กระทรวงการต่างประเทศจัดการเสวนาวิชาการในหัวข้อ "Rule of Law of the Sea: Old and New Challenges and Opportunities”

กระทรวงการต่างประเทศจัดการเสวนาวิชาการในหัวข้อ "Rule of Law of the Sea: Old and New Challenges and Opportunities”

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 พ.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,985 view

          เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๐ กระทรวงการต่างประเทศ โดยความร่วมมือระหว่างกรมองค์การระหว่างประเทศ และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้จัดการบรรยายเชิงวิชาการ ในหัวข้อ "Rule of Law of the Sea: Old and New Challenges and Opportunities” โดยนายเกรียงศักดิ์ กิตติชัยเสรี เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก และผู้สมัครของไทยในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ (International Tribunal for the Law of the Sea: ITLOS) วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๗ – ๒๐๒๖  การเสวนามีคณะทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย ซึ่งรวมถึงเอกอัครราชทูตแคนาดา คิวบา จอร์เจีย ปานามา บราซิล และนครรัฐวาติกัน นักวิชาการด้านกฎหมาย และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังการบรรยายเป็นจำนวนกว่า ๑๐๐ คน โดยผู้บรรยายได้ให้ทรรศนะเกี่ยวกับหลักนิติธรรมของกฎหมายทะเลในประเด็นด้านทรัพยากรทางทะเล การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลนอกเขตพื้นที่ที่รัฐมีอำนาจอย่างยั่งยืน ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม และการประมงผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ผู้เข้ารับฟังการบรรยายยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นต่อประเด็นด้านกฎหมายทะเลระหว่างประเทศอย่างกว้างขวางด้วย

          อนึ่ง ศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ (ITLOS) ประกอบด้วยผู้พิพากษา ๒๑ คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๙ ปี และมีการเลือกตั้งสมาชิกจำนวน ๑ ใน ๓ (หรือ ๗ ตำแหน่ง) ทุก ๓ ปี การเลือกตั้งครั้งต่อไปเป็นการเลือกตั้งผู้พิพากษาสำหรับการทำหน้าที่ในวาระปี ค.ศ. ๒๐๑๗ – ๒๐๒๖ ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. ๑๙๘๒ (United Nations Convention on the Law of the Sea – UNCLOS 1982) สมัยที่ ๒๗ ในวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๐ ณ นครนิวยอร์ก ซึ่งนายเกรียงศักดิ์ กิตติชัยเสรี เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก เป็นผู้สมัครของไทยในตำแหน่งดังกล่าว

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ