ปลัดกระทรวงการต่างประเทศร่วมประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF)

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศร่วมประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF)

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 มิ.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 มิ.ย. 2566

| 6,324 view

เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๖ นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ARF SOM) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนาย Sidharto Reza Suryodipuro อธิบดีกรมอาเซียนและเจ้าหน้าที่อาวุโส ARF ของอินโดนีเซีย เป็นประธานการประชุม และมีเจ้าหน้าที่อาวุโสของสมาชิก ARF อื่น ๆ เข้าร่วมด้วย

ที่ประชุมได้ทบทวนความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฮานอย ๒ (พ.ศ. ๒๕๖๓ - ๒๕๖๘) และหารือรายการกิจกรรมที่เป็นทางการ (Track 1) และการเป็นประธานร่วมการประชุมและกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับสมัยประชุมปี พ.ศ. ๒๕๖๖ - ๒๕๖๗ ในโอกาสนี้ ไทยแสดงความห่วงกังวลต่อการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้นและเน้นย้ำบทบาทที่สำคัญของการประชุม ARF ในการเป็นเวทีเอื้อต่อการหารือประเด็นทางการเมืองและความมั่นคงอย่างเปิดกว้างและตรงไปตรงมา และในประธานร่วมของการประชุมระหว่างปีว่าด้วยการลดและไม่แพร่ขยายอาวุธ ร่วมกับสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ไทยเน้นย้ำที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีอย่างเคร่งครัดและร่วมมือกับรัฐภาคอื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์และสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ และเรียกร้องให้ประเทศผู้ถือครองอาวุธนิวเคลียร์ร่วมหารือกับอาเซียนเพื่อลงนามในพิธีสารแนบท้ายสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ ไทยจะเป็นประธานร่วมในอีกหลายกิจกรรมอันเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมมาตรการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในห้วงปี พ.ศ. ๒๕๖๖ - ๒๕๖๗ ได้แก่ การประชุมสัมมนา ARF ว่าด้วยขยะทะเล ร่วมกับสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน การฝึกอบรม ARF ว่าด้วยการสร้างเสริมศักยภาพความปลอดภัยของเรือโดยสาร ครั้งที่ ๒ ร่วมกับจีน การประชุมเชิงปฏิบัติการ ARF ว่าด้วยการต่อต้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อจุดประสงค์ในการก่ออาชญากรรม ร่วมกับสหพันธรัฐรัสเซียและจีนและการประชุมเชิงปฏิบัติการ ARF ว่าด้วยความปลอดภัยของเรือโดยสาร ครั้งที่ ๔ และการประชุมเชิงปฏิบัติการ ARF ว่าด้วยการสำรวจระดับชาติในการดำเนินการตามข้อแนะนำของสหประชาชาติ ในประเด็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของรัฐอย่างมีความรับผิดชอบ ในบริบทของความมั่นคงระหว่างประเทศ ร่วมกับมาเลเซีย สิงคโปร์ และออสเตรเลีย

ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงความมั่นคงไซเบอร์ การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดและไม่แพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง และพัฒนาการในทะเลจีนใต้ สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี สถานการณ์ในยูเครน และสถานการณ์ในเมียนมา

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ