การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (APEC Second Senior Officials’ Meeting – SOM2 and Related Meetings) ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๕

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (APEC Second Senior Officials’ Meeting – SOM2 and Related Meetings) ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 พ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 พ.ค. 2565

| 2,887 view

ไทยจะจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง แบบพบหน้ากัน ระหว่างวันที่ ๙-๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ เพื่อสานต่อเป้าหมายการเป็นเจ้าภาพเอเปค ๒๕๖๕ ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance.” ที่เน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกยุคหลังโควิด-๑๙ ให้มีการค้าการลงทุนที่เปิดกว้าง เสรี และมีพลวัต มีความเชื่อมโยงที่สะดวกและปลอดภัย และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG เพื่อพร้อมรับมือสถานการณ์ความผันผวนต่าง ๆ ในโลก

ในห้วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ จะมีการประชุมคณะทำงานกลุ่มต่าง ๆ ครอบคลุมการหารือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การลดช่องว่างทางดิจิทัล การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ไปจนถึงการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อขับเคลื่อนผลลัพธ์ภายใต้หัวข้อหลักของไทย รวมกว่า ๒๐ การประชุม โดยในชั้นนี้ คาดว่าจะมีผู้แทนเขตเศรษฐกิจเอเปคเดินทางเข้าร่วมประชุมประมาณ ๒๕๐ คน และเข้าร่วมการประชุมผ่านระบบออนไลน์กว่า ๒๐๐ คน ผลลัพธ์ที่สำคัญของการประชุมครั้งนี้คือการสานต่อการผลักดันเป้าหมายหลัก ๓ ข้อที่ไทยประกาศไว้นับตั้งแต่การรับตำแหน่งเจ้าภาพฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ ซึ่งประกอบด้วย

๑. การขับเคลื่อนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP) ในยุคหลังโควิด-๑๙ เพื่อวางเป้าหมายให้ FTAAP ที่จะถูกพัฒนาขึ้นในอนาคตมีสาระครอบคลุม ประเด็นใหม่ ๆ เท่าทันสภาวการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้การค้าการลงทุนในอนาคตเข้มแข็ง ครอบคลุม และปรับตัวได้ดี การประชุมครั้งนี้จะปูทางไปสู่การหารือระดับรัฐมนตรีการค้าเอเปค และการประชุมร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีการค้าฯ กับผู้นำภาคธุรกิจจากกลุ่มสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ซึ่งจะจัดขึ้นต่อเนื่องกันระหว่างวันที่ ๒๑-๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ โดยเอกสารผลลัพธ์จากการประชุมระดับรัฐมนตรีนี้จะถือเป็นผลลัพธ์ (key deliverable) แรกที่ไทยผลักดันสำเร็จในฐานะเจ้าภาพเอเปค

๒. การส่งเสริมการเดินทางข้ามแดนที่สะดวกและปลอดภัย โดยไทยจะมีบทบาทนำในการเตรียมความพร้อมระบบฐานข้อมูลเอเปค (APEC Portal) ที่รวบรวมมาตรการการเดินทางข้ามแดนในภูมิภาคฯ และการเชื่อมโยงระบบตรวจสอบใบรับรองฉีดวัคซีนเพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางข้ามพรมแดนในเอเปค โดยจะเร่งรัดให้ระบบทั้งสองพร้อมใช้งานภายในเดือนสิงหาคมศกนี้ ทั้งนี้ไทยจะจัดการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่ออำนวยความสะดวกและรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ หรือ APEC Safe Passage Taskforce ครั้งที่ ๒ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ และเสนอให้เจ้าหน้าที่อาวุโสและรัฐมนตรีการค้าเอเปครับรองแผนงานต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะทำงานฯ จะเดินหน้าจัดทำข้อเสนอแนะการขยายกลุ่มผู้ใช้งานบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card: ABTC) ให้ครอบคลุมผู้ประกอบการ MSMEs และกลุ่มผู้บริหารระดับกลางมากขึ้นด้วย

๓. การนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG มาเร่งกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเอเปค โดยสานต่อการจัดทำเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้ชื่อ “Bangkok Goals on BCG Economy” เพื่อให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปครับรองในห้วงการประชุมผู้นำฯ ซึ่งจะจัดขึ้นกรุงเทพฯ ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๕ กระบวนการที่สำคัญในห้วงการประชุมนี้คือการจัดประชุมพิจารณาร่างเอกสาร Bangkok Goals เป็นการเฉพาะ เพื่อให้เจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคได้ร่วมกันหารือและวางเป้าหมายที่สำคัญของเอกสาร ซึ่งในชั้นนี้ประกอบการด้วยการจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน การบริหารจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการลดและบริหารจัดการของเสีย ซึ่งกระบวนการนี้จะยังดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงช่วงปลายปี  

การทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ ของไทยได้ดำเนินมาถึงครึ่งทางแล้ว การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ จึงเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ไทยในฐานะเจ้าภาพฯ กำลังขับเคลื่อนผลลัพธ์ตามแผนงาน ซึ่งไม่ใช่เพียงการรับมือและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-๑๙ เท่านั้น แต่ยังนำบริบทวิกฤตเศรษฐกิจระลอกใหม่จากสถานการณ์ในยูเครนมาเป็นหนึ่งในประเด็นสนทนา เพื่อให้ผลลัพธ์จากการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยครั้งนี้มีพลวัต เท่าทันความเปลี่ยนแปลง และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยและเอเปค อย่างแท้จริง