ค่ายอบรม ศาสตร์พระราชา ก่อเกื้อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ค่ายอบรม ศาสตร์พระราชา ก่อเกื้อการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 มิ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 869 view

มูลนิธิยุวทูตความดี ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) จัดค่ายอบรม ศาสตร์พระราชา ก่อเกื้อการพัฒนาที่ยั่งยืน  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ยุวทูตความดี 20 ปี 20 โครงการโดยมูลนิธิฯ ได้คัดเลือกโรงเรียนนำร่องของโครงการยุวทูตความดี เฉลิมพระเกียรติ ตั้งแต่ ปี 2542 จำนวน 30 โรงเรียน ซึ่งมีตั้งแต่โรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีนักเรียน 30 คน ถึงโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีนักเรียน 4,151 คน เพื่อให้ก้าวสู่ปีที่ 20 ของยุวทูตความดี โดยมิได้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เข้าร่วมค่ายอบรมฯ พร้อมโรงเรียนขยายผล ปี 2544 – 2545 ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 3 พฤษภาคม  2561โดยมี ผอ.จันทร์ทิพา ภู่ตระกูล ผู้อำนวยการมูลนิธิยุวทูตความดี กล่าวเปิดค่ายอบรมฯ และนายโรจน์วัฒน์  อินทร์ทุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ กล่าวให้ต้อนรับซึ่งมีเยาวชนยุวทูตฯ เข้าร่วม 122 คน ครู 40 คน รวม 162 คน จาก 43 โรงเรียน ใน 40 จังหวัด  

ภาคเหนือ :  เชียงราย  เชียงใหม่  ลำปาง  ลำพูน  อุตรดิตถ์
ภาคกลาง : กรุงเทพมหานคร  กำแพงเพชร  ชัยนาท  นครนายก  นครปฐม  นนทบุรี  พิษณุโลก  เพชรบูรณ์ สมุทรปราการ  สมุทรสาคร  สุพรรณบุรี  สระบุรี  อ่างทอง  อุทัยธานี  อุทัยธานี 
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ขอนแก่น  ชัยภูมิ  นครพนม  กาฬสินธุ์  บุรีรัมย์  มหาสารคาม  ยโสธร  สุรินทร์  หนองคาย  หนองบัวลำภู  อุบลราชธานี  อำนาจเจริญ 
ภาคตะวันตก: ตาก  ราชบุรี 
ภาคตะวันออก : ปราจีนบุรี 
ภาคใต้ : กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง

จุดมุ่งหมายของค่ายอบรม คือ เสริมสร้างให้เยาวชนยุวทูตเข้าใจและเข้าถึง ศาสตร์พระราชา จากการศึกษาหลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นแรงบันดาลใจที่จะน้อมนำหลักคิดและพระราชกรณียกิจของพระองค์ไปศึกษาใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยความเข้าใจและเข้าถึงความพอเพียงตามคำพ่อสอน โดยนำไปสู่การปฏิบัติด้วยความจริงจัง ต่อเนื่อง  โดยคณะยุวทูตฯ เข้าร่วมในกิจกรรม ปลูกข้าวแบบครบวงจร (นาโยน) เกษตรทฤษฎีใหม่ การปศุสัตว์ 3 ดำมหัศจรรย์ การเพาะเห็ด และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและพืชสมุนไพร  

มูลนิธิฯ ได้จัดให้คณะยุวทูตฯ ได้เยี่ยมเยียนครอบครัวเกษตรตัวอย่างที่มีการปฏิบัติจริง จำนวน 3 แห่ง โดยยุวทูตฯ ได้เรียนรู้การทำเกษตรแบบผสมผสาน ในพื้นที่อยู่อาศัย การปลูกอ้อยและทำผลผลิต จากอ้อย การเลี้ยงกบ และการตอนกิ่งมะนาว เพื่อเรียนรู้แบบอย่างการนำทรัพยากรไปจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด  ทำให้สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปเผยแพร่ ขยายผล ในโรงเรียนและชุมชนของตน เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงความรู้ ด้านเกษตรกรรม ให้เกิดความพออยู่พอกิน และสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว

การสร้างสรรค์เพิ่มพูนประสบการณ์การเรียนรู้ ของยุวทูตความดีในเรื่อง การอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล  ศึกษาคุณประโยชน์และโทษของพืชพันธุ์ในป่า ที่เป็นได้ทั้งอาหารและยา เช่น เครือหงส์ สาบเสือ หัวใจทศกัณฑ์ ส่องฟ้าส่องดาว ฯลฯ  ทั้งเรียนรู้การรอดชีวิตยามเมื่อมีภัย ด้วยการพึ่งพาตัวเอง เรียนรู้ การใช้เข็มทิศ และการเดินป่า ระยะทาง 3 กิโลเมตร  เพื่อศึกษาธรรมชาติของป่าปลูก ที่อาศัยหลักการฟื้นฟูสภาพป่า ที่เรียบง่ายและประหยัด ด้วยวัฏจักรธรรมชาติ  และยังได้เรียนรู้การอนุรักษ์พันธุ์ไม้ป่าและสัตว์ป่าที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ เช่น เห็ด กล้วยไม้ นกยูง ไก่ฟ้า และหมูป่า รวมถึงได้เรียนรู้ การดูดาว ตามหลักดาราศาสตร์ เพื่อหาทิศทาง และเข้าใจการมาถึง–จากไปของฤดูกาล  ซึ่งยุวทูตฯ มีความตื่นตัวและสนุกกับการเรียนรู้เป็นอย่างมาก

อนึ่ง ยุวทูตความดี ได้รับฟังการบรรยายพิเศษ เรื่องภาพรวมหัวใจของเศรษฐกิจพอเพียงและ การเชื่อมโยงสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน  โดย ม.ล.สุภรัตน์ เทวกุล ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ทำให้ยุวทูตมีความเข้าใจในการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ Sufficiency Economy Philosophy (SEP)  มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ชีวิตมั่นคงและประเทศชาติมั่งคั่ง ผ่านพ้นวิกฤตได้ตามเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs)17 ประการ  และพร้อมก้าวสู่ประเทศไทยยุค 4.0  มากยิ่งขึ้น

ในการอบรมครั้งนี้ ได้มีการคัดเลือกยุวทูตฯ จำนวน 22 คน ครู 5 คน ไปพัฒนาโลกทัศน์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระดับเยาวชนที่บรูไน ดารุสซาลาม 

 

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ