ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศกล่าวปาฐกถาเปิดการสัมมนาวิชาการ “BIMSTEC: The Way Ahead” ณ อินเดีย

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศกล่าวปาฐกถาเปิดการสัมมนาวิชาการ “BIMSTEC: The Way Ahead” ณ อินเดีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 มิ.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 มิ.ย. 2566

| 16,555 view

เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๖ นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนาวิชาการหัวข้อ “BIMSTEC: The Way Ahead” (“หนทางในอนาคตของบิมสเทค”) ซึ่งจัดโดย India Foundation ณ India Habitat Centre กรุงนิวเดลี อินเดีย ภายหลังจากการเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุม BIMSTEC Business Conclave 2023 ณ เมืองกัลกัตตา ที่ผ่านมา

ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้แสดงความคิดเห็นว่าบิมสเทคถือเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ด้วยจำนวนประชากรที่รวมกันกว่า ๑.๘ พันล้านคน หรือร้อยละ ๒๓ ของประชากรโลก และยังมี GDP รวมกันกว่า ๓.๖ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะมีความสำคัญยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อปี ๒๕๖๕ ได้มีการรับรองกฎบัตรบิมสเทค (BIMSTEC Charter) โดยผู้นำของประเทศสมาชิกและมีผลบังคับใช้ ทำให้บิมสเทคก้าวไปสู่การเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเต็มตัวและมีความพร้อมที่จะตอบสนองต่อความท้าทายในโลกปัจจุบัน

ไทยจึงมีข้อเสนอ ๓ ประการ เพื่อให้บิมสเทคสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ ที่กรอบความร่วมมือพหุภาคีทั่วโลกล้วนต้องเผชิญเนื่องจากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ได้แก่

๑. การสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยไทยในฐานะประเทศนำ (Lead Country) สาขาความเชื่อมโยงของบิมสเทค พร้อมที่จะผลักดันความเชื่อมโยงในทุกมิติร่วมกับทุกประเทศสมาชิก และเร่งการปฏิบัติตามแผนแม่บทว่าด้วยการคมนาคมของบิมสเทค และการสรุปความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล

๒. การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มากขึ้น โดยไทยเสนอให้มีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของกลุ่มภาคเอกชนของทุกประเทศสมาชิกในกระบวนการต่าง ๆ ของบิมสเทค และเสนอให้มีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจบิมสเทค เพื่อเป็นเวทีให้กับผู้แทนจากภาคเอกชนจากรัฐสมาชิกบิมสเทคได้มีปฏิสัมพันธ์กัน

๓. การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันของบิมสเทคในภาพรวม ประกอบด้วยการจัดทำกฎระเบียบสำหรับกลไกการดำเนินงานภายใต้กรอบบิมสเทค ซึ่งจะช่วยทำให้บิมสเทคสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับสร้างพันธมิตรกับภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการดำเนินการตามวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ ๒๐๓๐ (BIMSTEC Bangkok Vision 2030) เพื่อขับเคลื่อนบิมสเทคสู่ภูมิภาคที่ “มั่งคั่ง (Prosperous) ยั่งยืน ฟื้นคืน (Resilient) และ เปิดกว้าง (Open)” ตามแนวคิดหลักเรื่อง “PRO BIMSTEC” ภายใต้การเป็นประธานบิมสเทคของไทย

นอกจากการแสดงปาฐกถาของผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ แล้ว ยังมีผู้แทนภาครัฐและวิชาการด้านบิมสเทคเข้าร่วมเป็นวิทยากรแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับหัวข้อการปาฐกถาด้วย ได้แก่ พลเรือโท Shekhar Sinha ประธานกรรมการบอร์ดของ India Foundation นาย Saurabh Kumar ปลัดกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ฝ่ายกิจการตะวันออก นาง Preeti Saran อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ฝ่ายกิจการตะวันออก และนาย Mohammad Mustafizur Rahman ข้าหลวงใหญ่บังกลาเทศประจำอินเดีย

อนึ่ง การจัดปาฐกถาดังกล่าวเป็นข้อริเริ่มของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ร่วมกับ India Foundation เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ BIMSTEC รวมถึงนโยบายและบทบาทของไทยต่อ BIMSTEC ในช่วงการเป็นประธาน BIMSTEC ในปี ๒๕๖๕-๖๖ สำหรับผู้สนใจจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการของอินเดีย และคณะทูตานุทูตในกรุงนิวเดลี

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ