ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี ในการประชุม BRICS Plus High-level Dialogue on Global Development

ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี ในการประชุม BRICS Plus High-level Dialogue on Global Development

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 มิ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 มิ.ย. 2565

| 36,671 view

ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา (as delivered)

สำหรับการประชุม BRICS Plus High-level Dialogue on Global Development
วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๙.๐๐-๒๑.๐๐ น.
ผ่านระบบการประชุมทางไกล 

 

 

สวัสดีครับ

ท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

ท่านประธานาธิบดี ท่านนายกรัฐมนตรี

และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

 

  • ผมขอขอบคุณท่านประธานาธิบดีสี และรู้สึกยินดีเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุม BRICS Plus อีกครั้งหนึ่งในปีนี้นะครับ

 

  • ในนามของรัฐบาลไทย ผมขอชื่นชมจีนที่ได้สานต่อข้อริเริ่ม BRICS Plus และมุ่งร่วมมือกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศที่กำลังพัฒนาในห้วงเวลาแห่งความยากลำบากที่หลายประเทศประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำในการฟื้นตัวจากโควิด-๑๙ และยังต้องเผชิญกับภัยจากความไม่มั่นคงทางอาหาร วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาพลังงาน ปุ๋ย สินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง และภาวะความขัดแย้ง ซึ่งกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง

 

  • ในการประชุม BRICS และ BRICS Plus ในวันนี้นั้นมีผู้นำสำคัญของโลกหลายประเทศเข้าร่วม โดยเฉพาะ ๓ ท่านในที่นี้ก็คือ ท่านประธานาธิบดีสี ท่านประธานาธิบดีปูติน และท่านนายกรัฐมนตรีโมดีนะครับ ก็ให้ความหวังกับโลกถึงความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขวิกฤตดังกล่าวที่ผมได้กล่าวถึงแล้วนะครับโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมถึงการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน ซึ่งไทยได้มีข้อเสนอต่อประชาคมโลกเพื่อช่วยคลี่คลายความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านมนุษยธรรมเป็นพื้นฐาน

 

  • โลกของเรากำลังเผชิญกับ “วิกฤตซ้อนวิกฤต” อันเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศกำลังพัฒนาที่เปราะบางอยู่แล้ว ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่เราจะต้องร่วมมือกันเพื่อฝ่าฟันวิกฤตเหล่านี้ ท่ามกลางกระแสความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น การสร้างเสริม “ความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาระดับโลกในศักราชใหม่” เราควรจะมุ่งพลิกฟื้นระบบพหุภาคีให้ “เข้มแข็ง สมดุล และเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น”

 

  • ในการนี้ ผมขอแบ่งปัน ๓ แนวคิดที่ไทยเชื่อว่าจะช่วยให้กลุ่มประเทศ BRICS และประเทศกำลังพัฒนาสามารถจะร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเป็นหนทางไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพที่ตั้งอยู่บนสันติภาพ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข การเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ และหลักธรรมาภิบาล ดังนี้

 

  • ประการแรก เราต้องพลิกฟื้นระบบพหุภาคีทั้งกลุ่มใหญ่และย่อยให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และมีความร่วมมือซึ่งกันและกันในทางรูปธรรมมากขึ้นในทุกห่วงโซ่ ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะรับมือกับความท้าทายอุบัติใหม่ในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์

 

  • เพื่อฝ่าฟันวิกฤตอาหารโลก ทุกประเทศต้องหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการจำกัดการส่งออกอาหารที่ไม่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก และประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการเคลื่อนย้ายขนส่งอาหารและสินค้าจำเป็นอย่างไร้รอยต่อ เพื่อมิให้ประเทศต่าง ๆ ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารอันจะนำไปสู่ปัญหาที่จะตามมาอื่น ๆ เช่น ความไม่สงบ ความไม่มั่นคง และการไร้เสถียรภาพ

 

  • เราต้องพยายามที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานและเชื่อมโยงกัน เพื่อการนี้ ไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกันกับกลุ่มประเทศ BRICS ผ่านกลไกต่าง ๆ ตามความเหมาะสม เพื่อความมีประสิทธิภาพ เช่น ความร่วมมือในกรอบอาเซียน กรอบ ACMECS และข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางในการเรียกเพิ่มสัดส่วนการลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคต และเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล คมนาคม และพลังงานข้ามพรมแดนให้มีการทำงานสอดประสานกันมากยิ่งขึ้น

 

  • ประการที่สอง ไทยเชื่อมั่นว่า ระบบพหุภาคีต้องมีความสมดุลในทุกมิติ อย่างที่เราทราบกันดี วิกฤตราคาพลังงานในปัจจุบันทำให้เป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่เราประกาศที่เมืองกลาสโกว์เป็นไปได้ยากยิ่ง เว้นแต่เราจะร่วมมือกันผลักดันให้มีการปฏิรูประบบพหุภาคีและปรับกระบวนทัศน์ใหม่ ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาระดับโลกในการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐

 

  • ด้วยบริบทที่กล่าวมานี้นั้น ไทยมุ่งหวังผลักดันให้การเจริญเติบโตหลังโควิด-๑๙ มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น โดยปรับกรอบความคิดและพฤติกรรมไปสู่การดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ เปลี่ยนของเสียให้เป็นทรัพยากร และลงทุนด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ปลอดมลพิษ

 

  • สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า การที่ไทยหันเข้าหาโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อที่จะมุ่งไปสู่ “ความสมดุลของสรรพสิ่ง” และอนาคตที่ยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งมีองค์ประกอบร่วมกันกับข้อริเริ่มว่าด้วยการพัฒนาระดับโลกของจีนในหลายแง่มุม โดยไทยและจีนล้วนมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองที่มีคนเป็นศูนย์กลาง ลดความเหลื่อมล้ำ และรักษาสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

 

  • ผมหวังว่า การมีค่านิยมร่วมกันในเรื่องความเปิดกว้างและความครอบคลุมจะช่วยเกื้อกูลความร่วมมือใต้-ใต้และไตรภาคีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป เพื่อความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และการพัฒนาทักษะเตรียมความพร้อมสู่อนาคตสีเขียว โดยไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานของอาเซียนในเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน ยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์เพื่อสานต่อกิจกรรมต่าง ๆ ในด้านนี้ในปีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนอาเซียน-จีน พ.ศ. ๒๕๖๔-๒๕๖๕ ต่อไป

 

  • ประการสุดท้าย ระบบพหุภาคีจำเป็นต้องมีการสร้างระบบธรรมาภิบาลเศรษฐกิจโลกที่เป็นการสร้างโอกาสให้กับประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง ไม่สร้างความแตกแยก และส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

  • ในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยและวิกฤตหนี้สาธารณะ ไทยขอร่วมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนามีส่วนกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาคมากขึ้น ในโอกาสนี้ ผมขอชื่นชมกลุ่ม BRICS ที่มีบทบาทนำในการจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ ซึ่งก็เป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประเทศกำลังพัฒนา

 

  • ในขณะเดียวกัน วิกฤตนี้ก็ยังเป็นโอกาสให้เรากลับมาทบทวนดูว่าเราจะพึ่งพาตนเองมากขึ้นอย่างไรในการที่จะรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคตและความเปลี่ยนแปลงทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี อาทิ การที่เราจะใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขาย การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างกัน และการสร้างระบบภาษีที่เป็นธรรมยิ่งขึ้น ท่ามกลางการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่มากขึ้นทุกขณะ

 

ผู้มีเกียรติทุกท่านครับ

 

  • เมื่อเรามองไปข้างหน้า ไทยยินดีสนับสนุนข้อริเริ่มของจีนที่ให้มีการพัฒนากรอบความร่วมมือ BRICS Plus ระหว่างกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาอย่างเป็นทางการ เพื่อกระชับความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระดับโลกและสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลดความขัดแย้งระหว่างกัน ในฐานะเจ้าภาพเอเปคและประธานบิมสเทค ไทยพร้อมจะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมความร่วมมือระหว่างกันจากมหาสมุทรอินเดียไปสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของประชาชนและคนรุ่นหลัง

 

ขอบคุณครับ