รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศสนับสนุนการฟื้นฟูที่เข้มแข็งและยั่งยืนในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-แคนาดา ครั้งที่ ๑๘

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศสนับสนุนการฟื้นฟูที่เข้มแข็งและยั่งยืนในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-แคนาดา ครั้งที่ ๑๘

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ก.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 6,132 view

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-แคนาดา ครั้งที่ ๑๘ หารือส่งเสริมความสัมพันธ์อาเซียน-แคนาดา เน้นความร่วมมือในการฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ ความร่วมมือการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ การค้าการลงทุน การพัฒนา MSMEs การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค การพัฒนาที่ยั่งยืน การศึกษา และความเท่าเทียมระหว่างเพศและสิทธิสตรี

เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔ นายชุตินทร คงศักดิ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-แคนาดา ครั้งที่ ๑๘ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนาย Aung Myo Myint เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรเมียนมาประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา (ในฐานะที่เมียนมาเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-แคนาดา) และนาย Paul Thoppil, Assistant Deputy Minister ฝ่ายกิจการเอเชียแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศแคนาดา เป็นประธานร่วม และมีเจ้าหน้าที่อาวุโส/ผู้แทน จากประเทศสมาชิกอาเซียน และรองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนเข้าร่วมด้วย

ที่ประชุมฯ หารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความสัมพันธ์อาเซียน-แคนาดาในทุกมิติ โดยเฉพาะความร่วมมือในการฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ ซึ่งแคนาดาจะสนับสนุนเงินจำนวน ๓.๕ ล้านดอลลาร์แคนาดา (ประมาณ ๙๒ ล้านบาท) ให้แก่กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้เน้นย้ำความร่วมมือในด้านอื่น ๆ อาทิ การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ การค้าการลงทุน การพัฒนา MSMEs การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคการพัฒนาที่ยั่งยืน การศึกษา และความเท่าเทียมระหว่างเพศและสิทธิสตรี ทั้งนี้ แคนาดาได้ใช้โอกาสนี้ ย้ำความสำคัญของการเริ่มกระบวนการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดาโดยเร็วเพื่อปูทางไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างสองฝ่าย

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศเน้นย้ำว่า อาเซียนและแคนาดาจะต้องร่วมกันส่งเสริมความเชื่อมั่น และความไว้วางใจซึ่งกันและกันในภูมิภาค เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่เอื้อต่อการฟื้นฟูที่เข้มแข็งและยั่งยืน โดยเสนอแนวทางความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย ได้แก่ (๑) การพัฒนาขีดความสามารถด้านดิจิทัลของผู้ประกอบการ MSMEs โดยใช้กลไกของโครงการ Canada-OECD Project for ASEAN SMEs (COPAS) (๒) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเสนอโมเดล BCG เป็นแนวทางการดำเนินการ และศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเวทีขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกัน และ (๓) การส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยเน้นเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการสตรี และความร่วมมือเพื่อสนับสนุนวาระสตรี สันติภาพ และความมั่นคง

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยย้ำความสำคัญของการส่งเสริมระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนกฎกติกา และการสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ