ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งสุดท้าย ระหว่างวันที่ ๑๕ - ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งสุดท้าย ระหว่างวันที่ ๑๕ - ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 16 พ.ย. 2565

| 10,966 view

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งสุดท้ายจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๕-๑๖ พฤศจิกายน ถือเป็นการเริ่มต้นสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคอย่างเป็นทางการ หัวใจของการประชุมนี้คือการสรุปผลการทำงานของเอเปคที่ผ่านมาตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ไทยจัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคมาแล้ว ๔ ครั้ง ครอบคลุมการทำงานของคณะต่าง ๆ เกือบ ๔๐ กลุ่ม และการประชุมระดับรัฐมนตรีในสาขาความร่วมมือต่าง ๆ อีก ๘ ครั้ง เพื่อขับเคลื่อนการทำงานภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” เตรียมพร้อมสู่การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในวันที่ ๑๘-๑๙ พฤศจิกายนนี้

เจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคร่วมกันหาบทสรุปใน ๓ ประเด็นสำคัญที่ไทยผลักดัน คือ การส่งเสริมการเปิดโอกาสด้านการค้าการลงทุน การส่งเสริมความเชื่อมโยง และการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน โดยมีแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เป็นตัวขับเคลื่อน

ในด้านการเปิดโอกาสการค้าการลงทุน เอเปคจัดทำแผนงานหลายปีที่จะช่วยสานต่อการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP ในบริบทหลังโควิด-๑๙ ในระยะยาว ซึ่งจะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถของเขตเศรษฐกิจในประเด็นการค้าการลงทุนใหม่ ๆ และลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างกัน

ในด้านการส่งเสริมความเชื่อมโยง ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคได้ทำงานร่วมกับคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อการเดินทางที่ปลอดภัย (Safe Passage Taskforce) มาตลอดทั้งปีเพื่อสร้างกลไกการอำนวยความสะดวก  การเดินทางข้ามพรมแดนในยุคปัจจุบัน โดยในที่ประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันรับรองข้อเสนอแนะจากคณะทำงานฯ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับกรณีเกิดการแพร่ระบาดในอนาคต นอกจากนี้ ยังรับรองรายงานผลการดำเนินการตามแผนแม่บทด้านอินเตอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัล และรายงานนโยบายเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี ๒๕๖๕ เรื่องการปฏิรูปเชิงโครงสร้างและการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบรุนแรงอย่างยั่งยืนด้วย

ในด้านการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน ไทยได้ผลักดันการจัดทำเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG มาตั้งแต่ต้นปีเพื่อนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG มาขับเคลื่อนการทำงานเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งในครั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบสถานะล่าสุดของเอกสารดังกล่าวที่ทุกเขตเศรษฐกิจสามารถตกลงกันได้แล้ว โดยจะส่งต่อเอกสารนี้ให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปครับทราบ และส่งต่อให้ที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๙ รับรองในวันที่ ๑๙ พฤศจิกายนนี้

กลไกการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนงานของเอเปคในแต่ละปี ซึ่งภารกิจของเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคในปีนี้ได้จบลงอย่างประสบความสำเร็จ พร้อมส่งไม้ต่อให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคและที่ประชุมผู้นำฯ รับรองเป้าหมายและแนวทางการทำงานต่าง ๆ เพื่อกำหนดให้เป็นนโยบายและทิศทางการทำงานของเอเปคต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ