วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ก.ค. 2559
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๙ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๙ ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีนายวิทวัส ศรีวิหค รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายจักรกฤษณ์ ศรีวลี อธิบดีกรมอาเซียน ตลอดจนผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เข้าร่วม
การประชุมคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๙ ถือเป็นการประชุมครั้งแรกในรอบหลายปีและเป็นครั้งแรกภายหลังจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเมื่อปลายปี ๒๕๕๘ ด้วย การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นตามเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่เล็งเห็นความสำคัญของการมีกลไกประสานงานภายในประเทศที่เข้มแข็งและสามารถขับเคลื่อนการดำเนินการของไทยในกรอบอาเซียน ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติได้อย่างต่อเนื่อง มียุทธศาสตร์ และมีการบูรณาการ รวมทั้งส่งเสริมบทบาทของไทยในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนไปในทิศทางที่ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง ๑๐ ประเทศ สามารถก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตลอดจนเพื่อให้ประเทศไทยและประชาชนชาวไทยได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่และยั่งยืนจากการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน
ในการนี้ รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้มีการรื้อฟื้นคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน และสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติที่กระทรวงการต่างประเทศขึ้นมาใหม่ และเพื่อให้คณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติสามารถขับเคลื่อนการดำเนินการต่าง ๆ ของไทยได้อย่างรอบด้านและมีประสิทธิภาพ ที่ประชุมจึงได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ จำนวน ๖ คณะ ดังนี้
๑. คณะอนุกรรมการประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
๒. คณะอนุกรรมการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
๓. คณะอนุกรรมการประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
๔. คณะอนุกรรมการกฎหมายรองรับประชาคมอาเซียน
๕. คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ประชาคมอาเซียน
๖. คณะอนุกรรมการประสานงาน กลั่นกรอง และขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน ซึ่งจะเป็นทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติกับคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้ง ๖ คณะ เพื่อให้การดำเนินการของไทยในกรอบอาเซียนและในระดับภูมิภาคเชื่อมโยงและสอดคล้องกับการดำเนินการภายในประเทศของไทย
ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เช่น การจัดทำยุทธศาสตร์ไทยต่อประชาคมอาเซียน บทบาทของไทยในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนในการส่งเสริมความเชื่อมโยง (complementarity) ระหว่างการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนภายใต้วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ๒๐๒๕ กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ การจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ ๕๐ ปี การจัดตั้งอาเซียนและวาระครบรอบ ๔๐ ปีความสัมพันธ์อาเซียน-อียูในปี ๒๕๖๐ การจัดทำยุทธศาสตร์ไทยต่อประชาคมอาเซียน รวมทั้งได้เริ่มระดมสมองเพื่อเตรียมการสำหรับการเข้ารับตำแหน่งประธานอา เซียนของไทยในปี ๒๕๖๒ ล่วงหน้าถึง ๓ ปีแล้วด้วย
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แถลงต่อผู้สื่อข่าวถึงผลการประชุม รวมทั้งการติดตามและผลักดันประเด็นที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำเสนอในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๒๗ และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ ๒๑ - ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ได้แก่ ๑. ศูนย์ไซเบอร์อาเซียน ๒. การส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบ +๑ และ ๒+๑ (ไทย+ประเทศอาเซียน+ประเทศคู่เจรจา) เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน ๓. การส่งเสริมศักยภาพของ Micro, Small and Medium Enterprises (MSMEs) ๔. การแก้ไขปัญหาหมอกควันในกรอบอาเซียน โดยเฉพาะการจัดทำ ASEAN Haze-Free Roadmap ๕. การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตร และการเสนอให้อาเซียนจัดทำแผนพัฒนาภาคเกษตร ๖. การส่งเสริมการท่องเที่ยวในลักษณะ package ของประเทศอาเซียนทั้งทางบกและทางทะเล และ ๗. การสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนและสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอาเซียน
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **