กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมหน่วยงานภาครัฐและวิชาการจัดการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเรื่อง CPTPP กับสื่อมวลชน

กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมหน่วยงานภาครัฐและวิชาการจัดการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเรื่อง CPTPP กับสื่อมวลชน

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 มิ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 8,772 view

กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและภาควิชาการจัดการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเรื่อง CPTPP กับสื่อมวลชน (CPTPP Media Focus Group) ครั้งที่ ๑ เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกและแลกเปลี่ยนความเห็นกับสื่อมวลชน เกี่ยวกับโอกาส ความท้าทาย และการดำเนินการของไทย เพื่อประกอบการพิจารณาเข้าร่วมการเจรจาเป็นภาคี CPTPP 

เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมสารนิเทศและกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จัดการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเรื่องความตกลงข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Trans-Pacific Partnership –CPTPP) กับสื่อมวลชน ครั้งที่ ๑ (1st CPTPP Media Focus Group) ณ ห้องบัวแก้ว  โดยเชิญผู้แทนภาคสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อมวลชนด้านเศรษฐกิจ ซึ่งให้ความสนใจรายงานข่าวเกี่ยวกับ CPTPP มาพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็นกับผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาควิชาการจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สํานักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมวิชาการเกษตร และคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมการหารือดังกล่าวด้วย

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กล่าวว่า วัตถุประสงค์การจัดการหารือครั้งนี้สอดรับกับมติคณะรัฐมนตรีโดยเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ที่เห็นชอบให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ศึกษาความพร้อมของไทยในการเจรจาเข้าร่วมความตกลงฯ  โดยขยายเวลาเพิ่มเติมอีก ๕๐ วัน เพื่อให้มีหารือกับภาคส่วนต่าง ๆ ให้ครอบคลุม ครบถ้วนและรอบคอบที่สุดสำหรับประกอบการพิจารณาเริ่มขั้นตอนการเข้าร่วม CPTPP ของไทย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างศึกษาโอกาสและข้อท้าทายของการเข้าร่วมฯ

นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ได้บรรยายถึงบริบทของความตกลง CPTPP ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งปัจจัยต่าง ๆ ของภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน แนวโน้มในการดำเนินนโยบายของไทยในระยะต่อไป รวมทั้งความท้าทายและการปรับตัวเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทย เพื่อรองรับความตกลงด้านการค้าและเขตการค้าเสรีในโลกยุคใหม่

ผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงความเป็นมาของความตกลง CPTPP รวมทั้งการดำเนินการที่ผ่านมาในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาในการเข้าร่วมเจรจา CPTPP ในขณะที่ผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ (กนศ.) ได้สรุปการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ในการรวบรวมข้อมูลและจัดทำข้อเสนอแนะ จากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ก่อนจะประมวลข้อคิดเห็นเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

ผู้แทนจากภาครัฐหน่วยอื่น ๆ ก็ได้ร่วมให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสื่อมวลชนในหลากหลายประเด็น อาทิ ประเด็นการคุ้มครองพันธุ์พืช และการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและนักลงทุนต่างชาติ ในขณะที่ศาสตราจารย์ทัชมัย ฤกษะสุต จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงทัศนะเชิงลึกในประเด็นที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง ได้แก่ กระบวนการเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (Compulsory Licensing หรือ CL) และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ

ภายในงานได้มีการหารือแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับโอกาส ความท้าทาย การดำเนินการของไทย และแนวโน้มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาเข้าร่วมเจรจา CPTPP รวมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคสื่อมวลชนได้ซักถามประเด็นที่อยู่ในความสนใจจากแวดวงสื่อมวลชน โดยบรรยากาศการหารือเป็นไปอย่างเปิดกว้างและสร้างสรรค์ การหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับสื่อมวลชนครั้งนี้เป็นโอกาสให้ภาครัฐได้สื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อเท็จจริงกับภาคสื่อมวลชนเพื่อนำไปวิเคราะห์และพิจารณาท่าทีและข้อตัดสินใจของไทยเพื่อเข้าร่วม CPTPP ต่อไป

--------------

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ