งานสัมมนา Globalisation: Implications for the Asia-Pacific Region in the 21st Century และการหารือระดมสมองเพื่อจัดทำท่าทีไทยในประเด็นวิสัยทัศน์เอเปค หลังปี ค.ศ. ๒๐๒๐

งานสัมมนา Globalisation: Implications for the Asia-Pacific Region in the 21st Century และการหารือระดมสมองเพื่อจัดทำท่าทีไทยในประเด็นวิสัยทัศน์เอเปค หลังปี ค.ศ. ๒๐๒๐

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ส.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,981 view

เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๐ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมจัดสัมมนาเรื่อง Globalisation: Implications for the Asia-Pacific Region in the 21st Century และการหารือระดมสมองเพื่อจัดทำท่าทีไทยในประเด็นวิสัยทัศน์เอเปค หลังปี ค.ศ. ๒๐๒๐ ณ ศูนย์ประชุม C-ASEAN กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และผู้แทนจากสำนักงานในประเทศไทยของสมาชิกเอเปค เข้าร่วมกว่า ๑๒๐ คน

การสัมมนานี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้หารือในประเด็นสำคัญ ๒ ประเด็น ได้แก่ การเผยแพร่และส่งเสริมผลประโยชน์จากโลกาภิวัตน์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และแนวทางความร่วมมือของเอเปคภายหลังบรรลุเป้าหมายโบกอร์ในปี ค.ศ. ๒๐๒๐ ซึ่งประเด็นดังกล่าวส่งผลอย่างยิ่งต่ออนาคตของเอเปคและการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ (ค.ศ. ๒๐๒๒)

ในการนี้ ผู้เชี่ยวชาญจาก APEC Policy Support Unit ได้ให้ความเห็นถึงผลประโยชน์ของโลกาภิวัตน์ในการส่งเสริมการค้าการลงทุน รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยการเข้าถึงการศึกษาและบริการทางสาธารณสุขที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากการพัฒนาของอุตสาหกรรมในยุค ๔.๐ ได้สร้างความท้าทายที่โลกต้องร่วมกันแก้ไข ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อปรับปรุงกฎระเบียบด้านการค้า การลงทุน และการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่

นอกจากนี้ ผู้แทนสมาชิกเอเปคยังได้แบ่งปันประสบการณ์ต่อที่ประชุม โดยได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐชิลีประจำประเทศไทยได้กล่าวถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจของชิลีภายหลังการเข้าร่วมเอเปคและข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ ผู้แทนจากเวียดนามกล่าวว่า การเปิดการค้าการลงทุนของเวียดนามสู่สากล ช่วยเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอย่างเห็นได้ชัด สถิติทางการค้ายังบ่งชี้ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมและโลกาภิวัตน์นับเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสองประการของเกาหลีใต้ในการก้าวผ่านวิกฤตทางเศรษฐกิจภายหลังสงครามเกาหลี อย่างไรก็ตาม การเติบโตอย่างรวดเร็วได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวเช่นกัน ในส่วนของไทย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปฏิรูปกฎระเบียบภายในให้ทันสมัยเพื่อรองรับความตกลงระหว่างประเทศในปัจจุบัน ผลจากการแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์ สรุปได้ว่า ประเด็นที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วนในทุกภาคส่วนได้แก่ การพัฒนาคน การปฏิรูปกฎระเบียบ การพัฒนาความเชื่อมโยง และการสร้างนโยบายที่มีความครอบคลุม

สำหรับแนวทางของเอเปคในอนาคต ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ซึ่งเป็นผู้แทนไทยในคณะทำงานเพื่อจัดทำเป้าหมายโบกอร์กล่าวว่า เอเปคควรเป็นความร่วมมือที่เป็น issue-based โดยยึดแนวทางของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) เอเปคควรเป็นกรอบความร่วมมือที่สร้างกฎระเบียบที่สมาชิกยึดถือร่วมกันได้ (practical regulatory regime) จากแนวทางต่าง ๆ ที่ ดร. Alan Bollard, Executive Director สำนักเลขาธิการเอเปคได้นำเสนอต่อที่ประชุม แนวทางที่ผู้เข้าร่วมเห็นพ้องคือการพัฒนาบทบาทของเอเปคในฐานะกรอบความร่วมมือชั้นนำที่สมาชิกร่วมกันส่งเสริมระบอบการค้าพหุภาคีร่วมกัน บนพื้นฐานของความไม่ผูกมัดและฉันทามติ นอกจากนี้ เอเปคควรให้ความสำคัญกับประเด็นใหม่ ๆ ที่มีผลต่อการค้าการลงทุนที่ยั่งยืน อาทิ การเข้าสู่ยุคดิจิทัล ความปลอดภัยไซเบอร์ ความเชื่อมโยง ความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป รวมถึงการปฏิรูปกฎระเบียบอย่างครบวงจร โดยทั้งหมดจะต้องสอดคล้องกับ SDGs

อนึ่ง การสัมมนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่กระทรวงการต่างประเทศจัดขึ้นเพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นและสร้างความพร้อมสำหรับไทยในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ โดยผลการสัมมนาจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับสิ่งที่ไทยจะนำเสนอต่อที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐ ต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ