วันที่นำเข้าข้อมูล 2 มี.ค. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
ไทย อินโดนีเซียและแคนาดาร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ASEAN Regional Forum (ARF) Workshop on Women, Peace and Security ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อขับเคลื่อนพันธกรณีการปฏิบัติตามวาระสตรี สันติภาพ และความมั่นคง ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยย้ำการเชื่อมโยงกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ เน้นความเป็นหุ้นส่วนกับภาคส่วนต่าง ๆ และการเสริมสร้างขีดความสามารถ
เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๔ นางสาวอุศณา พีรานนท์ อธิบดีกรมอาเซียน กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยเน้นย้ำพันธกรณีและความมุ่งมั่นของไทยในการปฏิบัติตามวาระสตรี สันติภาพ และความมั่นคง (Women, Peace and Security agenda – WPS agenda) ได้แก่ มาตรการและแนวทางปฏิบัติด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพความมั่นคง ซึ่งเทียบเท่ากับแผนปฏิบัติการระดับชาติ และการแต่งตั้งผู้แทนสตรีไทย ๓ ท่าน ในทำเนียบสตรีอาเซียนเพื่อสันติภาพ (ASEAN Women for Peace Registry: AWPR) นอกจากนี้ ยังได้เสนอแนะแนวทางที่ ARF สามารถช่วยขับเคลื่อนการปฏิบัติตาม WPS agenda ๓ ประการ ประกอบด้วย ประการแรก การเชื่อมโยงประเด็น WPS agenda กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ โดยเฉพาะเป้าหมายที่ ๕ ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) และเป้าหมายที่ ๑๖ สันติภาพ ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง (Peace, Justice and Strong Institutions) ประการที่สอง การเพิ่มพูนความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนกับสหประชาชาติ องค์กรระดับภูมิภาค รัฐบาลและภาคประชาสังคม และประการสุดท้าย การกล่าวถึงประเด็นท้าทายและการเสริมสร้างขีดความสามารถในด้านการเก็บรวบรวมข้อมูลเพศภาวะ การจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติและระดับภูมิภาค และการมีปฏิสัมพันธ์กับภาคประชาสังคม
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญในประเด็นสตรีจากหลากหลายสาขาอาชีพ รวมถึงผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children) และเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ กรมยุทธการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เข้าร่วมอภิปรายเพื่อร่วมนำเสนอมุมมอง ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการขับเคลื่อน WPS agenda ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในโอกาสนี้ ผู้แทนไทยได้ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการใน ๒ วาระการประชุม ได้แก่ วาระที่ ๑ หัวข้อ “Women, Peace and Security agenda and the ARF” โดยนางนงนุช เพชรรัตน์ ผู้แทนไทยในทำเนียบสตรีอาเซียนเพื่อสันติภาพ (ASEAN Women for Peace Registry: AWPR) และอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน และกรุงเวียนนา และวาระที่ ๒ หัวข้อ “Models for Regional Approaches to WPS” โดยนางสาวภาสพร สังฆสุบรรณ์ ผู้แทนไทยใน Advisory Board ของสถาบันอาเซียนเพื่อสันติภาพและความสมานฉันท์ (ASEAN Institute for Peace and Reconciliation: ASEAN-IPR) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงปราก
ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับแนวโน้มในอนาคต ซึ่งรวมถึงนัยผลกระทบของโควิด-๑๙ ประเด็นความท้าทายใหม่ ๆ แนวทางขับเคลื่อน WPS agenda ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตลอดจนการดำเนินงานของ ARF เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตาม WPS agenda อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ประชุมได้เน้นย้ำการยึดมั่นต่อพันธกรณีตามที่ระบุในข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ ๑๓๒๕ เรื่อง สตรี สันติภาพ และความมั่นคง และ Joint Statement on Promoting Women, Peace and Security in ASEAN ที่รับรองในปี ๒๕๖๐ และ Joint Statement on Promoting the Women, Peace and Security at the ASEAN Regional Forum ที่รับรองในปี ๒๕๖๒ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเน้นย้ำความสำคัญของการแลกเปลี่ยนข้อมูลจำแนกเพศและการวิเคราะห์เพศภาวะ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการผนวก WPS agenda ในกิจกรรมและข้อริเริ่มของ ARF ตลอดจนการสร้างขีดความสามารถให้เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพสตรี และการเพิ่มความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงภาคประชาสังคม
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **