วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ส.ค. 2557
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๗ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวเปิดการสัมนาและการกล่าวปาฐกถาพิเศษในการสัมนาใหญ่เรื่อง “AEC and SMEs Challenges: Next Step (Phase 5) ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน กรุงเทพฯ ซึ่งจัดโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับคณะกรรมการ AEC Prompt หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมนาจากจำนวน 550 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ คณะทูตานุทูต ผู้ประกอบการ SMEs และผู้แทนหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ
ปลัดกระทรวงการต่าง ประเทศ ได้กล่าวปาฐกถาภายใต้หัวข้อ “การเชื่อมโยงอาเซียนกับ ๖ ประเทศ” โดยเน้นความสำคัญของความเชื่อมโยง (Connectivity) ซึ่งมีความหลากหลายและหลายมิติ ทั้งในด้านการคมนาคม เศรษฐกิจ กฎระเบียบ และระหว่างประชาชน และได้กล่าวถึงความเชื่อมโยง ใน ๔ ประเด็น ได้แก่
๑. ความเชื่อมโยงกับการเปิดศักราชใหม่ของเศรษฐกิจไทย โดยส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ตลอดระเบียงการขนส่ง (transport corridor) ให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจอย่างแท้จริง โดยส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศจีน ญี่ปุ่นและอินเดีย เป็นต้น เพื่อให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของ ภูมิภาค โดยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ และเป็นศูนย์กลางเศษฐกิจของภูมิภาคในอนาคต
๒. การมองความเชื่อมโยงให้ไกลกว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไปสู่การเป็นประชาคม เศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (East Asia Economic Community) ซึ่งอาเซียนจำเป็นต้องมองไกลเกินกว่าการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี ๒๕๕๘ เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์สำหรับอาเซียนภายหลังปี ๒๕๕๘ (Post-2015 vision) โดยต่อยอดความสำเร็จจากการทำความตกลงการค้าเสรีที่อาเซียนทำกับประเทศคู่ค้า ทั้ง ๖ ประเทศ และพัฒนาการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP)
๓. ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของภูมิภาคกับการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาค โดยมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งเมื่อประเทศต่างๆ มีความเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้งแล้ว โอกาสที่จะเผชิญหน้าและขัดแย้งกันก็จะลดลงไป ดังนั้น การส่งเสริมการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจจึงเป็นหนึ่งในหนทางไปสู่สันติภาพอย่าง ถาวรของภูมิภาค
๔. ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคทำให้มีความจำเป็นที่ต้องส่งเสริม SMEs เพื่อเป็นเครื่องจักรสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของไทยในอนาคต ซึ่งภาครัฐได้ให้การสนับสนุน SMEs อย่างต่อเนื่องและปัจจุบัน ได้ผลักดันให้ SMEs เป็นวาระแห่งชาติ ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการทูตทางเศรษฐกิจ (Economic Diplomacy) โดยมีการจัดตั้ง “ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์” เพื่อให้ข้อมูลและคำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะทำธุรกิจในต่างประเทศ และกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นกับทุกภาคส่วนเพื่อส่ง เสริมความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs ไทย เพื่อให้ได้รับประโยชน์เต็มที่จากการเชื่อมโยงและการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่ กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาค
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **