ไทยรับตำแหน่งประธานบิมสเทค วาระปี ๒๕๖๕ - ๒๕๖๖ พร้อมนำอนุภูมิภาคเบงกอลสู่ความมั่งคั่ง ยั่งยืน และเปิดกว้างสู่โอกาส

ไทยรับตำแหน่งประธานบิมสเทค วาระปี ๒๕๖๕ - ๒๕๖๖ พร้อมนำอนุภูมิภาคเบงกอลสู่ความมั่งคั่ง ยั่งยืน และเปิดกว้างสู่โอกาส

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 มี.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 มี.ค. 2565

| 5,948 view

เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๕ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (บิมสเทค) ครั้งที่ ๕ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยได้รับมอบตำแหน่งประธานบิมสเทคต่อจากศรีลังกา พร้อมมุ่งสานต่อความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคหลังโควิด-๑๙ และส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ทั่วถึงและยั่งยืน

ผู้นำของประเทศสมาชิกบิมสเทค ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย ได้ร่วมมือกันยกระดับความร่วมมือของกรอบความร่วมมือบิมสเทคไปอีกขั้นด้วยการลงนามกฎบัตรบิมสเทค (BIMSTEC Charter) ยกระดับเป็นองค์การระหว่างประเทศในระดับรัฐบาล (Inter-governmental organization) อันจะช่วยส่งเสริมให้
อนุภูมิภาคมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้นำฯ ยังได้รับรองเอกสารผลลัพธ์สำคัญต่าง ๆ อีกหลายฉบับ รวมถึงแผนแม่บทความเชื่อมโยงด้านการคมนาคม ซึ่งริเริ่มโดยไทยในระหว่างการประชุม
ผู้นำฯ ครั้งที่ ๔ เมื่อปี ๒๕๖๑ ที่เนปาล

ที่ประชุมผู้นำฯ ได้เปิดโอกาสให้ไทยในฐานะประเทศนำ (Lead Country) ด้านความเชื่อมโยงมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับเอเชียใต้ผ่านโครงการพัฒนาต่าง ๆ และเน้นย้ำถึงบทบาทของไทยในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคม ขนส่ง และเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างสองมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก

บิมสเทคเป็นหนึ่งในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดของโลกในเชิงจำนวนประชากร ขนาดและศักยภาพทางเศรษฐกิจ ภูมิภาคอ่าวเบงกอลกำลังมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในแง่ยุทธศาสตร์ เศรษฐกิจและการค้า ในขณะที่ยังคงเป็นพื้นที่แห่งสันติภาพ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเรื่อยมานับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งที่กรุงเทพฯ ในปี ค.ศ. ๑๙๙๗

ในฐานะประธานบิมสเทคไทยมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับประเทศสมาชิกอย่างใกล้ชิดเพื่อมุ่งให้อนุภูมิภาคอ่าวเบงกอลมีความมั่งคั่ง ยั่งยืน และเปิดกว้างสู่โอกาส (Prosperous, Resilient and Robust, Open BIMSTEC) หรือ “PRO BIMSTEC” ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ในการเป็นประธานของไทยที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ในการประชุมระดับผู้นำฯ
ขณะเดียวกัน ไทยมุ่งใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวคิดหลักเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในแต่ละสาขา

ช่วงการรับตำแหน่งประธานบิมสเทคของไทย เป็นช่วงเดียวกับที่ไทยกำลังดำรงตำแหน่งเจ้าภาพการประชุมเอเปคส่งผลให้ไทยอยู่ในฐานะผู้นำที่ควบคุมทิศทางของกรอบ
ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองกรอบที่ครอบคลุม GDP กว่าร้อยละ ๗๐ ของ GDP โลก ซึ่งไทยยึดมั่นที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อทำให้เศรษฐกิจของอนุภูมิภาค
อ่าวเบงกอลกลับมาเข้มแข็งอีกครั้งหลังการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ รวมทั้งเชื่อมโยงเศรษฐกิจ เชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน ส่งเสริมการพัฒนาอย่างทั่วถึงและยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของประชาชนของภูมิภาคของเราและโลกต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ