อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโสเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ของไทยได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ (APEC SOM2/2021) ผ่านระบบทางไกล ภายใต้ปีเจ้าภาพของนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ ๒-๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ เพื่อร่วมผลักดันการค้าและการส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ พร้อมทั้งย้ำความสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและธุรกิจ
นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคของไทย ได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ (APEC SOM2/2021) ผ่านระบบทางไกล เมื่อวันที่ ๒-๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่เอเปคให้ความสำคัญ ๓ ประการ ได้แก่ (๑) การรับมือกับโควิด-๑๙ ผ่านความร่วมมือทางการค้าการลงทุน อาทิ การขจัดอุปสรรคทางการค้า การประสานนโยบายและกฎระเบียบ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีน ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพและราคาย่อมเยา (๒) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมส่งเสริมเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่น รวมถึงปรับปรุงโครงสร้างให้ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดย่อม (MSMEs) สตรี และสตาร์ทอัพสามารถเติบโตและเข้าถึงตลาดโลก และ (๓) การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยเฉพาะการค้าและการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน
ในการประชุมดังกล่าว อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้ย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council หรือ ABAC) ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการวางนโยบายที่ตอบสนองและตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจ เพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการเดินทางและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของไทยและอีกหลายเขตเศรษฐกิจ โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญของความร่วมมือในปีนี้คือ การหารือโต๊ะกลมเพื่อการเดินทางในเอเปคอย่างปลอดภัยที่ไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับนิวซีแลนด์และมาเลเซีย เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ที่ผ่านมา และมอบหมายให้คณะทำงานที่เกี่ยวข้องของเอเปคเร่งหาแนวทางอำนวยความสะดวกการเดินทาง โดยเฉพาะลูกเรือและผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่จำเป็นบนพื้นฐานของความปลอดภัยและสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ไม่แน่นอน และต่อยอดจากแนวปฏิบัติหรือมาตรการขององค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญอื่น ๆ ที่สมาชิกเอเปคหารือกัน ได้แก่ การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีและการเสริมสร้างองค์การการค้าโลก (WTO) ให้เข้มแข็งและน่าเชื่อถือ การปรับปรุงโครงสร้างทั้งทางกายภาพและกฎระเบียบเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล การเข้าถึงเงินทุนและโอกาสของ MSMEs และสตาร์ทอัพ โลกของการทำงานยุคใหม่ อาทิ การทำงานรับจ้างอิสระ (gig economy) รวมถึงรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจสีเขียว และการพัฒนาระบบการเกษตรและอาหารอย่างเป็นองค์รวม ทั้งนี้ ไทยได้นำเสนอแนวคิด “เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว” (Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG) ซึ่งสามารถเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคและตอบโจทย์การบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ของสหประชาชาติ (UN 2030 Agenda on Sustainable Development) รวมถึงได้เสนอให้เอเปคพิจารณาจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนประเด็นเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ เพื่อให้การทำงานมีบูรณาการและเกิดผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยไทยจะสานต่อประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมต่อไปในการเป็นเจ้าภาพเอเปค
ปี ๒๕๖๕
ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงบางตัวอย่างของสิ่งที่เอเปคร่วมกันขับเคลื่อน ผู้ที่สนใจรับทราบรายละเอียดและความคืบหน้าความร่วมมือการค้าและการลงทุนสามารถติดตามผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ ทาง www.apec.org หรือ www.apec2021nz.org