รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับรัฐมนตรีด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไทย สปป.ลาว และเมียนมาเปิดตัวแผนปฏิบัติการร่วมภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับรัฐมนตรีด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไทย สปป.ลาว และเมียนมาเปิดตัวแผนปฏิบัติการร่วมภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy)

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ต.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 ต.ค. 2567

| 4,681 view

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางบุนคำ วอละจิด รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว และนาย คิน หม่อง ยี รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเมียนมา ได้ร่วมกันเปิดตัวแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy) (2567-2573)

ในช่วงพิธีเปิดตัวแผนปฏิบัติการร่วมฯ ภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว และรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเมียนมา ได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลของทั้ง 3 ประเทศ ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันที่เป็นรูปธรรมและบูรณาการ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถึงบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศในการร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไทย สปป.ลาว และเมียนมา ดำเนินโครงการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะการเพิ่มสมรรถนะและการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนานวัตกรรม โดยร่างแผนปฏิบัติการร่วมฯ ได้กำหนดแผนงานความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างไทย สปป.ลาว และเมียนมาระหว่างปี 2567-2573 ซึ่งรวมถึงการกำหนดเป้าหมายลดจุดความร้อน การจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงการเกิดไฟไหม้ป่า การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสุขภาพต่อประชาชน การส่งเสริมความร่วมมือกับพันธมิตรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และการจัดตั้งสายด่วน (hotline) เพื่อประสานงานระหว่างทั้งสามประเทศ

ภายหลังพิธีเปิดตัวแผนปฏิบัติการร่วมฯ ผู้เชี่ยวชาญจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย จีน องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) และกรมควบคุมมลพิษ ได้ร่วมอภิปรายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีในงานสัมมนา แนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งได้หารือแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจา และองค์การระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ มีการจัดนิทรรศการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาฯ จากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ อาทิ กรมอาเซียน กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กรมควบคุมมลพิษ ADPC และ GIZ รวมถึง e-book เรื่อง “ในวันที่เรามีอากาศดี ๆ ไว้หายใจ” จากสำนักพิมพ์เมาท์เทนมายด์

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ