การรายงานด้วยวาจาต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee) หรือคณะกรรมการประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR)

การรายงานด้วยวาจาต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee) หรือคณะกรรมการประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR)

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 มี.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,741 view

                - คณะผู้แทนไทย นำโดยนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม จะเดินทางไปนำเสนอรายงานด้วยวาจาต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee) หรือคณะกรรมการประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ระหว่างวันที่ ๑๓ – ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๐ ณ นครเจนีวา

                - กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) หรือ ICCPR เป็นหนึ่งในกฎหมายหลักระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน รับรองโดยสมัชชาสหประชาชาติเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๐๙ และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๑๙ ปัจจุบันมีประเทศที่เป็นภาคีแล้ว ๑๑๕ ประเทศ และประเทศที่ลงนามแล้วอีก ๔ ประเทศ สำหรับประเทศไทยเข้าเป็นภาคีใน ICCPR เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๙ และเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๐ 

                - ICCPR ระบุถึงการเคารพสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคน ซึ่งรวมถึงเสรีภาพ ในด้านต่าง ๆ อาทิ ศาสนา การแสดงออก การชุมนุม การเลือกตั้ง และกระบวนการยุติธรรม โดยกำหนดให้รัฐภาคีเสนอรายงานการปฏิบัติตามข้อบทต่าง ๆ ของ ICCPR ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee) ประจำอนุสัญญาฯ 

                - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประกอบด้วยกรรมการ ๑๘ คน โดยเป็นคนชาติของประเทศภาคีจากหลากหลายภูมิภาคซึ่งมีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนเป็นที่ยอมรับและมาจากการเลือกตั้งโดยรัฐภาคี  สมาชิกคณะกรรมการฯ ชุดปัจจุบันมาจาก ปารากวัย ตูนีเซีย ลัตเวีย สหรัฐอเมริกา อียิปต์ ฝรั่งเศส แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น มอนเตเนโกร มอริเทเนีย แคนาดา เยอรมนี โปรตุเกส อิสราเอล ซูรินาเม อิตาลี กรีซ และยูกานดา  

                -ในช่วงการประชุมคณะกรรมการฯ สมัยที่ ๑๑๙ ระหว่างวันที่ ๖ – ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๐ จะมีประเทศที่จะนำเสนอรายงานด้วยวาจา รวม ๖ ประเทศได้แก่ บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา อิตาลี เซอร์เบีย ไทย เติร์กเมนิสถาน และบังกลาเทศ   

                - การนำเสนอรายงานด้วยวาจาต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือคณะกรรมการประจำกติการะหว่างประเทศที่นครเจนีวานี้ เป็นการปฏิบัติปกติที่รัฐภาคีต้องหมุนเวียนกันมารายงาน มิใช่เวทีที่มุ่งโจมตีประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ รวมทั้งเป็นแนวปฏิบัติปกติตามพันธกรณีกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ไทยได้เสนอรายงานตามพันธกรณีต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social, and Culture Rights – ICESCR) เมื่อวันที่ ๔ – ๕ มิถุนายน ๒๕๕๘ และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities – CRPD) เมื่อวันที่ ๓๐ – ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๙ เป็นต้น และในเดือนกรกฎาคมศกนี้ จะเสนอรายงานตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women – CEDAW)