พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมผู้นำ G20 (G20 Summit) ณ นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ตามคำเชิญจากจีน ในฐานะที่ไทยเป็นประธานกลุ่ม ๗๗ วาระปี ๒๕๕๙ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ประธานกลุ่ม ๗๗ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมผู้นำ G20 (G20 Summit) ณ นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ตามคำเชิญจากจีน ในฐานะที่ไทยเป็นประธานกลุ่ม ๗๗ วาระปี ๒๕๕๙ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ประธานกลุ่ม ๗๗ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ก.ย. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 7,623 view

เมื่อวันที่ ๔ - ๕ กันยายน ๒๕๕๙ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือนนครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำ G20 ตามคำเชิญของรัฐบาลจีน โดยในครั้งนี้ ไทยได้รับเชิญเป็นกรณีพิเศษในฐานะประธานกลุ่ม G77 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ G20 มีปฏิสัมพันธ์อย่างเป็นทางการในระดับสูงสุดกับ G77

G20 เป็นเวทีหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ประกอบด้วยสมาชิก ๑๙ ประเทศ และสหภาพยุโรป โดยขนาดเศรษฐกิจของสมาชิก G20 คิดเป็นร้อยละ ๙๐ของเศรษฐกิจโลก และมีจำนวนประชากรรวมกันประมาณ ๒ ใน ๓ ของโลก

จีนกำหนดหัวข้อการประชุมของปีนี้ ว่า “มุ่งสู่เศรษฐกิจโลกที่สร้างสรรค์ มีพลัง เชื่อมโยง และเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม" ซึ่งถือว่า เป็นการประชุมสุดยอดด้านการพัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับบริบทของการอนุวัติวาระ ค.ศ. ๒๐๓๐ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยนายกรัฐมนตรีได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์กับผู้นำของประเทศสมาชิก G20 ในสองประเด็น ได้แก่

๑. การประสานนโยบายและแนวทางการพัฒนาใหม่เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยไทยผลักดันแนวทางการพัฒนารูปแบบใหม่ที่ไม่จำกัดรูปแบบของความร่วมมือ ทั้งแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี โดยต้องดำเนินการ ๓ ด้าน ได้แก่ (๑) การประสานนโยบายและความร่วมมือทางเศรษฐกิจการเงิน (๒) การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเน้น ๓ สาขา ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่งเสริม วทน. และส่งเสริมขีดความสามารถของ SMEs และ (๓) การสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ผ่านกลไกประชารัฐ เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ลดความเหลื่อล้ำในสังคม

๒. การพัฒนาที่มีความเชื่อมโยงและครอบคลุม โดยเน้นความสำคัญ ๓ วาระ ได้แก่ (๑) การสร้างหุ้นส่วนระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คำนึงถึงความต้องการของทุกภาคส่วน โดยให้ทั้งความช่วยเหลือ (aid) ระยะสั้นและการเสริมสร้างขีดความสามารถ (capacity building) ระยะยาว (๒) การสร้างความเชื่อมโยง ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ และประชาชน เพื่อลดช่องว่างของการพัฒนา ลดความเหลื่อมล้ำ และ (๓) การส่งเสริมแนวทางการพัฒนาที่เป็นของตัวเอง (Home-Grown Approaches) โดยในส่วนของไทยมีการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเน้นการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเป็นรากฐานของนโยบายด้านการพัฒนาของไทย โดยไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์กับประเทศต่าง ๆ

ทั้งนี้ ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวชื่นชมบทบาทของไทยในฐานะตัวแทนของ G77 และยืนยันว่าจะให้ความสำคัญกับความเห็นของ G77 ในการกำหนดนโยบายที่สำคัญต่อไป

ในระหว่างการเยือนนครหางโจว นายกรัฐมนตรียังได้พบหารือทวิภาคีบุคคลสำคัญของจีน ดังนี้

1. นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ในวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๙ ซึ่งทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะร่วมมือเพื่อยกระดับการประสานงานเชิงยุทธศาสตร์เพื่อผลประโยชน์ร่วมของทั้งสองประเทศและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียโดยรวม โดยเฉพาะการขับเคลื่อนความร่วมมือการขนส่งระบบรางไทย – จีน

2. นายแจ็ค หม่า ประธานบริหารกลุ่มอาลีบาบา ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่นครหางโจว และเป็นต้นแบบของบริษัทที่เริ่มพัฒนาธุรกิจจาก “ฐานราก” ที่ประสบความสำเร็จ โดยทั้งสองฝ่ายมีความสนใจที่จะร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนธุรกิจ SMEs ในไทย และใช้ไทยเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศนอกภูมิภาคอื่น ๆ

การเข้าร่วม G20 Summit ของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน G77 ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในฐานะผู้สร้างสะพานเชื่อม (bridge builder) ระหว่างสมาชิก G77 และ G20  ซึ่งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาในการสร้างหุ้นส่วนระดับโลก (Global Partnership) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอย่างยั่งยืนและครอบคลุมไปพร้อม ๆ กับการอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ของสหประชาชาติ 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ