วันที่นำเข้าข้อมูล 7 มิ.ย. 2559
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม - ๔ มิถุนายน ๒๕๕๙ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง การต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุม Organisation for Economic Cooperation and Development (OECD) Forum 2016 และการประชุม OECD Development Centre’s High-level Meeting ครั้งที่ ๓ ณ สำนักงานใหญ่ OECD กรุงปารีส ซึ่งจัดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมระดับรัฐมนตรี OECD ประจำปี ๒๕๕๙
การเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ของไทยได้รับความสนใจอย่างสูงจากประเทศสมาชิก OECD โดยผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้รับเชิญให้เป็นผู้ร่วมอภิปรายในการหารือหัวข้อ “การค้าและการลงทุน” ในการประชุม OECD Forum 2016 พร้อมกับรัฐมนตรีการค้าจากนิวซีแลนด์ คอสตาริกา เนเธอร์แลนด์ และฟินแลนด์ โดยผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้ย้ำถึงความสำคัญของการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ อันเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศไทย และการรวมตัวของประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ ในระยะสั้น การเปิดเสรีทางการค้าอาจสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจภายใน ประเทศต่าง ๆ จึงต้องเตรียมความพร้อมให้ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ พัฒนาจุดเด่นของระบบเศรษฐกิจของตนเพื่อให้หลุดพ้นจากวงจรการแข่งขันทางต้นทุนและราคา และก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางให้ได้
ในโอกาสดังกล่าว ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ยังได้รับเชิญให้เป็นผู้อภิปรายในหัวข้อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs ในช่วงการประชุม OECD Development Centre’s High-level Meeting ร่วมกับประธานาธิบดีเซเนกัล รัฐมนตรีเศรษฐกิจเปรู สาธารณรัฐโดมินิกัน คอสตาริกา ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น และเลขาธิการ UN Economic Commission for Latin American and the Carribean (ECLAC) โดยไทยย้ำถึงความสำคัญของ การลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากตระหนักว่า ประเทศกำลังพัฒนายังคงต้องการเงินลงทุนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการบรรลุ SDGs ถึง ๒.๕ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามการประเมินของ UNCTAD ดังนั้น ประเทศไทย ในฐานะประธานกลุ่ม ๗๗ จึงได้จัดการประชุม G77 Meeting on Investment for Sustainable Development ระหว่างวันที่ ๔ – ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ณ เมืองพัทยา เพื่อหาแนวทางใหม่ในการส่งเสริมการลงทุนที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการแบ่งปันประสบการณ์ของไทยในการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมการลงทุนขนาดย่อม (microcredit) ภายในประเทศได้
นอกจากนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ยังได้พบหารือทวิภาคีกับนาย Douglas Frantz รองเลขาธิการ OECD เพื่อหาลู่ทางพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย – OECD โดยเฉพาะการจัดทำโครงการ Thailand-OECD Country Partnership Programme ซึ่งจะช่วยกระบวนการปฏิรูปประเทศไทย และเป็นจุดเริ่มต้นของการปูทางไปสู่การตัดสินใจเกี่ยวกับการเป็นสมาชิก OECD รวมถึงการหารือทวิภาคีกับนาย Masakazu Hamachi ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งยืนยันความตั้งใจที่จะสนับสนุนให้ไทยมีบทบาทมากขึ้นใน OECD
การเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ของผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีในด้านความสัมพันธ์ระหว่างไทยและ OECD เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ผู้แทนระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมระดับสูงของ OECD นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางการบริหารประเทศในปี ๒๕๕๗ อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้ไทยแสดงศักยภาพ ตลอดจนวิสัยทัศน์และบทบาทนำในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งในฐานะประธานกลุ่ม ๗๗ ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อประเทศสมาชิก OECD ด้วย
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **