เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๐ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและกระทรวงกลาโหมได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ (ASEAN Workshop on Strengthening and Enhancing Cybersecurity Cooperation in the ASEAN Region: Towards an Integrated Approach in Addressing Transnational Crime) ในระหว่างการจัดงานสัปดาห์ความมั่นคงทางไซเบอร์ประเทศไทย ปี ๒๕๖๐ ที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กรุงเทพฯ โดยผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ได้แก่ ผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน (ยกเว้น บรูไนดารุสซาลาม) วิทยากรจากประเทศภายนอกภูมิภาคอาเซียน อาทิ ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป และนิวซีแลนด์ องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe - OSCE) และภาคเอกชน อาทิ สมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัทไมโครซอฟท์ และบริษัทวีซ่า
ที่ประชุมตระหนักถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้น ทั้งขอบเขต (scope) ขนาด (magnitude) และรูปแบบ (forms) และได้กลายเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ดังนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนจึงจำเป็นต้องเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ตลอดจนเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับประเทศภายนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรระดับภูมิภาค และองค์การระหว่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเสริมสร้างขีดความสามารถด้านความมั่นคงและความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการต่อต้านอาชญากรรมทางไซเบอร์
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นว่า รัฐต้องเสริมสร้างมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งระหว่างภาครัฐ ภาครัฐกับภาคเอกชน องค์กรระดับภูมิภาคและองค์การระหว่างประเทศ และกับสื่อมวลชน เพื่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน อันจะนำไปสู่การหารือและการสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล การจัดตั้งจุดประสานงาน ตลอดจนความร่วมมือเพื่อป้องกันและรับมือจากการโจมตีทางไซเบอร์ และการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่บุคคลทั่วไปเกี่ยวกับภัยคุกคามและอาชญากรรมทางไซเบอร์ ลดช่องว่างด้านขีดความสามารถในการต่อต้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ และช่องว่างของกฎหมายและฐานความผิดทางไซเบอร์ระหว่างประเทศสมาชิกอาซียน
การต่อต้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ต้องดำเนินการแบบองค์รวม (holistic) โปร่งใส เท่าทันสถานการณ์ (timely) สามารถแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ (operationalize) และมีระบบหรือเครือข่ายเพื่อป้องกันเศรษฐกิจและสังคมจากภัยคุกคามทางไซเบอร์
ที่ประชุมเห็นพ้องต่อข้อเสนอให้พิจารณากลไกระดับภูมิภาคเพื่อบูรณาการความร่วมมือด้านไซเบอร์ โดยอาจพิจารณาจัดตั้งศูนย์ไซเบอร์อาเซียนหรือศูนย์ความเป็นเลิศด้านความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ของอาเซียน (ASEAN Cybersecurity Centre of Excellence) หรือหน่วยงานอิสระ (independent body) หรือเวที (platform) โดยกลไกนี้ควรประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศ ภาคเอกชน และภาควิชาการ เพื่อเป็นเวทีสำหรับการหารือทั้งเชิงนโยบายหรือเชิงเทคนิค การเสริมสร้างความตระหนักรู้ให้แก่บุคคลทั่วไป ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐ การวิเคราะห์ข้อมูลและพัฒนางานวิจัยในประเด็นความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ประสานงานด้านข้อมูลและข่าวกรอง ดำเนินงานเชิงปฏิบัติการ เสนอแนะแนวทางในการป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ในระดับชาติ และจัดการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ในการต่อต้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ ทั้งนี้ ศูนย์ดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการทำงานร่วมกัน (synergies) ระหว่างกลไกต่าง ๆ ของอาเซียนด้านความมั่นคงและความปลอดภัยทางไซเบอร์