ไทยมุ่งเพิ่มขีดความสามารถ MSMEs ในเอเปคด้วยการลดขยะในภาคธุรกิจอาหาร

ไทยมุ่งเพิ่มขีดความสามารถ MSMEs ในเอเปคด้วยการลดขยะในภาคธุรกิจอาหาร

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ม.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,055 view

กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคของไทย (APEC Business Advisory Council - ABAC) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ MSMEs เพื่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ครอบคลุมและยั่งยืน: การลดขยะภาคอาหารในห่วงโซ่อุปทาน” ระหว่างวันที่ ๑๓ - ๑๔ มกราคม ๒๕๖๕ ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ และผ่านระบบการประชุมทางไกล

นายชุตินทร คงศักดิ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมกล่าวเปิดงาน และมีผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการขยะอาหารจากเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ร่วมแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการส่งเสริมการลดขยะภาคอาหารในห่วงโซ่อุปทานของ MSMEs ไปจนถึงโมเดลธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและดิจิทัลโซลูชั่นเพื่อลดขยะอาหารและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยการประชุมนี้สอดรับกับแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy - BCG) ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญในการขับเคลื่อนเอเปค ๒๕๖๕ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ

แนวคิดสำคัญที่ได้จากการประชุมฯ ได้แก่ (๑) ความท้าทายหลักสำหรับ MSMEs ในการการลดขยะอาหารซึ่งเป็นต้นทุนและข้อจำกัดด้านศักยภาพ กุญแจสำคัญคือความร่วมมือแบบหุ้นส่วนภาครัฐและเอกชน การมีแพลตฟอร์มในระดับภูมิภาคเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างศักยภาพ และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่และดิจิทัลโซลูชั่น อาทิ แอพพลิเคชั่นเพื่อการแบ่งปันอาหาร ถังขยะอัจฉริยะเพื่อแยกขยะ และเทคโนโลยีที่ช่วยติดตามข้อมูลการสูญเสียอาหารในร้านอาหารเพื่อสร้างความตระหนักรู้และลดการสร้างขยะอาหาร เป็นต้น (๒) การลดขยะอาหารอาศัยความร่วมมือแบบองค์รวมจากทุกภาคส่วนในห่วงโซ่มูลค่า โดยให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นต่อการป้องกันการสร้างขยะกว่าการจัดการขยะและฟื้นฟู (๓) การใช้ประโยชน์จากอาหารอย่างเต็มศักยภาพและแปลงขยะให้มีมูลค่าถือเป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน และแนวคิดนี้สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG

กระทรวงการต่างประเทศจะนำข้อเสนอต่าง ๆ ไปจัดทำเป็นคู่มือเรื่องการลดขยะภาคอาหารของ MSMEs เพื่อความครอบคลุมและยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งจะสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ทางการของเอเปค (www.apec.org) ในช่วงไตรมาสที่ ๓ ของปี ๒๕๖๕ ต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ