วันครบรอบการก่อกำเนิดของกรอบความร่วมมือเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting: ASEM)

วันครบรอบการก่อกำเนิดของกรอบความร่วมมือเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting: ASEM)

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 มี.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,943 view

ASEM Day ตรงกับวันที่ ๑ มีนาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันครบรอบการก่อกำเนิดของกรอบความร่วมมือเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting: ASEM) เมื่อ ๒๖ ปีที่แล้วที่กรุงเทพฯ โดยไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 1 (The 1st ASEM Summit: ASEM 1) ในวันที่ ๑-๒ มีนาคม ๒๕๓๙ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้หัวข้อการประชุม “New Comprehensive Asia-Europe Partnership for Greater Growth" ซึ่งได้วางกรอบความร่วมมือระหว่างสองภูมิภาคทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยผู้นำจากประเทศสมาชิก ๒๕ ประเทศจากทั้งสองภูมิภาคได้เข้าร่วมการประชุมฯ และได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ด้วย (ข้อมูลการประชุม ASEM 1 ตามเว็บไซต์ https://bit.ly/3LTMEBw )

ปัจจุบัน ASEM มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นจากช่วงการก่อตั้งเกินหนึ่งเท่าตัว โดยปัจจุบันประกอบด้วย ๕๑ ประเทศ และ ๒ องค์กร ดังนี้ (๑) กลุ่มยุโรป ๓๐ ประเทศ ได้แก่ ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ๒๗ ประเทศ สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ และนอร์เวย์ (๒) กลุ่มเอเชีย ๒๑ ประเทศ ได้แก่ กลุ่มอาเซียน ๑๐ ประเทศ และกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียใต้ (NESA) ๑๑ ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มองโกเลีย อินเดีย ปากีสถาน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเชีย บังกลาเทศ และคาซัคสถาน ตลอดจน (๓) องค์กรระดับภูมิภาค ๒ องค์กร ได้แก่ สหภาพยุโรปและสำนักเลขาธิการอาเซียน

การประชุมผู้นำ ASEM จัดขึ้นเป็นประจำทุก ๒ ปี โดยครั้งล่าสุด เป็นการประชุมครั้งที่ ๑๓ (ASEM 13) ในวันที่ ๒๕-๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีกัมพูชาเป็นเจ้าภาพการประชุม และนายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุม ASEM 13 ด้วย

ความร่วมมือในกรอบ ASEM มีความก้าวหน้าจากเมื่อ ๒๖ ปีที่แล้วเป็นอย่างมาก โดยเน้นปรับเปลี่ยนความร่วมมือเพื่อให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ในแต่ละยุค เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนในประเทศสมาชิก ASEM ให้มากที่สุด โดยการประชุมครั้งล่าสุดเน้นสร้างประโยชน์แก่ประชาชนใน ๓ ประการหลัก ได้แก่ (๑) การฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิด-๑๙ ที่ทั่วถึงและยั่งยืน การใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัล (๒) การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างสองภูมิภาค โดยเน้นการเชื่อมโยงในระดับประชาชนซึ่งสามารถสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวระหว่างสองภูมิภาค (๓) การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปรับตัวเข้าสู่ยุค Next Normal เช่น การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนนักเรียนเสมือนจริงผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวอย่างของการสนับสนุนการปรับตัวฯ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ