ที่ผ่านมาไทยเผชิญกับความท้าทายทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ในระยะ ๓-๔ ปีหลังภาวการณ์ของไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น รัฐบาลได้ทำการปฏิรูปเพื่อวางรากฐานของประเทศให้มีความมั่นคงและชะลอการถดถอยทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ตัวเลข GDP เติบโตสูงถึง ๔.๘% โดยไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ทั้ง IMF และ ADB ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น รวมถึงดัชนีทางเศรษฐกิจมหภาคที่ดีขึ้นในทุกดัชนี อาทิ หนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ ๔๐% เงินสำรองระหว่างประเทศราว ๒๐๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ การจัดอันดับทางเศรษฐกิจ รวมถึงเสถียรภาพของตลาดหุ้น
ภายหลังจากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ภาคธุรกิจไทยมีการเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในภายหลังมากขึ้น แต่ทั้งนี้ ยังต้องเฝ้าระวังและรักษาระดับด้านความผันผวนของราคาน้ำมัน การส่งเสริมการลงทุนและขยายตลาดไปยังระดับมณฑลและภูมิภาคในต่างประเทศ การขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่มีความผันผวน และแสวงหาโอกาสจากภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ย้ายมายังทวีปเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียนที่มี CLMVT เป็นแกนกลาง ซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบด้านการมีความสัมพันธ์อันดีกับมิตรประเทศ รวมถึงความพร้อมด้านการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน
นอกจากนี้ จากการดำเนินนโยบาย America First ของสหรัฐฯ ยังส่งผลให้เกิดการผลักดันความร่วมมือเพื่อการค้าเสรีในภูมิภาค เช่น RCEP CPTPP ยุทธศาสตร์อินโด – แปซิฟิก และ OBOR ซึ่งไทยได้มีความพยายามในการสร้างเส้นทางเชื่อมโยงจากอินเดียไปสู่เวียดนามผ่าน EWEC และเชื่อมโยงกับจีนผ่าน NSEC ซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อไปยัง SEC ซึ่งนับเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่นำไปสู่การเชื่อมสองฝั่งอ่าวไทย – ทะเลอันดามัน รวมถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน นำไปสู่การสร้างความร่วมมือในการลงทุนในประเทศที่สามระหว่างจีนและญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย และมีแผนการเตรียมเข้ามาลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานและ Smart City ในพื้นที่ EEC โดยรัฐบาลมีแนวคิดการนำ ACMECS Master Plan มาใช้เป็นแนวทางในการสร้างความร่วมมือและกรอบการดำเนินงานร่วมกับทั้งสองประเทศ เพื่อลดการถูกบีบบังคับด้านภาษีจาก FTA
ทั้งนี้ ในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับโอกาสที่กำลังมาถึง รัฐบาลได้มีความพยายามในการปฏิรูปประเทศเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีจำนวนกว่า ๑๑ ล้านคนทั่วประเทศและประชากรในภาคการเกษตรซึ่งมีจำนวนคิดเป็น ๒๐% ของประชากรทั้งประเทศ ดังนี้
๑) ปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากควบคู่กับการส่งออก โดยการเพิ่มมูลค่าสินค้า การทำการเกษตรหลากหลาย การพัฒนา Smart Farmer Community การนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการส่งออกผ่าน E – Commerce และการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคบริการ โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง อันจะนำไปสู่การกระจายรายได้สู่ชุมชน
๒) ยกระดับอุตสาหกรรมเดิม และพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ผ่านการดำเนินโครงการ EEC เพื่อเป็นแหล่งผลิตและส่งออกไปยัง CLMV รวมถึงเป็น International Gateway โดยเชื่อมโยงสายเคเบิลใต้น้ำร่วมกับฮ่องกง
๓) ขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยมีโครงการนำร่อง ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน โครงการศูนย์ซ่อมบำรุง MRO โครงการเมืองการบินภาคตะวันออก (EECA) โครงการแหลมฉบังระยะที่ ๓ และโครงการมาบตาพุดระยะที่ ๓ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในพื้นที่ EEC
๔) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานของผู้ประกอบการรายย่อย ผ่านการดำเนินโครงการเน็ตประชารัฐ การจัดตั้งศูนย์พัฒนา SME และ Startups ร่วมกับ METI ของญี่ปุ่น และการจัดตั้งศูนย์ cyberport ร่วมกับฮ่องกง
๕) เชื่อมโยงสู่ Pan Pearl River Delta ของจีน โดยเชื่อมเส้นทางรถไฟทางคู่กับแนวเส้นทาง One Belt, One Road
เรียบเรียงโดย... กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ