รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเยือน อินเดียอย่างเป็นทางการ และเข้าร่วมการประชุม Delhi Dialogue ครั้งที่ ๗

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเยือน อินเดียอย่างเป็นทางการ และเข้าร่วมการประชุม Delhi Dialogue ครั้งที่ ๗

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 มี.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,503 view

                                   พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ และเข้าร่วมการประชุม Delhi Dialogue ครั้งที่ ๗ เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๘ ตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย โดยการเยือนครั้งนี้ ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

๑)     การหารือทวิภาคีกับฝ่ายอินเดีย

                                   ในการพบหารือกับนางศุษมา สวราช (Mrs.  Sushma Swaraj) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ทั้งสองฝ่ายได้ทบทวน ติดตาม และผลักดันความร่วมมือที่สำคัญๆ ในระดับทวิภาคี และระดับภูมิภาค ให้มีความคืบหน้าและมีผลเป็นรูปธรรม

ในด้านการเมืองและความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-อินเดีย (Joint Commission Meeting) ครั้งที่ ๗ ในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๘ โดยเป็นวาระที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นประธานร่วมการประชุมครั้งนี้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ทั้งนี้ อินเดียได้แสดงความเข้าใจต่อสถานการณ์การเมืองของไทย

ในด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อการค้าและการลงทุนที่มีศักยภาพในการเติบโตได้อีกและเห็นควรเร่งรัดการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี ไทย-อินเดีย เพื่อสร้างบรรยากาศการค้า การลงทุนที่ดีระหว่างประเทศทั้งสอง นอกจากนี้ ฝ่ายอินเดียได้แสดงความสนใจในการมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก/เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งไทยพร้อมจะจัด Roadshow เพื่อให้ข้อมูลแก่นักลงทุนอินเดียในเรื่องนี้

ในด้านสังคม ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงการที่ทั้งสองประเทศเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของกันและกัน ซึ่งเห็นได้จากปริมาณนักท่องเที่ยวระหว่างกันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายอินเดียขอบคุณไทยที่ได้ให้การดูแลนักท่องเที่ยวอินเดียที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยเป็นจำนวนมากในแต่ละปี และได้เสนอให้ไทยเปิดเที่ยวบินตรงไปยังอินเดียมากขึ้น อาทิ เมือง

กูวาฮาติ รัฐอัสสัม ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือทางด้านวิชาการ โดยไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์ในสาขาที่มีความเชี่ยวชาญ อาทิ การบริหารจัดการการท่องเที่ยว

๒)     การพบหารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินเดีย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือกับนายมาโนฮาร์ ปาร์ริการ์ (Mr. Manohar Parrikar)  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินเดีย ตามที่ฝ่ายอินเดียขอพบ โดยทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันถึงความสัมพันธ์ทางทหารที่ราบรื่นและมีความร่วมมือที่แข็งขันและใกล้ชิดมาโดยตลอด โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกัน ซึ่งในส่วนของฝ่ายไทย ปลัดกระทรวงกลาโหมมีกำหนดการนำคณะมาเยือนอินเดียภายในเดือนมีนาคมนี้ และฝ่ายไทยขอเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินเดียไปเยือนไทย

๓)     การประชุม Delhi Dialogue ครั้งที่ ๗

                  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม Delhi Dialogue ครั้งที่ ๗ ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับอินเดีย โดยเน้นถึงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่อินเดียมีต่ออาเซียน และเสนอว่าอินเดียสามารถเป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกกลางของอาเซียน ขณะเดียวกันประเทศไทยก็พร้อมที่จะเป็นประตูสู่อาเซียนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับอินเดีย ทั้งนี้ ไทยประสงค์ให้มีการเร่งรัดการก่อสร้างโครงการถนนสามฝ่าย ไทย-เมียนมาร์-อินเดีย ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วเพื่อเป็นการส่งเสริมความเชื่อมโยง (connectivity) ระหว่างอินเดียกับอาเซียน ซึ่งจะช่วยในการขยายการค้าขายและการลงทุนระหว่างกัน
อันจะเป็นการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-อินเดียในด้านเศรฐกิจเชิงสร้างสรรค์ซึ่งจะตอบสนองความต้องการของทั้งสองฝ่ายอีกด้วย

ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับอินเดียที่ผ่านมา ๖๗ ปี มีความราบรื่นและใกล้ชิด ไม่มีประเด็นขัดแย้งกัน มีนโยบายต่างประเทศที่สอดรับกัน คือ ไทยดำเนินนโยบายมุ่งตะวันตก (Look West Policy) และให้ความสำคัญกับอินเดียในฐานะมหาอำนาจในภูมิภาคและมีศักยภาพที่จะเป็นมหาอำนาจในเวทีโลก เป็นตลาดการค้าที่มีศักยภาพมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียใต้ ส่วนอินเดียมีนโยบายมุ่งตะวันออก (Look East Policy)  และรัฐบาลอินเดียชุดปัจจุบันมีนโยบาย Act East Policy เพื่อต่อยอดและตอกย้ำการให้ความสำคัญกับความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและอาเซียน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ