พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยเข้าเฝ้าฯ วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยเข้าเฝ้าฯ วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 พ.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2566

| 4,001 view

เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๘.๑๗ - ๑๙.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะเอกอัครราชทูต และกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เนื่องในโอกาสที่เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ได้เข้าร่วมการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก ประจำปี ๒๕๖๖ ระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ณ กรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่คณะเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ สรุปใจความได้ดังนี้ ๑. เป็นสิ่งที่ดีมากที่กระทรวงฯ ได้จัดการประชุมผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของประเทศ รัฐบาลและประชาชนชาวไทย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้โอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รายงานข้อมูลสถานการณ์ ข้อสังเกตของแต่ละคนให้เพื่อนร่วมงาน (colleague) เพื่อให้ได้ข้อยุติ ข้อตกลงใจร่วมกัน เพื่อน้อมนำไปปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของประเทศชาติได้ดีขึ้นและทันท่วงที และรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ

๒. ในสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงและแบ่งเป็นหลายขั้ว ควรคำนึงถึงวัฒนธรรม ค่านิยม เอกลักษณ์และผลประโยชน์ จุดยืนของไทย เพื่อรักษาพระราชไมตรีหรือป้องกันผลประโยชน์ของประชาชน

๓. นักการทูตต้องนำสถานการณ์ของประเทศไทยมาปรับใช้ให้ถูกต้อง ต้องรู้เรา คือ เข้าใจว่าประเทศของเราเป็นอย่างไรทั้งในปัจจุบันและภายหน้าเพื่อให้ประชาชนมีความสุข และรู้เขา คือ แต่ละประเทศ ภูมิภาค เป็นอย่างไร และจะทำอย่างไร เพื่ออยู่กับเขาได้ โดยรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ คุ้มครองปกป้องประชาชนที่อยู่ในต่างแดน ชื่อเสียง เกียรติยศและความจริงของประเทศไทย จึงต้องสนใจ ติดตาม และทำตัวเอง ให้ทันสมัยอยู่เสมอ และรู้หน้าที่ของเรา งานการทูตไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเข้าใจเขา ต้องเข้าใจเรา รู้จักตัวเราเอง รู้ว่านโยบายของประเทศ ของรัฐบาล ความต้องการและค่านิยมของประชาชน และไม่ลืมจุดยืนและนโยบายของประเทศ

ในโอกาสนี้ ทรงอวยพรให้คณะเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่กลับไปปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสบายใจ มีความโชคดี มีความแจ่มใสในสติปัญญาและความคิดต่าง ๆ

ภายหลังพระราชทานพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ ตอบข้อซักถาม โดยเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ และเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ตามลำดับ ดังนี้

เอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชกระแสรับสั่งไปยังชุมชนไทยในต่างประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบว่า ฝากความรัก ความคิดถึงและความห่วงใยให้คนไทยในต่างประเทศ และทรงรู้สึกปลื้มใจที่ได้เห็นคนไทยรักษาความเป็นไทย ภูมิใจในชาติ และรักชาติ

เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา ได้กราบบังคมทูลถามถึงประสบการณ์ในคราวที่เสด็จฯ ไปทรงศึกษาที่ออสเตรเลีย โดยเฉพาะในโอกาสที่ พลเอก David Hurley ผู้สำเร็จราชการเครือรัฐออสเตรเลียและภริยาจะเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบว่า ในสมัยที่ทรงศึกษาที่ออสเตรเลียเป็นเวลา ๗ ปี มีโอกาสได้รู้จักชีวิตของคนออสเตรเลียทั้งคนในเมือง ต่างจังหวัด และหลากหลายอาชีพ และได้รับการฝึกให้มีความอดทนอดกลั้น มีวินัย และมีร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง ได้ความรู้ ได้เพื่อน และดีใจที่จะได้ต้อนรับพลเอก Hurley ซึ่งเป็นมิตรสมัยศึกษาที่โรงเรียนเตรียมทหารและโรงเรียนนายร้อยที่ออสเตรเลีย โดยการเยือนถือเป็นเครื่องหมายของความเป็นมิตรของทั้งสองประเทศ

เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ได้กราบบังคมทูลถามความคาดหวังต่อเอกอัครราชทูตในโลกปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลง และขอพระราชทานคำแนะนำเพื่อน้อมนำใส่เกล้าฯ ไปปฏิบัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบว่า โลกเปลี่ยนแปลงตลอด เป็นหน้าที่ของเอกอัครราชทูตที่ต้องศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์ และต้องตระหนักและรู้ในความต้องการของประเทศชาติ และมาประยุกต์ใช้ เนื่องจากงานการทูตเป็นงาน dynamic ไม่ static เอกอัครราชทูตจึงต้องรู้ ต้องเป็นคนไทย ต้องทันสมัย รักษาความจริงใจ ด้วยจิตใจที่ดีและเป็นธรรม

เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานแนวทางเรื่องคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะการปลูกฝังเรื่องความผูกพันของคนรุ่นใหม่กับประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบว่า คนไทยควรมีความภูมิใจว่าเรามีประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ค่านิยม ภาษาและศาสนา และทุกคนมีความคิดที่ดีเป็นส่วนใหญ่ ส่วนรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่านั้น คนรุ่นเก่าเคยเป็นคนรุ่นใหม่มาก่อน ทุกคนต้องเรียนรู้และมีประสบการณ์ทำให้คนรุ่นใหม่เป็นผู้ใหญ่ขึ้น เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ขึ้น ความก้าวหน้าเป็นสิ่งที่ดี แต่ขอให้ก้าวหน้าอย่างสร้างสรรค์ คนรุ่นใหม่ก็เหมือนพวกเราทุกคน ต้องได้มีประสบการณ์ ได้ความเข้าใจ ความรู้ และการเรียนรู้ต่าง ๆ

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่กระทรวงการต่างประเทศได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นำคณะเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลกเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ