การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๓ และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ณ นครซานฟรานซิสโก

การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๓ และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ณ นครซานฟรานซิสโก

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 พ.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 พ.ย. 2566

| 5,402 view

ในห้วงสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค สหรัฐฯ ได้เป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๓ และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีนาย Antony J. Blinken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และนาง Katherine Tai ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เป็นประธานร่วม และในส่วนของไทย มีนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุม

การประชุมประสบความสำเร็จด้วยดี โดยบรรลุเอกสารผลลัพธ์เป็นถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๓ โดยฉันทามติ และตลอดระยะเวลา ๒ วัน รัฐมนตรีเอเปคได้แสดงวิสัยทัศน์ใน ๒ ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การสร้างสภาพแวดล้อมที่มีนวัตกรรมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและครอบคลุมสำหรับทุกคน และการสร้างภูมิภาคที่ยืดหยุ่นและครอบคลุมเพื่อส่งเสริมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในวงกว้าง ซึ่งในส่วนของไทยได้เน้น (๑) ความเร่งด่วนในการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ผ่านการดำเนินการตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี ซึ่งเป็นผลลัพธ์ระดับผู้นำจากการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี ๒๕๖๕ (๒) การเพิ่มความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการ Landbridge ของไทย (๓) การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเร่งการเติบโตและลดความเหลื่อมล้ำ และ (๔) การสร้างความยืดหยุ่นด้วยการยกระดับการศึกษาและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

นอกจากนั้น ในห้วงการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ไทยยังได้รับเกียรติให้ประกาศรางวัลบีซีจีของเอเปค (APEC BCG Award) เป็นครั้งแรก โดยน่ายินดีเป็นอย่างที่หนึ่งในผู้ชนะรางวัลคือนางสาวนวลละออ เทอดเกียรติกุล ผู้ก่อตั้งบริษัท Aromatic Farm จากไทย ซึ่งจะเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้บุคคลอื่น ๆ ร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายกรุงเทพฯ และดำเนินการตามแนวคิดเศรษฐกิจบีซีจีเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนต่อไป ในขณะเดียวกัน นายจามิกร ศรีคำ ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันประกวดภาพถ่ายของเอเปค (APEC Photo Contest) ซึ่งแสดงถึงความตระหนักรู้ของสังคมไทยต่อเอเปคและวาระความยั่งยืน

ท้ายที่สุด ไทยยังได้รับเชิญเข้าร่วมกล่าวเปิดการประชุม Sustainable Future Forum ที่ริเริ่มโดยสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก เพื่อเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างภาครัฐ เอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ในเรื่องความยั่งยืน โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากเป้าหมายกรุงเทพฯ ที่ไทยผลักดันในเอเปคเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นมรดกสำคัญและเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกไปสู่การเติบโตที่เข้มแข็งและยั่งยืนในอนาคต

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ