ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศกล่าวปิดนิทรรศการศิลปะ “Weaving Our Stories” เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ครบรอบ ๑๙๐ ปี

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศกล่าวปิดนิทรรศการศิลปะ “Weaving Our Stories” เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ครบรอบ ๑๙๐ ปี

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 มิ.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 มิ.ย. 2567

| 3,553 view

เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๗ นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมพิธีปิดนิทรรศการศิลปะ “Weaving Our Stories” ในโอกาสสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ ครบรอบ ๑๙๐ ปี (ปี ๒๕๖๖) จัดโดยสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ในโอกาสนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ กล่าวปิดงานร่วมกับนายรอเบิร์ต เอฟ. โกเด็ก เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย และนางสาวอแมนด้า พึ่งโพธิปักขิยะ ศิลปินชาวอเมริกันเชื้อสายไทย ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ “Time Owes Us Remembrance” โดยผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ย้ำว่า การฉลองครบรอบ ๑๙๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ ในครั้งนี้นับเป็นครั้งประวัติศาสตร์ และเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จฯ มาทรงเปิดนิทรรศการฯ เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๗ ซึ่งสะท้อนสายสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่ใกล้ชิดและแน่นแฟ้นเป็นพิเศษ โดยผลงานศิลปะที่จัดแสดงในนิทรรศการฯ สะท้อนถึงสายใยความเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศที่ถักทอและเชื่อมโยงกันบนพื้นฐานค่านิยมร่วม และความร่วมมือที่เพิ่มพูนขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกมิติและระดับ โดยมีสายสัมพันธ์ระดับประชาชนที่แน่นแฟ้นเป็นแกนกลางที่สำคัญที่หล่อหลอมความสัมพันธ์ระหว่างกัน

งานนิทรรศการศิลปะ “Weaving Our Stories” เป็นงานแสดงศิลปะที่จัดโดยสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ร่วมกับศูนย์ C-ASEAN ด้วยความร่วมมือกับมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยมีภาคเอกชนไทยและสหรัฐฯ ร่วมให้การสนับสนุน จัดแสดงตั้งแต่วันที่ ๑๖ มกราคม - ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๗ ทั้งนี้ ผลงาน “Time Owes Us Remembrance" ซึ่งจัดทำโดยนางสาวอแมนด้า เป็นชิ้นงานหลักของนิทรรศการฯ ซึ่งรังสรรค์จากเส้นใยผ้า และแถบผ้าไหมและผ้าฝ้ายไทยหลากสี โดยเป็นการผสมผสานรูปแบบการทอผ้าของสหรัฐฯ กับศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองของไทย ซึ่งนางสาวอแมนด้าฯ ได้เดินทางไปศึกษาจากชุมชนทอผ้าในทุกภูมิภาคของไทยกว่า ๔๐ ชุมชน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าชิ้นนี้

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ