การหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ครั้งที่ ๔ วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

การหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ครั้งที่ ๔ วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,184 view
      ๑. การหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ครั้งที่ ๔ จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีนางบุษยา มาทแล็ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และนายหลัว จ้าวฮุย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนเป็นประธานร่วม
 
      ๒. ที่ประชุมเห็นว่า การจัดการหารือเชิงยุทธศาสตร์ครั้งนี้จัดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสำคัญทั้งในประเทศไทยและจีน รวมทั้งสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ และเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ไทย - จีนให้มีความก้าวหน้าต่อไปบนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน ผลประโยชน์ร่วมกัน และความไว้เนื้อเชื่อใจกัน   
 
      ๓. ที่ประชุมทบทวนและติดตามการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๖๔) ซึ่งดำเนินมาแล้วครึ่งทาง ดังนี้ 
 
          ๓.๑ ด้านการเมืองและความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อการแลกเปลี่ยนการเยือนและการพบหารือระดับสูงที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยฝ่ายไทยแสดงความพร้อมที่จะให้การต้อนรับมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและนายกรัฐมนตรีจีนเยือนไทยอย่างเป็นทางการในโอกาสเดินทางมาไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจา และการประชุมสุดยอดอาเซียน ในเดือนสิงหาคมและพฤศจิกายนปีนี้ ตามลำดับ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องส่งเสริมความร่วมมืออื่น ๆ อาทิ การต่อต้านการค้ามนุษย์และการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินด้วย  
 
         ๓.๒ ด้านเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่ประชุมเห็นพ้องส่งเสริมความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับจีนผ่านโครงการรถไฟไทย - จีน การเชื่อมโยงเขตอ่าวกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (Guangdong - Hong Kong - Macao Greater Bay Area: GBA) กับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (East Economic Corridor: EEC) รวมถึงโครงการความร่วมมือสามฝ่ายระหว่างไทย จีนและญี่ปุ่นในโครงการรถไฟเชื่อมต่อสามสนามบิน และโครงการเมืองอัจฉริยะภายใต้ EEC และเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งสอดรับกับความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างนโยบาย “ประเทศไทย ๔.๐” กับข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) นอกจากนี้ ฝ่ายไทยประสงค์เรียนรู้จากความสำเร็จของจีนในการแก้ปัญหาความยากจน ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ขอความร่วมมือกับประธานาธิบดีจีนในช่วงการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation (BRF) ครั้งที่ ๒ และการประชุม G20 ซึ่งฝ่ายจีนยินดีแบ่งปันประสบการณ์กับไทย    
 
         ๓.๓ ด้านสังคม วัฒนธรรมและประชาชน ที่ประชุมตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน ผ่านการท่องเที่ยวและการศึกษาโดยเฉพาะอาชีวศึกษา ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้ขอบคุณฝ่ายจีนสำหรับการสนับสนุนโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนตามพระราชดำริพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี    
 
      ๔. ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่มีความสนใจร่วมกัน โดยในส่วนของความร่วมมือระดับภูมิภาค ฝ่ายไทยขอบคุณฝ่ายจีนสำหรับการสนับสนุนไทยในฐานะประธานอาเซียนและแจ้งผลสำเร็จของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๔ ซึ่งได้รับรองเอกสารสำคัญ ๒ ฉบับ คือ แถลงการณ์วิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน (ASEAN Leaders’ Vision Statement on Partnership for Sustainability) และเอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด - แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo - Pacific) ซึ่งเป็นวิถีทัศน์ของอาเซียน (ASEAN Vista) ต่อการเสริมสร้าง          การมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาค โดยมีอาเซียนเป็นแกนกลางโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาค นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายย้ำความสำคัญของการดำเนินตามวิสัยทัศน์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน - จีน ค.ศ. ๒๐๓๐ (ASEAN - China Strategic Partnership Vision 2030) ให้มีผลเป็นรูปธรรม และเห็นพ้องเชื่อมโยง BRI กับแผนแม่บทว่าด้วยการเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity 2025: MPAC) ฝ่ายไทยได้เชิญฝ่ายจีนเข้าร่วมการประชุมเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network Conference and Exhibition) ระหว่างวันที่ ๒๒ - ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๒ ที่กรุงเทพฯ ซึ่งฝ่ายจีนยินดีตอบรับ และพร้อมสนับสนุน
 
      ๕. ที่ประชุมตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาด้านความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคและภูมิภาคที่สามารถสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ซึ่งฝ่ายจีนกำลังพิจารณาคำเชิญของฝ่ายไทยให้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนากลุ่มแรกของ ACMECS และกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (Mekong - Lancang Cooperation: MLC) ซึ่งฝ่ายจีนได้นำเสนอแนวคิดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) รวมถึงข้อเสนอขอให้จีนเพิ่มบทบาทใน ACD โดยพิจารณาเป็นประธานการประชุมในช่วง ๓ ปีข้างหน้า และสนับสนุนการเพิ่มบทบาทของสำนักเลขาธิการของ ACD นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องเร่งรัดการหาข้อสรุปการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ 
 
      ๖. ในกรอบเวทีระหว่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายหารือการสนับสนุนซึ่งกันและกันในการสมัครตำแหน่งในองค์การระหว่างประเทศ โดยฝ่ายจีนขอบคุณฝ่ายไทยสำหรับการสนับสนุนผู้สมัครในตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO)  
 
      ๗. ที่ประชุมเห็นชอบจัดตั้งคณะทำงานร่วมระดับรองอธิบดี ระหว่างกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ และกรมเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศจีน เพื่อติดตามผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ฉบับที่ ๓ และเตรียมการสำหรับการประชุมหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ครั้งที่ ๕ ซึ่งฝ่ายไทยจะเป็นเจ้าภาพในปี ๒๕๖๓ 
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ