แถลงการณ์ร่วมต่อสื่อมวลชน การประชุมประจำปี ครั้งที่ ๖ ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๙ ณ กรุงเทพฯ

แถลงการณ์ร่วมต่อสื่อมวลชน การประชุมประจำปี ครั้งที่ ๖ ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๙ ณ กรุงเทพฯ

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ก.ย. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 6,803 view

๑. การประชุมประจำปีครั้งที่ ๖ ระหว่าง ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับฯพณฯ ดาโต๊ะ ซรี มูห์ฮัมหมัด นาจิบ บิน ตุน ราชัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซียจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๙ ที่กรุงเทพฯ การประชุมประจำปีครั้งที่ ๖ จัดขึ้นควบคู่กันกับการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียระหว่างวันที่ ๙-๑๐ กันยายน ๒๕๕๙

๒. การประชุมประจำปีครั้งที่ ๖ จัดขึ้นในบรรยากาศที่อบอุ่นและเป็นมิตร นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศแสดงความพึงพอใจกับความเป็นมิตรประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับมาเลเซีย และความร่วมมือที่มีพลวัตระหว่างสองประเทศ นายกรัฐมนตรีทั้งสองเห็นพ้องกันว่าสถานะความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียในปัจจุบันถือเป็นช่วงที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งระหว่างสองประเทศ ในโอกาสที่ไทยและมาเลเซียจะครบรอบ ๖๐ ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี ๒๕๖๐ ทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันเจตนารมณ์ที่จะขยายความสัมพันธ์ในเชิงลึกและเชิงกว้างในสาขาที่มีผลประโยชน์ร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางความเป็นหุ้นส่วนทางความสัมพันธ์และประชาคมอาเซียน

๓. นายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศมีความยินดีอย่างยิ่งกับการเพิ่มพูนการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างสองประเทศ ซึ่งได้มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีและความเข้าใจอันดีระหว่างสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายยินดีกับการเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๗ และเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๙ เพื่อเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศด้านยุทธศาสตร์ทะเลสีคราม ณ เมืองปุตราจายา การเยือนมาเลเซียของ ฯพณฯ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๒๑-๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๘ เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ครั้งที่ ๑๓ และการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ร่วมว่าด้วยการพัฒนาพื้นที่ชายแดน (JDS) ครั้งที่ ๔ ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ การเยือนไทยของ ฯพณฯ ดาโต๊ะ ซรี ดร.อาหมัด ซาฮิด ฮามิดี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมาเลเซียระหว่างวันที่ ๔-๕ สิงหาคม ๒๕๕๙ และการเยือนมาเลเซียของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๙  

๔. ผู้นำทั้งสองเห็นว่าการประชุมประจำปีเป็นการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียเพื่อให้มีการทบทวนและหารือความสัมพันธ์ในรอบด้านเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างสองประเทศ การประชุมประจำปีครั้งที่ ๖ ได้หารือถึงความร่วมมือด้านความมั่นคงซึ่งรวมถึงการต่อต้านการก่อการร้าย แนวคิดสุดโต่งและอาชญากรรมข้ามชาติ รวมทั้งความร่วมมือในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับมาเลเซียและภูมิภาค รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน โครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่ากลไกทวิภาคีได้แก่ คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) การประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ร่วมว่าด้วยการพัฒนาพื้นที่ชายแดน (JDS) คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) และคณะกรรมการร่วมด้านการค้า (JTC) ระหว่างไทยกับมาเลเซียต่างเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ให้มีความก้าวหน้า

๕. ผู้นำทั้งสองยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเป็นประชาคมอาเซียน และส่งเสริมและรักษาความเป็นศูนย์กลางและเอกภาพของอาเซียน ทั้งสองฝ่ายย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินตามวิสัยทัศน์อาเซียน ๒๐๒๕ และยินดีกับความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนประชาคมทางการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมทางสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนปี ค.ศ. ๒๐๒๕ เพื่อนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ๒๐๒๕  

๖. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าการเป็นประชาคมอาเซียนนำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายทางความมั่นคงสำหรับภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะกระชับความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดน และความร่วมมือด้านการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ การลักลอบค้ามนุษย์ ความมั่นคงทางไซเบอร์ การก่อการร้ายระหว่างประเทศและแนวคิดสุดโต่ง โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการข่าว การสนับสนุนแนวคิดสายกลาง และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เป็นเลิศด้านการเยียวยาผู้ที่หลงผิดจากการก่อการร้าย ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล รวมถึงการตระเวนในช่องแคบมะละกา

๗. นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) โดยยินดีกับความต่อเนื่องในการการดำเนินกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขใน จชต. ระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐ โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกเพื่อนำไปสู่การสร้างสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนใน จชต. ฝ่ายไทยได้ขอบคุณฝ่ายมาเลเซียในการมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ด้านการอำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขใน จชต. และยืนยันเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขสถานการณ์ใน จชต. โดยสันติวิธีและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

๘. ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่ากระบวนการพูดคุยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความเชื่อมั่นระหว่างฝ่ายพูดคุยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของการขับเคลื่อนให้กระบวนการพูดคุยมีความคืบหน้า ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายยินดีกับการดำเนินการพูดคุยระหว่างฝ่ายพูดคุยที่เกี่ยวข้องทั้งสองเมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๙ เพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความเชื่อมั่นระหว่างกัน

๙. ผู้นำของทั้งสองประเทศร่วมกันประณามอย่างรุนแรงต่อการปฏิบัติการเพื่อก่อความไม่สงบโดยบุคคลและกลุ่มที่ไม่หวังดีต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ใน จชต. และเรียกร้องให้ยุติการกระทำรุนแรงที่ไม่เลือกปฏิบัติต่อประชาชนในพื้นที่เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความเชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุย ผู้นำทั้งสองเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายดำเนินความร่วมมือระหว่างกันต่อไปในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญา รวมถึงพัฒนาขีดความสามารถและมาตรการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจภายใต้แนวทาง 3Es ได้แก่ การศึกษา การจ้างงานและการประกอบการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตอบสนอบสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่

๑๐. นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายยินดีกับการจัดการประชุมคณะกรรมการจัดทำหลักเขตแดนร่วมระหว่างไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ ๒๔ ที่เมืองมะละกา มาเลเซีย ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๙ จากที่ว่างเว้นเป็นระยะเวลา ๑๐ ปี และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือในประเด็นที่คั่งค้าง รวมถึงการหาข้อสรุปบันทึกความเข้าใจ แนวทางและความตกลงในบรรยากาศของความร่วมมือและเร่งรัดหาข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว 

๑๑. นายกรัฐมนตรีทั้งสองยินดีกับมูลค่าการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นระหว่างไทยกับมาเลเซียในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงมูลค่าการค้าชายแดนที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าโดยรวม ทั้งสองฝ่ายยินดีกับการจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านการค้าครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๘ ที่กรุงเทพฯ ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ผู้นำทั้งสองมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการค้าให้ได้มูลค่า ๓ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ๒๕๖๐ โดยมาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านการค้าครั้งที่ ๓ ในช่วงที่ทั้งสองฝ่ายสะดวก

๑๒. ผู้นำทั้งสองยืนยันเจตนารมณ์ในการส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมโยงทางกายภาพและระหว่างประชาชนรวมถึงการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการอำนวยความสะดวกด้านคมนาคม และเห็นพ้องว่าการเชื่อมโยงดังกล่าวจะช่วยนำไปสู่การส่งเสริมการกินดีอยู่ดีของประชาชนในพื้นที่และความเชื่อมโยงในอาเซียนโดยรวม

๑๓. ผู้นำทั้งสองยินดีกับความคืบหน้าของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงในพื้นที่ชายแดนและขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายดำเนินโครงการตามระยะเวลาที่กำหนด นายกรัฐมนตรีทั้งสองตระหนักถึงความสำคัญของด่านศุลกากรสะเดา-บูกิตกายูฮิตัมในการเป็นประตูทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และคมนาคมระหว่างไทยและมาเลเซียที่คับคั่งและมีขนาดใหญ่ที่สุด และสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันดำเนินการขยายด่านดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายในปี ๒๕๖๑ ทั้งสองฝ่ายขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการปรึกษาหารือและการประสานงานเพื่อเชื่อมโยงการขยายด่านของทั้งสองประเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกการคมนาคมของสินค้าและผู้โดยสารข้ามแดน 

๑๔. ทั้งสองฝ่ายรับทราบความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลกสองแห่งเชื่อมโยงจังหวัดนราธิวาสกับรัฐกลันตันที่สุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง และตากใบ-เปิงกาลันกุโบร์ โดยเห็นว่าสะพานทั้งสองแห่งจะช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยงและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของมาเลเซียและไทย และเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพระหว่างทั้งสองประเทศ ผู้นำทั้งสองขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาข้อสรุปในการปรึกษาหารือและการดำเนินการตามกระบวนการภายในเพื่อให้ทันการจัดพิธีวางศิลาฤกษ์ในช่วงครึ่งแรกของปี ๒๕๖๐ ตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันในการประชุมคณะทำงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ร่วมว่าด้วยการพัฒนาพื้นที่ชายแดน ครั้งที่ ๑๑ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๙ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองยังเห็นชอบที่จะร่วมกันเป็นประธานพิธีเปิดด่านศุลกากรบ้านประกอบ-ดุเรียนบุหรงในช่วงวันที่ทั้งสองฝ่ายสะดวกในปีหน้า

๑๕. นายกรัฐมนตรีทั้งสองขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการบูรณาการเขตเศรษฐกิจพิเศษระหว่างไทยกับมาเลเซียที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาและจังหวัดนราธิวาสกับชูปิง วาเล่ย์ (Chuping Valley) รัฐปะลิส เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนในพื้นที่ชายแดน

๑๖. เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทางกายภาพระหว่างไทยกับมาเลเซีย และภูมิภาคโดยรวม ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ในการส่งเสริมความเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างสองประเทศ โดยเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟฟ้ารางคู่ในเส้นทางหาดใหญ่-ปาดัง เบซาร์ และปาดัง เบซาร์-อิโปห์ ฝ่ายไทยรับทราบข้อเสนอในโครงการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระหว่างกัวลาลัมเปอร์กับกรุงเทพฯ และผู้นำทั้งสองเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มหารือกันในเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวทางความเป็นไปในการดำเนินโครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระหว่างกัวลาลัมเปอร์กับกรุงเทพฯ ดังกล่าว  

๑๗. นายกรัฐมนตรีทั้งสองเห็นพ้องกันว่าการอำนวยความสะดวกด้านการสัญจรทางสินค้าและผู้โดยสารทางถนนและรถไฟจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นจากปริมาณทางการค้าที่ขยายตัวระหว่างไทยกับมาเลเซียและการส่งเสริมความเชื่อมโยงจากการเป็นประชาคมอาเซียน ผู้นำทั้งสองยินดีกับการจัดการประชุมในประเด็นที่เกี่ยวกับการขนส่งข้ามแดนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์และกันยายน ๒๕๕๙ ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายเพื่อหารือบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งทางสินค้าและผู้โดยสารทางถนนบนพื้นฐานของกรอบความตกลงอาเซียน และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกันอย่างต่อเนื่อง

๑๘. นายกรัฐมนตรีทั้งสองยืนยันการให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อบทบาทของภาคเอกชนของไทยและมาเลเซียในการขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนให้สภาธุรกิจมาเลเซีย-ไทย และสภาธุรกิจไทย-มาเลเซีย และสภาหอการค้ามาเลเซีย-ไทยมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการเสนอแนวทางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างมาเลเซียกับไทยและในการขยายเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ

๑๙. ผู้นำทั้งสองยินดีกับการลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการยางพาราที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลาและเมืองโกตาปุตรา ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกับบริษัท Tradewinds Plantation Berhad บันทึกความร่วมมือดังกล่าวจะส่งเสริมความเชื่อมโยงและความร่วมมือในอุตสาหกรรมยางพาราระหว่างสองประเทศ 

๒๐. นายกรัฐมนตรีทั้งสองเห็นพ้องกันว่าเยาวชนเป็นอนาคตของทั้งสองประเทศ และการศึกษา เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตให้แก่เยาวชน ฝ่ายไทยขอบคุณฝ่ายมาเลเซียสำหรับทุนการศึกษาที่มอบให้แก่เยาวชนไทยมุสลิมใน จชต.เพื่อศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาในมาเลเซีย และสำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีด้านหลักสูตรการเรียนการสอนทางศาสนาอิสลาม

๒๑. ฝ่ายไทยยินดีกับการดำเนินมาตรการเพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและโครงการพัฒนาขีดความสามารถสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงหลักสูตรประจำปี ๒๕๕๗ และ ๒๕๕๙ สำหรับมารดาที่เลี้ยงบุตรเพียงลำพังและเยาวชนตามความร่วมมือระหว่างสถาบันเกียตมาราของมาเลเซียและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)           

๒๒. นายกรัฐมนตรีทั้งสองกล่าวชมเชยและสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายเร่งรัดการหาข้อสรุปในความตกลง/บันทึกความเข้าใจ และตราสารอื่นๆ ที่คั่งค้างให้เสร็จภายในการประชุมประจำปี ครั้งที่ ๗ ได้แก่

       - บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์

       - บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา

       - บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร

       - บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ

       - บันทึกความเข้าใจว่าด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับเขตแดนในพื้นที่ระหว่างหลักเขตแดนที่ 20A/12 และหลักเขตแดนที่ 23/104 ในพื้นที่ III (BP16-BP27) ของเขตแดนร่วมทางบกระหว่างมาเลเซียและไทย

       - บันทึกความเข้าใจเรื่องการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในพื้นที่ 8A, 8B, 8C และ8D บริเวณแม่น้ำโก-ลก

       - ร่างแนวทางในการปฏิบัติสำหรับการกำหนดระยะห่างที่เหมาะสมจากแนวเส้นเขตแดนของโครงการพัฒนาฝ่ายเดียวบริเวณใกล้เขตแดนไทย-มาเลเซีย

       - สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่าง ไทย-มาเลเซีย

       - สนธิสัญญาว่าด้วยการโอนนักโทษระหว่าง ไทย-มาเลเซีย

          ๒๓. ในโอกาสที่ไทยและมาเลเซียกำลังย่างก้าวสู่ทศวรรษที่หกของความสัมพันธ์ นายกรัฐมนตรีทั้งสองยืนยันความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อนำข้อตกลงจากการประชุมประจำปี ครั้งที่ ๖ ไปปฏิบัติให้มีผลเป็นรูปธรรมเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ประชาชนและประชาคมอาเซียน รวมถึงให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันในเวทีระหว่างประเทศ

          ๒๔. นายกรัฐมนตรีทั้งสองเห็นชอบที่จะจัดการประชุมประจำปี ครั้งที่ ๗ ที่มาเลเซีย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ