คำปราศรัยนายกรัฐมนตรี เนื่องในวาระครบรอบ ๗๕ ปี การเป็นสมาชิกสหประชาชาติของประเทศไทย

คำปราศรัยนายกรัฐมนตรี เนื่องในวาระครบรอบ ๗๕ ปี การเป็นสมาชิกสหประชาชาติของประเทศไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ธ.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 37,868 view

พี่น้องชาวไทยที่รัก

ผมมีความยินดีอย่างยิ่งที่ในวันนี้ ตรงกับวาระครบรอบ ๗๕ ปี การเป็นสมาชิกสหประชาชาติของประเทศไทย  ซึ่งไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหประชาชาติเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๔๘๙ ภายหลังจากสหประชาชาติก่อตั้งขึ้นในปี ๒๔๘๘ โดยประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกในลำดับที่ ๕๕

สหประชาชาติ ถือเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีความสำคัญที่สุด มีบทบาทสำคัญในการบรรเทาทุกข์ และแก้ไขปัญหาของประชาคมโลก จรรโลงสันติภาพและความมั่นคง ปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ตลอดจนดำเนินงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ตลอดระยะเวลา ๗๕ ปี การเป็นสมาชิกสหประชาชาติของไทย ผมภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ไทยมีส่วนร่วม ในภารกิจทั้ง ๓ เสาหลักของสหประชาชาติอย่างแข็งขัน ได้แก่

- ด้านสันติภาพและความมั่นคง ตั้งแต่ปี ๒๕๐๑ ไทยสนับสนุนภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติอย่างต่อเนื่อง โดยส่งเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ทั้งชายและหญิงกว่า ๒๗,๐๐๐ คน เข้าร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพ และภารกิจเพื่อสันติภาพอื่น ๆ ในภูมิภาคต่าง ๆ รวมกว่า ๒๐ ภารกิจ ซึ่งปัจจุบัน ไทยส่งกองร้อยทหารช่างเข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพ ณ สาธารณรัฐเซาท์ซูดาน

- ด้านสิทธิมนุษยชน ไทยให้ความสำคัญกับการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด โดยไทยได้รับการยอมรับด้านการส่งเสริมสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ อาทิ เด็ก สตรี ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้โยกย้ายถิ่นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิด-๑๙ ไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศรายได้ระดับกลางที่ประสบความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับประชากรกลุ่มต่าง ๆ

- ด้านการพัฒนา ในปี ๒๕๕๘ สหประชาชาติมีแผนขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง ๑๗ เป้าหมายหลัก เพื่อให้บรรลุผลภายในปี ๒๕๗๓ ดังนั้น เรามีเวลาเหลืออีกเพียง ๙ ปี ที่จะเร่งดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยไทยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy) หรือ SEP มาใช้เป็นแนวทางการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุ SDGs เนื่องจาก SEP มีความสอดรับเป็นเนื้อเดียวกับ SDGs ที่มุ่งพัฒนาและสร้างความสมดุลในทุกมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม ไทยยังได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปช่วยพัฒนาประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งในเอเชียและแอฟริกา นอกจากนั้น ไทยมุ่งนำเสนอการสร้าง “ความสมดุลของสรรพสิ่ง” ในเวทีสหประชาชาติผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในสามมิติ ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อต่อยอด SEP และนำไปสู่การบรรลุ SDGs ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี ๒๕๖๕ ประเทศไทยจะชูโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อส่งเสริมการเติบโตในระยะยาวที่มีความยืดหยุ่น ครอบคลุม สมดุล และยั่งยืน

ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้รับความไว้วางใจจากประชาคมระหว่างประเทศที่ยกให้ไทยเป็นศูนย์กลางขนาดใหญ่ของสำนักงานสหประชาชาติในภูมิภาคเอเชีย ซี่งไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก หรือเอสแคป รวมทั้งหน่วยงานอื่น ๆ ของสหประชาชาติอีกกว่า ๔๐ หน่วยงาน

ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรของไทยในด้านการทูตพหุภาคี โดยการสนับสนุนคนไทยไปปฏิบัติงานหรือดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ในสหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นโอกาส ให้ประเทศไทยและคนไทยเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ

จากที่กล่าวมาข้างต้น จึงเห็นแล้วว่า การเป็นสมาชิกสหประชาชาติของประเทศไทยตลอดระยะเวลา ๗๕ ปี มีความสำคัญอย่างยิ่งกับประเทศ เพราะโลกของเราในปัจจุบัน เป็นโลกที่ไร้พรมแดน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของนานาประเทศ โดยมีสหประชาชาติเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือจึงเป็นทางออกที่จะช่วยให้ทุกประเทศสามารถฝ่าฟันวิกฤติต่าง ๆ โดยเฉพาะความท้าทายรูปแบบใหม่ไปได้ในที่สุด

ซึ่งไทยพร้อมเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกับสหประชาชาติ และนานาประเทศ เพื่อพลิกโฉมให้ความร่วมมือพหุภาคีภายใต้สหประชาชาติเป็นกลไกแห่งการขับเคลื่อนและการเปลี่ยนแปลง ที่สามารถเสริมพลังให้โลกของเรากลับมาเข้มแข็งกว่าเดิม

ภารกิจของสหประชาชาติล้วนเกี่ยวข้องกับเราทุกคนและไม่ใช่เรื่องไกลตัว รัฐบาลพร้อมสนับสนุนให้ ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ ร่วมผนึกกำลังในการผลักดันให้ไทยคงบทบาทที่ “เข้มแข็ง สร้างสรรค์ และต่อเนื่อง” สืบต่อไปได้ในเวทีสหประชาชาติและเวทีโลก  

ขอบคุณครับ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

วิดีโอประกอบ

คำปราศรัยนายกรัฐมนตรี เนื่องในวาระครบรอบ ๗๕ ปีการเป็นสมาชิกสหประชาชาติของประเทศไทย