ปาฐกถานายกรัฐมนตรีในการประชุม IISS Shangri-La Dialogue 15th Asia Security Summit

ปาฐกถานายกรัฐมนตรีในการประชุม IISS Shangri-La Dialogue 15th Asia Security Summit

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 มิ.ย. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 7,864 view

ปาฐกถานายกรัฐมนตรี
ในการประชุม IISS Shangri-La Dialogue 15th Asia Security Summit
วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๙ ณ โรงแรมแชงกรี-ลา สิงคโปร์
*   *   *   *   *

“Towards Strategic New Equilibrium of the Asia - Pacific”

ฯพณฯ นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์
ดร. จอห์น ชิปแมน ผู้อำนวยการบริหารสถาบันยุทธศาสตร์ศึกษาระหว่างประเทศ
แขกผู้มีเกียรติทุกท่าน  

๑.  สวัสดีครับ ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญจากนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์และจากผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์ศึกษาระหว่างประเทศ ให้กล่าวปาฐกถาในการประชุม Shangri-La Dialogue ในปีนี้ ผลสำเร็จของการมาปรึกษาหารือกัน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างต่อเนื่องตลอด ๑๕ ปีที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าการประชุมนี้มีบทบาทสำคัญที่สร้างสรรค์ต่อการส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงของภูมิภาคระหว่างเราทุกประเทศ

๒. นอกจากนี้ ผมยังมีความยินดีที่ได้เยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์อีกครั้ง หลังจากที่ได้ร่วมเฉลิมฉลองเอกราชครบ ๕๐ ปีในปีที่ผ่านมา สิงคโปร์นับเป็นแบบอย่างของประเทศที่น่าชื่นชมเพราะนอกจากประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศและมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมความมั่นคงของภูมิภาคอีกด้วย
              
๓. เมื่อ ๑๔ ปีที่แล้วท่านลี กวน ยู บิดาผู้ก่อตั้งสิงคโปร์และนายกรัฐมนตรีคนแรก เป็นผู้นำในเอเชีย-แปซิฟิกคนแรกที่ได้กล่าวปาฐกถาในการประชุม Shangri-La Dialogue ครั้งแรก ประเด็นหลัก ๆ ที่ท่านลี กวน ยู ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคไว้นั้น ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้เล่นหลักไปจากเดิม แต่สถานการณ์ความมั่นคงกลับมีความสลับซับซ้อน มีความเชื่อมโยงกันและมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น ท่านลี กวน ยู ได้คาดการณ์ไว้ด้วยว่าหลายประเทศจะมีบทบาทในภูมิภาคมากขึ้น และจะมีการแพร่ขยายของการก่อการร้ายข้ามชาติ

๔. ผมคิดว่าโลกเราผ่านร้อนหนาวมาหลายยุคหลายสมัย จากยุคสงครามเย็นที่ โลกแบ่งเป็น ๒ ขั้ว  (bipolar world) จนเป็นโลกหลายขั้ว (multipolar world) ในปัจจุบัน ความมั่นคงในโลกใบนี้มีความเชื่อมโยงกัน มีการพึ่งพาอาศัยกันมากยิ่งขึ้น (Interdependence) เราต้องเผชิญปัญหาสำคัญๆ ที่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพของโลกไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของภัยคุกคามดั้งเดิม (Traditional Threats) เช่น ปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ในทะเลจีนใต้และคาบสมุทรเกาหลี รวมไปถึงภัยคุกคามรูปแบบใหม่ (Non-traditional Threats) ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่เผชิญเหมือนกันทั่วโลก (Global Common) เช่น ความขัดแย้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ประชาธิปไตยที่ยังไม่สมบูรณ์และไม่มีธรรมมาธิบาล ความไม่มั่นคงทางพลังงานและอาหาร ภัยพิบัติ  โรคระบาด การก่อการร้ายข้ามชาติ ยาเสพติดข้ามชาติ ภาวะโลกร้อน ปัญหาหมอกควันข้ามแดน อาชญากรรมไซเบอร์ การประมงผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ การย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ สังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ การรักษาสมดุลด้านความมั่นคงจึงทำได้ยากขึ้นมากในปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นตัวอย่างของประเทศหนึ่งที่เสียดุลยภาพไป ในช่วงหลายปี ที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ไทยเคยประสบความสำเร็จในการรักษาสมดุลและดุลยภาพได้เป็นอย่างดีในอดีต เช่น ช่วงสงครามและวิกฤตการณ์ต่างๆ  ปัจจุบัน ประเทศไทยด้วยความร่วมมือของหลายฝ่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผมคิดว่าไทยได้เดินกลับเข้ามาสู่สภาวะที่ดีขึ้น แม้ว่ายังคงมีความท้าทายต่างๆ รอเราอยู่ข้างหน้ามากก็ตาม ผมจึงจำเป็นยืนอยู่ตรงนี้

๕. ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ไร้พรมแดน การคมนาคมและเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็วถึงกันภายในเวลาไม่กี่วินาที ซึ่งก็อาจจะทำให้เกิดทั้งวิกฤติและโอกาสได้ตลอดเวลา และปัญหามีมิติข้ามชาติมากขึ้น กล่าวคือจากนี้ไป ผู้คนในโลก “สุขจะสุขด้วยกัน ทุกข์ก็จะทุกข์ด้วยกัน” จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ประชาคมโลกค่อย ๆ ขยับจากแนวคิด “หนึ่งประเทศหนึ่งจุดหมาย” (One country, One Destiny) เป็น “หนึ่งโลก หนึ่งจุดหมาย” (One World, One Destiny) ทุกประเทศจึงควรร่วมกันพิจารณาว่า จะทำอย่างไรที่จะร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อให้ได้ผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม ลดความหวาดระแวง และมีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพครับ
    
๖. ในปัจจุบัน สถาปัตยกรรมของภูมิภาคขาดดุลยภาพที่เหมาะสม ปัญหาความมั่นคงร่วมกันในภูมิภาค จำเป็นต้องอาศัยโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่ดี การสิ้นสุดของสงครามเย็น ได้ทำให้โครงสร้างดังกล่าวในภูมิภาคเปลี่ยนไป กลายเป็นโครงสร้างที่มีหลายขั้วอำนาจและยังไม่มีกฏระเบียบหรือกติกาที่ชัดเจน จึงเกิดความไม่แน่นอน จนกลายมาเป็นเรื่องที่ท้าทายทุกประเทศในภูมิภาคมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศทีมีขนาดเล็กและกำลังพัฒนา
 
๗. ปัจจุบันความมั่งคั่งและศักยภาพของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกดึงดูดให้ประเทศต่าง ๆ หันมาดำเนินนโยบายขยายบทบาททั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมมากยิ่งขึ้น สหรัฐฯ มีนโยบาย ปรับสมดุล (Rebalancing) และนโยบายผลักดันเขตการค้าเสรี TPP (ทีพีพี)   ซึ่งไทยเองก็มีความสนใจและเร่งพิจารณาในการเข้าร่วมโดยให้มีการศึกษา ทำประชาพิจารณ์ (public hearing) จากทุกภาคส่วนขอให้บรรดาประเทศสมาชิกช่วยพิจารณาผลกระทบบางประการให้ด้วย ซึ่งก็น่าที่จะทำให้หลายประเทศได้ตัดสินใจได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ จีนมีนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้น และผลักดันการค้าเสรีผ่าน FTAAP (เอฟแทป) และ เขตการค้าเสรี RCEP (อาร์เสป)   ขณะที่รัสเซีย  มีนโยบายมุ่งเอเชียและเขตการค้าเสรียูเรเซีย (Eurasia Economic Union) และอินเดียมีนโยบายมุ่งตะวันออก (Act East Policy)  

๘. สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่นยังคงเป็นผู้เล่นที่สำคัญในภูมิภาค ส่วนอินเดีย รัสเซีย เกาหลีใต้และอาเซียนเป็นผู้เล่นที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้น  ขณะที่จีนมองว่า ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาศักยภาพด้านความมั่นคงของตนเป็นไปในเชิงสันติและสร้างสรรค์ หลายประเทศกลับมีความกังวลว่า พัฒนาการดังกล่าวจะกระทบต่อดุลแห่งอำนาจและความความมั่นคงของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ดังนั้น อาเซียนต้องมีเอกภาพ และมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างดุลยภาพใหม่ทางยุทธศาสตร์ (Strategic New Equilibrium) ในภูมิภาค เพื่อส่งเสริมพื้นที่แห่งสันติภาพและเอื้ออำนวยให้ทุกฝ่ายดำเนินการตามหลักการกฏระเบียบ และค่านิยมที่ยอมรับร่วมกันได้อย่างสร้างสรรค์  เป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษแล้ว อาเซียนก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าสามารถสร้างพื้นที่แห่งสันติภาพระหว่างสมาชิกที่เคยขัดแย้งกันได้อย่างเป็นที่น่าพึงพอใจ และบรรลุวิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้งอาเซียนในการเป็นประชาคมที่มีพลวัตสำหรับอนาคต  

๙. นี่คือความท้าทายที่ผมคิดว่า ผู้เชี่ยวชาญในที่ประชุมแห่งนี้ จะได้หาทางออกหรือหาดุลยภาพที่เหมาะสม สำหรับภูมิภาค โดยแสวงหาแนวทางที่จะร่วมมือกันวางรากฐาน บรรทัดฐานและแนวปฎิบัติร่วมกัน แสวงหาความร่วมมือทำกิจกรรมร่วมภายใต้ความแตกต่างของแต่ละประเทศในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อลดช่องว่างและสร้างสมดุล ให้แก่โครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคได้โดยเร็ว เพื่อป้องกันปัญหา ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และที่สำคัญเพื่อนำทุกประเทศในภูมิภาค ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและมีความเสถียรภาพอย่างยั่งยืน โดยไม่ทอดทิ้งประเทศใดไว้เบื้องหลัง ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน และเพื่ออนาคตของลูกหลานพวกเราทุกคน

ท่านผู้มีเกียรติครับ

๑๐. เราจะต้องเตรียมความพร้อมเหล่านี้กันไว้อย่างไร? เราพร้อมหรือยัง? ทุกประเทศต้องเริ่มจากความมั่นคง มีเสถียรภาพในทุกมิติเป็นปัจจัยหลัก คงจะไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถเผชิญกับภัยคุกคามทั้งหมดได้โดยลำพัง แนวคิดความมั่นคงแห่งชาติ (National Security) ของแต่ละประเทศเพียงอย่างเดียว อาจจะไม่เกิดผลเท่าที่ควรต่อการแก้ปัญหาโดยองค์รวม จะต้องขยายแนวคิดออกไปเป็นความมั่นคงในภูมิภาค (Regional Security) และ ความมั่นคงของโลก (Global Security) ซึ่งจะครอบคลุมถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ อาหาร น้ำ  พลังงานไปจนถึงความมั่นคงทางไซเบอร์ และอื่น ๆ

๑๑. สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับประเด็นความมั่นคงทั้งสิ้น เราควรมาช่วยกันระดมความคิด ส่งเสริม ต่อจิ๊กซอว์ต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์ให้เป็นรูปภาพโลกอันสวยงามของเราให้ได้อย่างรวดเร็ว

ท่านแขกผู้มีเกียรติทั้งหลาย

๑๒. แม้เราจะเผชิญปัญหาต่าง ๆ ที่มีผลต่อความมั่นคง บนโลกใบนี้มากมาย เราจะร่วมกันอย่างไร? ผมคิดว่า หลักการพื้นฐาน คือ  (๑) หนึ่ง เข้าใจกัน (๒) สอง ร่วมมือกัน (๓) สาม สนับสนุนส่งเสริมกัน และ (๔) สี่ ให้โอกาสและสนับสนุนให้ประเทศที่ประสบปัญหาสามารถแก้ปัญหาภายในของตัวเองได้ เพราะปัญหาภายในของแต่ละประเทศหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภายนอกในการแก้ไขด้วยตัวเองอาจทำให้ปัญหาเดิมเหล่านั้น ยิ่งยุ่งยาก บานปลาย มีผลกระทบต่อความมั่นคงของทุกประเทศทั่วโลกอย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้น และกำลังเกิดขึ้นอยู่ในทุกซีกโลกในปัจจุบัน

๑๓. ดังนั้น เราต้องหาจุดดุลยภาพใหม่ให้พบโดยเร็ว จึงจะแก้ปัญหาได้ มิฉะนั้นแล้ว เราล้วนแต่ผู้มีหน้าที่รักษาความมั่นคงก็จะล้มเหลว ทั้งนี้ ในการหาดุลยภาพใหม่ เราจะต้องมีเป้าหมายร่วมกัน (Common Goals) ของความมั่นคงในภูมิภาคและของโลก ซึ่งมีอยู่ ๔ ประการ คือ สันติภาพที่มั่นคง (Secured Peace) / การเจริญเติบโตที่ยั่งยืน (Sustainable Growth) / ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (Shared Prosperity) และ การอนุรักษ์โลก (Saved the Planet) ไปพร้อมกันๆ ด้วย

๑๔. เราจำเป็นต้องสร้างจุดยืนร่วมกัน (Common Ground) เพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกัน (Common Goals) โดยแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่างให้มากที่สุด ทุกประเทศต้องปรับเปลี่ยนทุกกระบวนทัศน์จากการเผชิญหน้า (Confrontation) สู่ความร่วมมือ (Collaboration) ภายใต้แนวคิดที่ว่า จะต้องแข็งแกร่งไปด้วยกัน “Stronger Together” และที่สำคัญต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave No One Behind) จากความขัดแย้ง (Conflict) สู่ความเชื่อมโยง (Coherent) จากผลประโยชน์ร่วม (Common Interest) สู่ค่านิยมร่วม (Shared Value) และจากแนวคิดการแพ้-ชนะ (Zero-Sum Attitude)   สู่แนวคิดการชนะร่วมกัน (Positive Sum Attitude) แบบ Win - Win

๑๕. กระบวนทัศน์ดังกล่าวตั้งอยู่บนหลัก 3 M คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจร่วมกัน (Mutual Trust) ความเคารพซึ่งกันและกัน (Mutual Respect) และ ผลประโยชน์ร่วมกัน (Mutual Benefit)

๑๖. ผมมีความเห็นว่าความร่วมมือในภูมิภาค  ดุลยภาพใหม่ที่เกื้อกูลกันและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผมมีความเห็นว่า แนวทางการปรับสมดุลและการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนในภูมิภาคร่วมกันนั้น จำเป็นต้องอาศัยสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ ๗ ประการ ดังต่อไปนี้

๑๗. หนึ่ง การส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาค ต้องอาศัยเวลาและความคุ้นเคย ดังนั้น ประเทศต่างๆ จึงควรร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับวัฒนธรรม “การให้” ในเอเชีย คือยิ่งให้จะยิ่งได้รับ ตอบแทน ดังนั้น ยิ่งมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ยิ่งได้รับความมั่นคงตอบแทน

๑๘. สอง ความเป็นหุ้นส่วนแบบเหมาะสมและเกื้อกูลกัน เช่น เป็นกลุ่ม หรือแบบไตรภาคี ประเทศในภูมิภาคควรส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนแบบดังกล่าว เช่น ความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่มีระดับการพัฒนาระดับกลางด้วยกันเอง หรือ ความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีระดับ การพัฒนาสูง กับประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่น้อยกว่า หรือ  ประเทศที่เป็นชาติมหาอำนาจร่วมมือ สนับสนุนช่วยเหลือ ประเทศที่พัฒนามาก ประเทศที่กำลังพัฒนา และประเทศที่พัฒนาน้อย ไปพร้อมๆกัน ตามศักยภาพของแต่ละประเทศที่มีอยู่ เพื่อลดช่องว่างระหว่างกันให้มากที่สุดในทุกมิติ

๑๙. สาม การไม่ติดกับดักของการเลือกข้าง หรือแบ่งฝักฝ่าย โลกปัจจุบันเป็นโลกหลายขั้วอำนาจ ประเทศขนาดเล็กและขนาดกลาง จึงจำเป็นต้องคบหามิตรประเทศต่างๆ รอบด้าน และต้องรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นเพื่อสร้างดุลยภาพที่เหมาะสม และ ส่วนใหญ่แล้วนั้นไม่มีใครอยากถูกบังคับให้เลือกข้าง เราอยากได้ความจริงใจและความเข้าใจจากมิตรประเทศทุกประเทศ

๒๐. สี่ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศมหาอำนาจ ที่เป็นผู้เล่นสำคัญในภูมิภาค ควรหาทางร่วมมือกันเสริมสร้างดุลยภาพให้มากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศมหาอำนาจด้วยกันเอง แต่จะเป็นผลดีต่อทุกประเทศในภูมิภาคโดยรวม  จึงจะเรียกได้ว่า เราช่วยกันทำให้โลกใบนี้มีความเท่าเทียมกันได้อย่างแท้จริง   

๒๑. ห้า ประเทศในภูมิภาคควรจะปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาอธิปไตยให้ส่งเสริมซึ่งกันและกันมากขึ้น  ทั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมความมั่นคงร่วมกันในระยะยาว จริงอยู่ ประเทศต่างๆ ยังคงต้องให้ความสำคัญกับนโยบายการป้องกันประเทศ แต่ตัวอย่างของการก่อตั้งอาเซียนเมื่อ ๔๙ ปีที่ผ่านมา และตัวอย่างของการรวมตัวขององค์การความร่วมมือต่างๆ ในทุกภูมิภาคบนโลกใบนี้ ได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงทางเลือกที่ดีกว่า ด้วยการตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการรักษาความมั่นคงร่วมกัน การคำนึงถึงประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ และกติกาสากล ผมคิดว่า นี่คือทิศทางของความมั่นคงที่แท้จริงในอนาคต ให้เส้นเขตแดนเป็นเส้นแห่งความร่วมมือมากกว่าทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น

๒๒. หก การส่งเสริมการพัฒนาควบคู่กับความมั่นคง ความมั่นคงเป็นรากฐานของการสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ในทางกลับกัน ปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ (human security) ก็สามารถบั่นทอนความมั่นคงของประเทศและภูมิภาคได้  ไทยจึงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ การพัฒนาจากภายใน รัฐบาลจึงได้วางรากฐานที่สมดุล มั่นคงและยั่งยืนทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม และดำเนินนโยบาย “ประชารัฐ” เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ  โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีประสบการณ์ด้านการพัฒนากว่า ๔๐ ปี และทรงดำเนินงานพัฒนาโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้ ในปีนี้เป็นโอกาสครบรอบ ๑๐ ปีที่สหประชาชาติได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย “รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ” (UNDP Human Development Lifetime Achievement Award) ในปี ค.ศ. ๒๐๐๖ ซึ่งสอดคล้องกับวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ  

๒๓. ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานกลุ่ม ๗๗ วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๖  ข้อเสนอของผม และของรัฐบาลไทยในที่ประชุมแห่งนั้น คือ ในวันนี้ การทำงานของประเทศไทยไม่ใช่เพื่อประเทศไทยเพียงอย่างเดียว ข้อเสนอเหล่านี้ อยู่บนแนวทางการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศที่สอดคล้องกับวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน ๒๐๓๐ ของสหประชาชาติ และที่สำคัญคือ เป็นการแก้ปัญหาด้วยการพัฒนาไปด้วยกัน ค้นหาศักยภาพของทุกประเทศและช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยไม่ทอดทิ้งประเทศใดประเทศหนึ่งไว้ข้างหลัง และต้องเสริมสร้างบทบาท  ความร่วมมือในอาเซียนและความร่วมมือกับประชาคมอื่น ๆ ได้อย่างมีศักดิ์ศรีในทุกเวทีโลก

๒๔. ผมในฐานะที่เคยรับราชการทหารมากว่า ๓๐ ปี ผมเห็นว่าทหารไม่ควรจำกัดบทบาทเพียงเพื่อการปกป้องอำนาจอธิปไตยของประเทศแต่เพียงอย่างเดียว หากควรมีบทบาทสนับสนุนการพัฒนาประเทศเพื่อช่วยวางรากฐานด้านความมั่นคงที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นบทบาทที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับ ไทยเองได้เข้าร่วมปฏิบัติการกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาชาติของไทยในประเทศต่าง ๆ อาทิ ที่ติมอร์-เลสเต บูรุนดี และซูดาน โดยกองกำลังรักษาสันติภาพของไทยไม่เพียงแต่ทำการสู้รบเท่านั้น แต่ยังได้ช่วยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปเผยแพร่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศเหล่านั้นด้วย

๒๕. เจ็ด สันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคและโลกเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกประเทศ ประเทศไทยสนับสนุนและพร้อมร่วมมือในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคและโลก โดยสันติวิธีบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ และพันธกิจต่าง ๆ ที่มีระหว่างกัน

๒๖. ความท้าทายด้านความมั่นคงที่สำคัญมากและต้องร่วมกันสัมมนาภายใน ๒ วันนี้เพื่อหาดุลยภาพ มีอย่างน้อย ๗ ประเด็น ได้แก่
         
๒๗. ประเด็นแรก ปัญหาความตึงเครียดในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก ประเทศไทยเห็นว่า อาเซียนควรมีเอกภาพในเรื่องนี้เพราะสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่ทางทะเลในภูมิภาค เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกประเทศ ซึ่งทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงความสำคัญที่จะร่วมกันธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ เสรีภาพในการบินผ่าน (freedom of overflight) และ การเดินเรือ (freedom of navigation) ตลอดจนสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ทางทะเลในภูมิภาคโดยสันติวิธีบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้ง กฎหมายทางทะเล (UNCLOS – อันคลอส - United Nations Convention on the Law Of the Sea) ประเทศไทยเห็นว่าการปฏิบัติตาม DOC (ดีโอซี - Declaration on the Conduct of the South China Sea) อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพในทุกข้อบทจะสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเจรจาแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรง และสนับสนุนให้เร่งรัดการจัดทำ COC (ซีโอซี - Code of Conduct on the South China Sea) ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยทั้งนี้ประเทศที่อ้างสิทธิ์ต้องแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง (Political Will) ในการคลี่คลายปัญหาในทุกโอกาส ทุกเวทีความร่วมมือที่มีอยู่ในการพิจารณาหาความเป็นไปได้ของการคลี่คลายปมปัญหานี้

๒๘. ปัญหาในพื้นที่ทางทะเลในภูมิภาค ไม่ควรเป็นเกมส์ที่มีผลแพ้ชนะ (zero sum game) เพราะจะทำลายความสัมพันธ์อันดีที่มีมาอย่างยาวนานและจะไม่มีใครได้รับประโยชน์ในท้ายที่สุด

๒๙. ประเทศในภูมิภาคควรพลิกมุมมองต่อสถานการณ์ในพื้นที่ทางทะเลในภูมิภาคให้เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายในลักษณะ win-win ประเทศไทยขอเสนอให้ประเทศในภูมิภาค ทั้งประเทศที่อ้างสิทธิและไม่ได้อ้างสิทธิในพื้นที่ทางทะเลในภูมิภาค ดำเนินกิจกรรมร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ (Constructive Joint Activities) เพื่อประโยชน์ร่วมกัน โดยเน้นให้มีผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ เราควรพิจารณาว่า ทำอย่างไรจะมีกิจกรรมร่วมของประเทศผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในทางสร้างสรรค์ก่อน โดยกระทำควบคู่กับการเจรจาเพื่อไม่ให้ปัญหาเขตแดนเป็นอุปสรรค ให้เป็นเส้นเขตแดนแห่งความร่วมมือทั้งวันนี้และอนาคตได้อย่างไร

๓๐. ประเด็นที่สอง สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี โครงการอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือยังคงสร้างความตึงเครียดและเป็นข้อห่วงกังวลยิ่งของภูมิภาค ซึ่งควรมีการฟื้นกลไกการปรึกษาหารือ ๖ ฝ่ายเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นและลดความตึงเครียด บนพื้นฐานของหลักการทางการทูตและความอดทนอดกลั้น นอกจากนี้ ประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องควรมีการพิจารณาถึงการเสริมฐานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนและคงช่องทางการปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาลเกาหลีเหนือไว้ในระดับที่เหมาะสม ให้เกาหลีเหนือมีพื้นที่พอในประชาคมโลกที่จะสามารถเอื้อต่อการเจรจาหารือ รวมทั้งสนับสนุนให้เกาหลีเหนือได้ปรับทัศนคติให้ไปกันได้ (compatible) กับประชาคมโลกโดยไม่ถูกโดดเดี่ยว
 
๓๑. ประเด็นที่สาม การก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่ง อาทิ เหตุการณ์การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นหลายแห่งเป็นสิ่งยืนยันว่าการก่อการร้ายข้ามชาติเป็นภัยคุกคามร่วมของภูมิภาคและประชาคมระหว่างประเทศ   เรามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อป้องกันการแพร่ขยายของเหตุการณ์ โดยอาศัยทั้งมาตรการทางด้านการพัฒนาและทางทหาร   ด้วยการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับแนวทางสายกลาง ความรู้และความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนาและชาติพันธุ์ และการแก้ไขที่รากเหง้าของปัญหา อาทิ การขาดโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม ความยากจน ความแห้งแล้ง การละเมิดสิทธิมนุษยชนและ การได้รับความไม่เป็นธรรมรวมถึงความขัดแย้งที่หยั่งรากลึก ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไข การป้องกันและการป้องปรามก็มีโอกาสที่จะเชื่อมโยงกับสถานการณ์ความไม่สงบภายในหลายประเทศ

๓๒. ประเด็นที่สี่ การสะสมอาวุธสงคราม ควรเป็นไปอย่างจำกัดและเท่าที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองอธิปไตย และรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ  ไม่ควรมีไว้เพื่อการรุกราน หรือ ข่มขู่ประเทศอื่นๆ

๓๓. ประเด็นที่ห้า การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ควรเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของประเทศต้นทาง - กลางทาง – ปลายทาง โดยไม่ผลักภาระให้ประเทศใดประเทศหนึ่งต้องแก้ไขปัญหาเพียงลำพัง แนวทางการแก้ปัญหาที่เหมาะสม ควรแก้ไขที่ต้นเหตุ (root causes) โดยช่วยพัฒนาการศึกษา คุณภาพชีวิตเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความอยุติธรรม บนพื้นฐานด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยได้มีส่วนสนับสนุนเรื่องดังกล่าวโดยได้จัดการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียในไทยเพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมกันหารือปัญหา ทั้งนี้ หากไม่แก้ปัญหาอย่างครบวงจร ประเทศที่อยู่กลางทางจะกลายเป็นแหล่งพักคอยของขบวนการค้ามนุษย์โดยทันที/โดยปริยาย

๓๔. ประเด็นที่หก ความมั่นคงทางไซเบอร์ ควรมีการจัดตั้งหน่วยงานติดตามเฝ้าระวังเป็นการเฉพาะในทุกประเทศ และดูแลให้มีกฎหมายเพื่อจัดการในเรื่องนี้ บนมาตรฐานที่สอดคล้องกัน รวมทั้งการสร้างความร่วมมือทั้งทางการข่าวและเทคโนโลยีตลอดจนพัฒนาบุคลากรและการฝึกร่วม ทำอย่างไรจะเกิดความสมดุลในเรื่องสิทธิมนุษยชนกับความมั่นคงในการบังคับใช้กฎหมาย
 
๓๕. และประเด็นสุดท้าย การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)/การบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติและสาธารณภัย การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งและความยั่งยืนของภูมิภาคและโลก เกิดภัยแล้ง น้ำท่วม กระทบต่อภาคเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร ทั้งนี้ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมเป็นสมบัติของโลก ดังนั้น พวกเราจึงต้องช่วยกันดูแลรักษาไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใด ในเรื่องของการบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติและสาธารณภัยประเทศในภูมิภาค  ควรกระชับความร่วมมือ  แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น แพทย์ทหาร หน่วยช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ (Humanitarian Assistance and Disaster Relief) ทหารพัฒนาและทหารช่าง  

ท่านแขกผู้มีเกียรติครับ

๓๖. ความมั่นคงของแต่ละประเทศกับภูมิภาคนั้นมีความสัมพันธ์กัน อนาคตของประเทศไทยจึงเชื่อมโยงกับความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรืองและเสถียรภาพของภูมิภาค ไทยพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนและมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการวางรากฐานเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงที่ยั่งยืนในภูมิภาคทำนองเดียวกัน ความมั่นคงของประเทศไทยก็มีผลกระทบต่อเสถียรภาพในอาเซียนและภูมิภาค ผมจึงขออนุญาตแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแบ่งปันแนวคิดของไทยกับท่าน ดังนี้

๓๗. ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและยั่งยืน กำลังเผชิญกับปัญหาความมั่นคงที่ท้าทายซับซ้อนหลายมิติเช่นเดียวกัน ความมั่นคงของประเทศไทย ถูกสั่งสมด้วยปัญหาความยากจน สังคมเหลื่อมล้ำ ติดกับดักรายได้ปานกลาง ซ้ำเติมด้วยผลผลิตการเกษตรลดลงจากภัยแล้ง และราคาตกต่ำจากภาวะเศรษฐกิจโลก

๓๘. ไทยยังเผชิญกับปัญหาความไม่สงบในบางพื้นที่ ซึ่งเป็นปัญหาภายในของไทย  ไม่ใช่ความขัดแย้งทางศาสนา และยังไม่ปรากฏว่ามีต่างชาติเข้าร่วมด้วย  เรากำลังแก้ไขด้วยกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมตามปกติ และการพัฒนา การสร้างความเข้าใจทุกมิติ

๓๙. นอกจากนี้ ไทยยังมีปัญหาการแบกรับภาระผู้อพยพย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติและจำเป็นต้องใช้แรงงานข้ามชาตินับล้านคน ก่อให้เกิดปัญหาสังคม ปัญหาการค้ามนุษย์ และการทำประมงผิดกฎหมาย รวมทั้ง อาชญากรรม การละเมิดสิทธิมนุษยชน  ซึ่งไทยในรัฐบาลปัจจุบันกำลังเร่งแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้อย่างรวดเร็ว

๔๐. อย่างไรก็ดี ปัญหาที่สำคัญของเรา ที่ส่งผลกระทบมากที่สุด ในห้วงที่ผ่านมา คือความขัดแย้งทางการเมือง การแตกแยกกันของคนในชาติ อย่างไม่เคยมีมาก่อน รากเหง้ามาจากการเมืองที่อ้างประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพไร้ขีดจำกัด อาศัยแต่เพียงรูปแบบ นำไปสู่การบริหารงานที่ขาดธรรมาภิบาล มีการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าเพื่อหวังอะไรก็ตาม นโยบายประชานิยมที่เป็นปัญหา  มีการทุจริตคอรัปชั่นสูง ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง ไม่สามารถตกลงกันได้ ตามวิถีทางประชาธิปไตย ปิดล็อคด้วยกฎหมาย มีการระดมมวลชน การใช้สื่อเลือกข้าง บิดเบือนข้อเท็จจริง จนความขัดแย้งบานปลายสู่ความรุนแรง ละเมิดกฎหมาย และใช้อาวุธต่อสู้กันในที่สุดทำให้เกิดสังคมไร้ระเบียบ ประชาชนหลายกลุ่มเรียกร้องแต่สิทธิเสรีภาพ ไร้ขีดจำกัดของตนเอง ละเมิดสิทธิประชาชนทั่วไป ละเมิดกฎหมาย  การบังคับใช้กฎหมายไม่ได้นำไปสู่การเรียกร้อง ทหารออกมายุติสถานการณ์ แล้วนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ  เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ ประเทศไทยจะเสียดุลจนอาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง  สถานการณ์บังคับให้ผมไม่มีทางเลือก เหลือกระบวนการภายในประการเดียวคือจำเป็นต้องใช้กำลังทหารปลดล็๊อคประเทศที่เป็นสูญญากาศอยู่ในขณะนั้น เพื่อหยุดยั้งความรุนแรง ความเสียหายทางเศรษฐกิจเพื่อให้สังคมเกิดความสงบสุขมีดุลยภาพ และสามารถซ่อมแซมประชาธิปไตยให้เข้มแข็งยั่งยืนเป็นสากลโดยเร็ว  ซึ่งขณะนี้ก็ยังมีการพูดให้ร้ายบิดเบือน ไม่ใช้ข้อเท็จจริงในสื่อโซเชียลมีเดียทั้งในและนอกประเทศโดยบุคคลบางกลุ่ม

๔๑. ความท้าทายของไทยในปัจจุบัน คือ เราจะมีวิธีปฏิบัติในการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไรให้ประชาชนและสังคมโลกเข้าใจว่าในสถานการณ์เช่นนี้ เราไม่ได้ต้องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานแต่อย่างใด แต่มีความจำเป็นต้องใช้ทหารเข้ามาควบคุมสถานการณ์เพียงระยะเวลาหนึ่งเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงและบานปลายมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายและการจัดระเบียบสังคมเกิดผล ทั้งนี้ การดำเนินการทุกอย่างในปัจจุบันจะต้องอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย ทุกคนต้องเคารพกฎหมายทุกกฎหมายก่อน การบังคับใช้กฎหมายจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการกระทำผิดกฎหมาย การดำเนินการตามเงื่อนไขนี้จึงมิได้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพียงแต่มีเส้นแบ่งที่ใกล้เคียงกันมาก เจ้าหน้าที่ต้องถูกลงโทษหากกระทำผิดเองโดยเจตนา

๔๒. สิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาอยู่ คือ การรักษาความสงบเรียบร้อย การพยายามแก้ปัญหาการเมืองเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยและสร้างความปรองดองของคนในชาติ  การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนไทยและต่างชาติ ทั้งภายในและต่างประเทศ กำหนดให้ปัญหาการทุจริตคอรัปชัน  เป็น “วาระแห่งชาติ” ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย เป็นสากล ปฏิรูประบบราชการ จัดระเบียบสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาประเทศให้มีความเข้มแข็งจากภายในและสร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือน ถึงระดับชาติ โดยใช้แนวทางประชารัฐ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนเข้ามาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ต้นเหตุ และรองรับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ไทยยังมุ่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อก้าวพ้นกับดักของประเทศรายได้ปานกลางและพร้อมเข้าสู่โลกอุตสาหกรรมยุคที่ ๔ (Industry 4.0) อย่างยั่งยืนด้วยนโยบาย Thailand 4.0 โดยการส่งเสริมปรับปรุงให้ทันสมัย สำหรับอุตสาหกรรมเดิม ๕ ประเภทและส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ที่ไทยมีศักยภาพอีก ๕ ประเภทด้วย

ท่านผู้มีเกียรติครับ

๔๓. จะเห็นได้ว่า ในการสร้างดุลยภาพใหม่ให้กับประเทศไทย มีเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินการด้วยกัน และไม่สามารถทำทุกอย่างให้สำเร็จในเวลาอันจำกัด ผมจึงต้องมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีเหมือนกับหลายประเทศ เราอยากให้มิตรประเทศอยู่ในประวัติศาสตร์ของไทยด้วย และ Roadmap ระยะที่หนึ่ง สอง และ สาม อะไรที่ยังไม่เสร็จก็จะส่งต่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต่อไป แต่ระยะแรกนี้ ผมจำเป็นต้องทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุขมั่นคงก่อน จึงจะปฏิรูปด้านอื่นๆ  สร้างดุลยภาพใหม่ได้ ผมยืนยันว่า ขณะนี้ ประเทศไทยจะคืนสู่ประชาธิปไตยตาม Roadmap ที่วางไว้ทุกประการ โดยประเทศไทยยังคงยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยและพันธกรณีตามกฏกติกาของสังคมโลกเช่นเดิมเสมอมา ผมคิดว่าเวทีนี้อาจใช้บางอย่างที่ผมกล่าวมาให้เป็นประโยชน์ได้

๔๔. โดยสรุป ดุลยภาพและความเข้มแข็งของไทยจะช่วยรักษาและส่งเสริมดุลยภาพของอาเซียนให้เข้มแข็งยั่งยืนซึ่งมีส่วนในการสร้างดุลยภาพใหม่ให้กับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก การเสริมสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนในภูมิภาคต้องอาศัยระยะเวลา ความไว้เนื้อเชื่อใจและเจตนารมย์ทางการเมืองจากทุกประเทศที่เกี่ยวข้องบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน การเคารพในอำนาจอธิปไตยและกฎหมายระหว่างประเทศ ร่วมถึงไม่นำประเด็นเรื่องอุดมการณ์ของตนเองมาเป็นเงื่อนไขและอุปสรรคต่อความร่วมมือระหว่างกัน  ผมคิดว่าควรมองจากข้างนอกเข้ามาข้างในก่อน  จะเห็นปัญหาและวิธีการบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสมพร้อมกันแก้ปัญหาจากภายในไปสู่ภายนอก

๔๕. ความมั่นคงที่สมดุลหรือมีดุลยภาพและยั่งยืนนั้น ควรมีลักษณะรอบด้าน ได้แก่ ความมั่นคงทางทหารและความมั่นคงเพื่อการพัฒนา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการพัฒนาให้ประชาชนมีความมั่นคงปลอดภัยและเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน

๔๖. ผมเชื่อมั่นว่าเอเชีย-แปซิฟิกกว้างใหญ่ไพศาลพอที่เราจะร่วมกันสร้างดุลยภาพ ใหม่ทางยุทธศาสตร์ และเจริญรุ่งเรืองไปด้วยกัน ไทยพร้อมเป็นหุ้นส่วนและมีบทบาทที่สร้างสรรค์เพื่อเสริมสร้างความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในภูมิภาคโดยไม่ทิ้งผู้ใด

๔๗. สุดท้ายนี้ ผมคิดว่า ธรรมนูญของ UNESCO (ยูเนสโก - องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ) ระบุไว้เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเราทุกคนต้องทำ เพื่อให้เกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืน คือ “ในเมื่อเหตุแห่งสงครามมีแหล่งที่มาจากในจิตใจของคน ดังนั้น จึงต้องสร้างสันติภาพให้บังเกิดขึ้นในจิตใจของคน” (That since war begins in the minds of men, it is the minds of men that the defences of peace must be constructed.)

ขอบคุณครับ
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ