ผลการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ นางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ระหว่างวันที่ ๒๓ – ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๙

ผลการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ นางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ระหว่างวันที่ ๒๓ – ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๙

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 มิ.ย. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 6,512 view

          เมื่อวันที่ ๒๓ – ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๙ นางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล ตามคำเชิญของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกของนางออง ซาน ซู จี ในฐานะหัวหน้าคณะ นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของมิติใหม่ของการส่งเสริม ความสัมพันธ์และ    ความร่วมมือระหว่างไทย – เมียนมา

          ในการนี้ นายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมาได้หารือกันในช่วงบ่ายของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๙   ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และฉันมิตร โดยผลการหารือครอบคลุม ๑) ความร่วมมือด้านแรงงาน ที่ปรึกษาแห่ง รัฐเมียนมาขอบคุณรัฐบาลไทยที่ได้ให้การดูแลแรงงานเมียนมาในประเทศไทยเป็นอย่างดี ๒) ผู้หนีภัยการสู้รบ ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมาขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้การดูแลผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาเป็นอย่างดี และเมื่อสถานการณ์ในเมียนมามีความพร้อม รัฐบาลเมียนมาก็จะรับผู้หนีภัยดังกล่าวกลับประเทศ ๓) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยจะร่วมกันผลักดันการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายต่อไป โดยที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมาหวังว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยสร้างโอกาสและอาชีพให้แก่ชาวเมียนมา ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้เน้นย้ำว่า นักลงทุนไทยจะเข้าไป   ทำธุรกิจในเมียนมาอย่างรับผิดชอบ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศ นอกจากนี้ ไทยยังยินดีที่จะสนับสนุนเมียนมาในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้วย ๔) ความร่วมมือในกรอบอาเซียน เชื่อว่าทั้งสองประเทศจะสามารถมีบทบาทสำคัญในการจรรโลงสันติภาพและสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ภูมิภาค

          หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมาได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง ๓ ฉบับ ได้แก่ (๑) ความตกลงว่าด้วยการข้ามแดนระหว่างประเทศทั้งสอง (๒) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน และ (๓) ข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน ซึ่งความตกลงดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนบริเวณชายแดน และความร่วมมือด้านแรงงาน โดยเฉพาะการปรับปรุงสิทธิและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานเมียนมาในประเทศไทย และการป้องกันการค้ามนุษย์และการจ้างงานโดยผิดกฎหมาย จากนั้น นายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมาได้แถลงข่าวร่วมกัน และนายกรัฐมนตรีได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมาและคณะ

          นอกเหนือจากการหารือกับนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมายังมีกิจกรรมสำคัญอื่น ๆ ดังนี้

          ๑. เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๙ ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมาได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมแรงงานเมียนมาที่ตลาดทะเลไทย ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร โดยได้พบปะพูดคุยกับตัวแทนแรงงานเมียนมา   จำนวนกว่า ๕๐๐ คน และแจ้งวัตถุประสงค์ของการเยือนว่า ต้องการเยี่ยมเยียนและรับทราบปัญหาของพี่น้องแรงงานชาวเมียนมา รวมทั้งต้องการสร้างความเข้าใจระหว่างแรงงานกับนายจ้างและระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ในโอกาสนี้ ที่ปรึกษาแห่งรัฐได้ให้คำแนะนำแก่แรงงานเมียนมาให้ปฏิบัติตนอยู่ภายใต้กฎระเบียบไทย และหากมีปัญหาขอให้แจ้งหน่วยงานทางการ หรือสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลเมียนมา

         ๒. ในช่วงเช้าของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๙ ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมาได้เดินทางไปกล่าวปาฐกถากับนิสิตนักศึกษาไทยในหัวข้อเรื่อง “Myanmar, ASEAN and the World: The Way Forward” ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้การต้อนรับ สาระสำคัญของการกล่าวปาฐกถาในครั้งนี้ครอบคลุมถึงพัฒนาการในเมียนมา การรักษาและส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศ  เพื่อนบ้าน โดยมีความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนเป็นพื้นฐาน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียน การพัฒนาระบบการศึกษาและการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายในสังคม กิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นอย่างมากโดยมีผู้เข้าร่วมกว่า ๔๐๐ คน โดยนิสิตนักศึกษาได้แสดงความสนใจสอบถามคำถามในประเด็นต่าง ๆ

        ๓. ในวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๙ ในช่วงเช้า ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมาได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนบ้านหัวอ่าว และโครงการสามพรานโมเดล อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม   โดยมี รศ. นราพร จันทร์โอชา ภริยานายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และภริยาคณะรัฐมนตรีให้การต้อนรับ ในโอกาสนี้ ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมาได้ศึกษาดูงานต้นแบบโครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชนและชุมชนเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน โดยรูปแบบการพัฒนานี้ได้นำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาได้อย่างประสบผลสำเร็จ ซึ่งที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมาได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมากและสอบถามอย่างละเอียด โดยเฉพาะในเรื่องข้าวและพืชผักผลไม้ออร์แกนิคต่าง ๆ พร้อมแสดงความพร้อมที่จะนำสิ่งที่เรียนรู้ไปปรับใช้กับชุมชนเกษตรกรและการเกษตรของ  เมียนมาต่อไป จากนั้นในช่วงบ่าย ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมาได้เดินทางไปพบปะกับผู้แทนนิสิตนักศึกษาและคณาจารย์ชาวเมียนมาในประเทศไทยที่สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย 

         การเดินทางเยือนประเทศไทยของนางออง ซาน ซู จี ในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จด้วยดี บรรยากาศการหารือของทั้งสองฝ่ายเป็นไปอย่างฉันมิตร และความเข้าใจกันสองฝ่ายสะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมและความจริงใจของนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมาที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่คั่งค้างในความสัมพันธ์ให้สำเร็จ โดยถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยกับรัฐบาลชุดใหม่ของเมียนมาทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี โดยเฉพาะความร่วมมือในกรอบอาเซียน อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศและภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ