณโครงการ e-bus ซึ่งพร้อมขยายความร่วมมือต่อไป (รองนายกรัฐมนตรีฯ เข้าร่วม)

(๒) การหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีกับศาตราจารย์ Klaus Schwab ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร WEF (๑๗ ม.ค.) โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า ไทยเปิดรับทุกโอกาสในด้านต่าง ๆ และหวังที่จะได้รับเชิญให้มาร่วม WEF อีกในปีหน้าเพราะเป็นเวทีที่ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ที่หลากหลายระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ขณะที่ประธาน WEF ยินดีต้อนรับและแจ้งว่า ตนมีกำหนดการเยือนไทยและอาเซียนในเดือนกันยายนปีนี้ (รองนายกรัฐมนตรีฯ และผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ เข้าร่วม)

(๓) การหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนาย Tony Blair ประธานกรรมการบริหาร Tony Blair Institute of Global Change และอดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร (๑๗ ม.ค.) โดยนายกรัฐมนตรีได้รับฟังบทบาทของสถาบันฯ ในการจัดทำข้อเสนอด้านนโยบายสำหรับรัฐบาลต่างๆ และภาครัฐของประเทศต่างๆ ในการรับมือกับปัญหาท้าทายระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น นายกรัฐมนตรีได้แสดงความสนใจและขอให้ทางสถาบันฯ ประสานงานในรายละเอียดกับรัฐบาลไทยต่อไป โดยเฉพาะการจัดทำข้อเสนอที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อไทย (รองนายกรัฐมนตรีฯ และผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ เข้าร่วม)

(๔) การหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนาย Alexander De Croo นายกรัฐมนตรีเบลเยียม (๑๗ ม.ค.) ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันและแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ อีกทั้งนายกรัฐมนตรีได้ขอให้เบลเยียมช่วยผลักดันการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป และขอรับการสนับสนุนจากเบลเยียมในการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทยในการเดินทางเข้าเขตเชงเกน (ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ เข้าร่วม)

(๕) การหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีกับสมเด็จฯ Hun Manet นายกรัฐมนตรีกัมพูชา (๑๗ ม.ค.) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในภูมิภาค ขณะที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชายินดีที่จะเยือนไทยในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์นี้ โดยพร้อมหารือในประเด็นสำคัญและเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงเรื่องการผ่านแดนสินค้าและความร่วมมือทางวิชาการ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้แจ้งว่า สมเด็จฯ ฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา มีกำหนดจะเดินทางเยือนไทยในวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์นี้ (ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ เข้าร่วม)

(๖) การหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (๑๘ ม.ค.) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้เร่งรัดการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป โดยนายกรัฐมนตรีย้ำถึงศักยภาพของอาเซียน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการเป็น one destination และหวังจะเห็นภาคเอกชนของยุโรปมาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการใช้พลังงานและสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศด้วย (ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ เข้าร่วม)

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ