วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ก.พ. 2557
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สาธารณรัฐเอสโตเนีย
Republic of Estonia
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางตะวันออกของทวีปยุโรป ทิศเหนือติดอ่าวฟินแลนด์
ทิศตะวันตกติดทะเลบอลติก ทิศตะวันออกติดรัสเซีย
ทิศใต้ติดลัตเวีย
พื้นที่ ๔๕,๒๒๖ ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงทาลลินน์ (Tallinn)
ประชากร ๑.๓ ล้านคน (ปี ๒๕๕๕)
ภูมิอากาศ หนาวเย็น อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ ๕.๒ องศาเซลเซียส โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในเดือนกุมภาพันธ์ที่ -๕.๒ องศาเซลเซียส และอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดในเดือนกรกฎาคมที่ ๑๖.๔ องศาเซลเซียส
ภาษาราชการ ภาษาเอสโตเนียน
ศาสนา คริสต์กรีกออร์ธอร์ด็อกซ์ร้อยละ ๑๖.๑๕ นิกายลูเธอร์แรน ร้อยละ ๙.๙๑
ศาสนาและนิกายอื่นๆ ร้อยละ ๑๙.๘ และไม่นับถือศาสนาร้อยละ ๕๔.๑๔
หน่วยเงินตรา ยูโร (Euro)
อัตราแลกเปลี่ยน ๑ ยูโร เท่ากับประมาณ ๔๕.๓๒ บาท
(ณ วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๖)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ๒๒.๓๙ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี ๒๕๕๕)
รายได้ประชาชาติต่อหัว ๑๖,๗๑๗ ดอลลาร์สหรัฐ (ปี ๒๕๕๕)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ ๔.๐ (ปี ๒๕๕๕)
ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขซึ่งไม่มีอำนาจในการบริหาร ดำรงตำแหน่งวาระ ๕ ปี ได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกรัฐสภา (Riigikogu) ซึ่งมีสมาชิก ๑๐๑ คน อยู่ได้ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน ปัจจุบันนายทูมัส เฮนดริก อิลเวส (Toomas Hendrik IIves) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นวาระที่ ๒ โดยได้รับเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ ๒๕๕๔ เอสโตเนียมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล (Executive power) ปัจจุบัน นายอันดรุส อันซิฟ (Andrus Ansip) ผู้นำพรรค Reform Party ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ติดต่อกันเป็นสมัยที่ ๓ ตั้งแต่ ปี ๒๕๔๘ และจะครบวาระในปี ๒๕๕๘
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
๑. ความสัมพันธ์ทั่วไป
๑.๑ การทูต
ไทยและเอสโตเนียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๓๕ (ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ครบรอบ ๒๑ ปี) โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม มีเขตอาณาครอบคลุมเอสโตเนีย ปัจจุบัน รัฐบาลเอสโตเนียแต่งตั้งให้นายอันเดรส อุงก้า (Andres Unga) เป็นเอกอัครราชทูตเอสโตเนียประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงทาลลินน์ (Tallinn) สาธารณรัฐเอสโตเนีย และแต่งตั้งนายวีระชัย เตชะวิจิตร์ เป็นกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์เอสโตเนียประจำกรุงเทพฯ และนางสาวปิยะนุช หงษ์หยก เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์เอสโตเนียประจำจังหวัดภูเก็ต
๑.๒ การเมือง
เอสโตเนียประสงค์ที่จะทำให้ประเทศตนเป็นที่รู้จักมากขึ้นในเวทีโลก และพยายามกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งประเทศไทยที่เป็นจุดหมายท่องเที่ยวหลักของชาวเอสโตเนีย
ปัจจุบัน ไทยและเอสโตเนียมีการประชุม Political Consultation เป็นกลไลเพื่อพัฒนาและติดตาม
ความร่วมมือระหว่างสองประเทศ โดยได้มีการจัดประชุมครั้งแรกเมื่อ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ณ กรุงทาลลินน์ ระหว่างรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศของไทยและเอสโตเนีย
ความสัมพันธ์ทางการเมืองในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น เห็นได้จากการพบหารือของนายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่าย ในการประชุมผู้นำ ASEM ครั้งที่ ๙ ที่นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ซึ่งเป็นการพบระดับผู้นำครั้งที่สอง (นายกรัฐมนตรีเอสโตเนียและ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เคยพบหารือกันในระหว่างการประชุมผู้นำ ASEM ครั้งที่ ๖ ที่กรุงเฮลซิงกิ สาธารณรัฐฟินแลนด์ เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๙) และยังมีการพบหารือในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอีก ๗ ครั้ง ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ เป็นต้นมา โดยเมื่อวันที่ ๒๕-๒๘ เมษายน ๒๕๕๖ นายอูรมาส ไปป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเอสโตเนีย ได้เยือนประเทศไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการเยือนไทยครั้งแรกของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเอสโตเนีย และล่าสุด ระหว่างวันที่ ๖-๘ กันยายน ๒๕๕๖ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เยือนเอสโตเนียอย่างเป็นทางการ และนับเป็นการเยือนเอสโตเนียครั้งแรกในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย
๑.๓ เศรษฐกิจ
๑.๓.๑ การค้า
เอสโตเนียเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ ๑๐๔ ของไทย และเป็นคู่ค้าลำดับที่ ๒๑ ของไทยในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป โดยในปี ๒๕๕๕ มีมูลค่าการค้ารวม ๙๖.๓๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงจากปี ๒๕๕๔ ร้อยละ ๒๒.๙๒) ไทยส่งออก ๗๓.๔๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า ๒๒.๙๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เปรียบดุลการค้า ๕๐.๔๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าที่ไทยส่งออกไปเอสโตเนีย ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และปลาแห้ง สินค้าที่ไทยนำเข้าจากเอสโตเนีย ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ ยานยนต์ สินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องดนตรี ของเล่น และเครื่องกีฬา เป็นต้น
๑.๓.๒ การลงทุน
ปัจจุบันมีโครงการลงทุนของเอสโตเนียที่ได้รับอนุมัติจาก BOI จำนวน ๑ โครงการ (บริษัท MR.JENS POLD ผลิต Software) ในปี ๒๕๕๔ คิดเป็นมูลค่ารวม ๑.๙ ล้านบาท (ร่วมทุนกับเยอรมนี) ในส่วนของไทยไม่ปรากฏข้อมูลว่ามีการลงทุนของไทยในเอสโตเนีย
๑.๓.๓ การท่องเที่ยว
จากจำนวนประชากรเอสโตเนีย ๑.๓ ล้านคน มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทย จำนวน
๑๑,๐๓๗ คน (ปี ๒๕๕๕) หรือคิดเป็นร้อยละ ๐.๙ ของจำนวนประชากร (ปี ๒๕๕๔ มีจำนวน ๙,๘๙๐ คน) สำหรับในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม ๒๕๕๖ มีนักท่องเที่ยวเอสโตเนียเดินทางมาไทย จำนวน ๔,๖๕๒ คน และคาดว่าเมื่อถึงสิ้นปีน่าจะมีจำนวนมากกว่าปี ๒๕๕๕
๒. ความตกลงกับไทย
๒.๑ ความตกลงว่าด้วยการโอนตัวนักโทษ (ลงนามเมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๓)
๒.๒ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเอสโตเนีย (ลงนามเมื่อ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๗)
๒.๓ พิธีสารว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยกับกระทรวงการต่างประเทศเอสโตเนีย (ลงนามเมื่อ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๓)
๒.๔ ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเอสโตเนียว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับหนังสือเดินทางทูต (ลงนามเมื่อ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๕)
๒.๕ ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเอสโตเนียว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมและการศึกษา (ลงนามเมื่อ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๕)
๒.๖ อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๕)
๓. การเยือนที่สำคัญ
๓.๑ ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
- วันที่ ๒๒ สิงหาคม – ๓ กันยายน ๒๕๔๒ เสด็จเยือนเกาะกรีนแลนด์ ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย เป็นการส่วนพระองค์ (เอสโตเนีย ระหว่างวันที่ ๓๐ สิงหาคม – ๑ กันยายน ๒๕๕๑
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ ๖ – ๘ กันยายน ๒๕๕๖ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนเอสโตเนีย ตามคำเชิญของนายอูรมาส ไปป์ (Urmas Paet) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเอสโตเนีย
๓.๒ ฝ่ายเอสโตเนีย
นายกรัฐมนตรี / รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ ๒๖ – ๒๘ กันยายน ๒๕๓๖ นาย Mart Laar เยือนไทย โดยเป็นแขกของกระทรวงการต่างประเทศ โดยได้เข้าเยี่ยมคารวะ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี และหารือกับ นายศุภชัย พาณิชภักดิ์ และ นาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ ๒๔ – ๒๘ เมษายน ๒๕๕๖ นายอูรมาส ไปป์ (Urmas Paet) เยือนไทย โดยเป็นแขกของกระทรวงการต่างประเทศ โดยได้หารือกับ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และนายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา
--------------------
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **