รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย ระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ครั้งที่ ๕

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย ระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ครั้งที่ ๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 เม.ย. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,420 view
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเข้าร่วมการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย ระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ครั้งที่ ๕ (The 5th meeting of the Ministers of Foreign Affairs of the Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia—CICA) ระหว่างวันที่ ๒๗ – ๒๘ เมษายน ๒๕๕๙ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเอเชียด้วยการเสวนา” (Promoting Peace, Security, Stability and Sustainable Development in Asia through Dialogue)
 
ในที่ประชุมดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถึงการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงว่า ไม่สามารถแยกออกจากความอยู่ดีกินดีทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ความมั่นคงและการพัฒนาเป็นดังสองด้านของเหรียญเดียวกันที่เสริมกันและกัน ประเทศไทยจึงเสนอให้มิติด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (Confidence Building Measures—CBMs) ของกรอบความร่วมมือ CICA นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้กล่าวถึงกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation) อันเป็นแบบอย่างของความร่วมมือที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงด้วย
 
ตามที่สหประชาชาติได้อนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ เมื่อปี ๒๕๕๘  ประเทศสมาชิก CICA ซึ่งต่างเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติ สามารถศึกษาแนวทางทางเลือกเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าว ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้นำเสนอหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งประเทศไทยในฐานะการเป็นประธานกลุ่ม ๗๗ และกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dilogue—ACD) พร้อมจะแบ่งปันประสบการณ์และแนวทางการประยุกต์ใช้ให้กับประเทศสมาชิก ตลอดจนเป็นสะพานเชื่อมระหว่างกลุ่มประเทศที่มีความแตกต่าง เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ในฐานะประธานการประชุม ได้กล่าวสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว โดยเห็นว่า ประเทศสมาชิก CICA ควรมีส่วนร่วมในการผลักดันวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน อันจะนำไปสู่การส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคต่อไป
 
ที่ประชุมได้ร่วมกันรับรองปฏิญญาภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเอเชียด้วยการเสวนา” (Promoting Peace, Security, Stability and Sustainable Development in Asia through Dialogue) ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมสถานการณ์การเมืองและความมั่นคงของภูมิภาค อาทิ สิทธิมนุษยชน การก่อการร้าย ภัยคุกคามและความท้าทายรูปแบบใหม่ ตลอดจนได้ขยายมิติความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและตระหนักถึงแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง ทั้งนี้ ปฏิญญาดังกล่าวยังได้เน้นย้ำความเป็นหุ้นส่วนกันในระดับโลกในการแปลงวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนไปสู่แผนการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนให้ประเทศสมาชิกเปิดกว้างในการศึกษาแนวทางทางเลือกในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย
 
CICA ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๓๕ ปัจจุบัน CICA มีสมาชิกทั้งสิ้น ๒๖ ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน อาเซอร์ไบจาน บาห์เรน บังกลาเทศ กัมพูชา จีน อียิปต์ อินเดีย อิหร่าน อิรัก อิสราเอล จอร์แดน คาซัคสถาน คีร์กีซ มองโกเลีย ปากีสถาน ปาเลสไตน์ กาตาร์ เกาหลีใต้ รัสเซีย ทาจิกิสถาน ไทย ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อุซเบกิสถาน และเวียดนาม โดยไทยได้เข้าเป็นสมาชิกเมื่อปี ๒๕๔๗ และมีบทบาทที่สร้างสรรค์มาโดยตลอด อาทิ การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับ Special Working Group –Senior Official Committee ในปี ๒๕๕๐ และปี ๒๕๕๗ การเป็นผู้ประสานงานร่วมในมิติเศรษฐกิจ และการจัดทำแผนงานหลักสูตรการอบรมด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้แก่สมาชิก CICA อย่างต่อเนื่อง
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ