การตรวจสภาพภูมิประเทศของคณะเจ้าหน้าที่อาวุโส ภายใต้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย – ลาว บริเวณผาหม่น แก่งผาได และผาตั้ง อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๑

การตรวจสภาพภูมิประเทศของคณะเจ้าหน้าที่อาวุโส ภายใต้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย – ลาว บริเวณผาหม่น แก่งผาได และผาตั้ง อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๑

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 มี.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,753 view
ไทยและลาวยังคงยึดมั่นต่อการแก้ไขปัญหาเขตแดนในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย – ลาว (Joint Boundary Commission - JBC) ตลอดระยะเวลา ๒๑ ปี นับตั้งแต่การลงนามความตกลงเกี่ยวกับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนตลอดแนวร่วมกัน โดยทั้งสองฝ่ายต่างได้แสดงความจริงใจและความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาเขตแดนที่ยังคงค้างให้ยุติโดยเร็ว ภายหลังจากการประชุม JBC ครั้งที่ ๑๑ เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๑ ณ กรุงเทพฯ ซึ่งได้มีมติให้คณะเจ้าหน้าที่อาวุโสฯ ร่วมกันตรวจสภาพภูมิประเทศบริเวณผาหม่น จังหวัดเชียงราย 
 
เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๑ คณะเจ้าหน้าที่อาวุโสฯ ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันดำเนินการตรวจสภาพภูมิประเทศ  ในบริเวณผาหม่น โดยฝ่ายไทยมีนายวศิน ธีรเวชญาณ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ด้านกฎหมายเขตแดน และฝ่ายลาวมีนายแสงเพ็ด ฮุ่งบุนยวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว ในฐานะประธานคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสร่วมฯ เป็นหัวหน้าคณะ การตรวจสภาพภูมิประเทศของคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสทั้งสองฝ่ายในพื้นที่บริเวณผาหม่น ซึ่งเป็นบริเวณที่วางแผนจะก่อสร้างหลักเขตแดนที่ ๒-๐๘  นับได้ว่าเป็นการดำเนินการร่วมกันในพื้นที่ดังกล่าวเป็นครั้งแรก จึงถือเป็นความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่ยังคงค้าง แม้จะยังมีประเด็นที่จะต้องหาข้อสรุปร่วมกันเกี่ยวกับแนวเส้นเขตแดนในบริเวณดังกล่าว แต่ทั้งสองฝ่ายก็มีความเชื่อมั่นว่า การดำเนินการภายใต้กลไก JBC จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเขตแดนอย่างสร้างสรรค์ด้วยสันติวิธีต่อไป 
 
นอกจากนี้ ประธานคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสฯ (ฝ่ายไทย) ยังได้นำประธานคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสฯ (ฝ่ายลาว) ศึกษาสภาพภูมิประเทศบริเวณแก่งผาได และบริเวณผาตั้ง – ผาบ่อง ซึ่งได้รับการต้อนรับจากผู้นำท้องที่ในพื้นที่อย่างอบอุ่นอีกด้วย  
 
ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือและวางแผนเกี่ยวกับการดำเนินการตามมติที่ประชุม JBC ครั้งที่ ๑๑ ในพื้นที่อื่น ๆ อย่างต่อเนื่องในระยะเวลาอันใกล้นี้ อันแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่กำลังดำเนินไปด้วยดีในปัจจุบัน โดยการร่วมกันแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยกลไกทวิภาคีที่มีอยู่ จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวและการไปมาหาสู่ระหว่างกัน อันจะนำมาซึ่งความสันติสุขของประชาชนทั้งสองฝั่งโขงอย่างยั่งยืนสืบไป
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ