รัฐเอกราชซามัว

รัฐเอกราชซามัว

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ก.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 18,094 view

รัฐเอกราชซามัว
Independent State of Samoa

ข้อมูลทั่วไป

ซามัวเป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ อยู่ใกล้กับหมู่เกาะคุก กึ่งกลางระหว่างมลรัฐฮาวายของสหรัฐอเมริกาและนิวซีแลนด์ ประกอบด้วยเกาะใหญ่ 2 เกาะ คือ Savai’i และ Upolu และเกาะเล็กๆ อีกจำนวน 7 เกาะ ตั้งอยู่ในแนวเขตภูเขาไฟ ภูมิประเทศเป็นเกาะหินภูเขาไฟ (ทั้งที่สงบลงแล้วและยังปะทุอยู่) และภูมิอากาศแบบร้อนชื้น โดยซามัวมักประสบภัยจากพายุไต้ฝุ่น

พื้นที่ 2,944 ตารางกิโลเมตร มีเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 120,000 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงอาปีอา (Apia) มีประชากรประมาณ 40,000 คน (ปี 2553)

ประชากร 195,476 คน (ก.ค. 2556)

เชื้อชาติ ซาโมน (Samoan) ร้อยละ 92.6 ผสมระหว่างชาวยุโรปกับชาวโพลินีเชีย ร้อยละ 7 ยุโรป ร้อยละ 0.4

ศาสนา คริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ ร้อยละ 59.9 และนิกายโรมันคาทอลิค ร้อยละ 19.6

ภาษา ซาโมน และอังกฤษ

หน่วยเงินตรา ตาลา (Tala) หรือดอลลาร์ซามัว

วันชาติ 1 มกราคม (ซามัวได้รับเอกราชจากนิวซีแลนด์ภายใต้ภาวะทรัสตีของสหประชาชาติปี 2505 หรือ ค.ศ.1962)

ผลิตภณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ประมาณ 677.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2555)

GDP/คน 3,882 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2555)

อัตราการเติบโตของ GDP ร้อยละ 1.2 (ปี 2555)

อุตสาหกรรมที่สำคัญ ประมง เกษตรกรรม และท่องเที่ยว

ตลาดส่งออก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น

ตลาดนำเข้า ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน และฟิจิ

สินค้าส่งออก ปลา น้ำมันมะพร้าว เนื้อมะพร้าวแห้ง เผือก ผลิตภัณฑ์จากผลโนนิ สิ่งทอ และเบียร์

สินค้านำเข้า เครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับอุตสาหกรรม อาหารแปรรูป

ภูมิศาสตร์และประชากร

ซามัวตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอเมริกันซามัว ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตองกาและฟิจิ มีป่าไม้ค่อนข้างหนาแน่น ประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายโพลินีเชีย (Polynesian) และบางส่วนเป็นเยอรมันและจีน ชาวซามัวจำนวนมากอพยพไปตั้งถิ่นฐานในต่างประเทศ โดยคาดว่ามีชาวซามัวในนิวซีแลนด์ประมาณ 130,000 คน และในออสเตรเลียประมาณ 40,000 คน

ประวัติศาสตร์
ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อพยพเข้ามาอยู่ในหมู่เกาะซามัวมากกว่า 2,000 ปีมาแล้ว และได้ขยายการตั้งถิ่นฐานไปหมู่เกาะต่างๆ ทางทิศตะวันออก ชาวซามัวเริ่มรู้จักกับชาวยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 18 และมีความสัมพันธ์มากขึ้นเมื่อมิชชันนารีและพ่อค้าชาวอังกฤษเข้ามาในช่วงปี 2373 (ค.ศ. 1830) ต่อมา ในช่วงศตวรรษที่ 20 หมู่เกาะซามัวถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ซามัวตะวันออก ซึ่งเป็นอาณาเขต (territories) ของสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2447 (ค.ศ. 1904) (ปัจจุบันคือ อเมริกันซามัว) และซามัวตะวันตก ซึ่งเป็นอาณาเขตของเยอรมนี ซึ่งต่อมา ถูกปกครองโดยนิวซีแลนด์ภายใต้ภาวะทรัสตีของสหประชาชาติตั้งแต่ปี 2457 (ค.ศ. 1914) จนกระทั่งซามัวได้รับเอกราชในปี 2505 (ค.ศ. 1962) ซามัวเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกที่ได้รับเอกราช

ซามัวเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติในปี 2519 (ค.ศ. 1976) และเป็นที่รู้จักในชื่อ “ซามัว” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ซามัวตะวันตกได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ซามัว” อย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม 2540 (ค.ศ. 1997)

การเมืองการปกครอง

ซามัวมีระบอบการปกครองแบบรัฐสภา (สภาเดี่ยว) ที่มีชื่อเรียกว่า โฟโน (Fono) ประกอบด้วยสมาชิก 49 คน โดย 47 คนมาจากการเลือกตั้ง และอีก 2 คนมาจากการแต่งตั้งจากเผ่ามาไต (Matai) มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี ประมุขของรัฐมีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ โดยรัฐบาลซามัวจะใช้อำนาจบริหารผ่านคณะรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจำนวน 12 คน ประมุขของรัฐได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสภาและมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี

ประมุขรัฐ สมเด็จตุยเอทัว ทูพัว ทามาเซเซ เอฟี (His Highness Tui Atua Tupua Tamasese Efi) ได้รับเลือกตั้งจากรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2550 มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี (ได้รับตำแหน่งต่อจาก H.H. Malietoa Tanumafili II ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วเมื่อต้นปี 2550)

ฝ่ายบริหาร
- นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คือ นายตุยลาเอปา อาวีโอโน ซาอีเลเล มาลีเอเลงอย (Tuilaepa Aviono Sailele Malielegaoi) ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 4 


สถานการณ์ทางการเมือง
ซามัวเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองมากที่สุดในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2554 พรรครัฐบาลปัจจุบัน (Human Rights Protection Party-HRPP) สามารถครองที่นั่งในสภาถึง 36 ที่นั่งจากทั้งหมด 49 ที่นั่ง ถือเป็นพรรคการเมืองที่เป็นพรรครัฐบาลมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา (นับตั้งแต่ปี 2525) ทั้งนี้ การเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2555 และจะกำหนดจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2560

เศรษฐกิจการค้า

ในอดีตซามัวเคยเป็นประเทศที่พึ่งพาเงินช่วยเหลือและความช่วยเหลือด้านการพัฒนาจากต่างชาติและการส่งออกสินค้าเกษตร แต่ปัจจุบันซามัวกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในแปซิฟิก โดยมีเกษตรกรรม การท่องเที่ยวและการประมงเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญ  อย่างไรก็ตาม ชาวซามัวส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพื่อการยังชีพ สินค้าเกษตรที่สำคัญต่อการส่งออก คือ ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว (กะทิและน้ำมันมะพร้าว) สาเก กล้วย โกโก้ เผือกและน้ำจากผลโนนู (น้ำโนนิ)  ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภาคการประมงของซามัวเติบโตอย่างรวดเร็ว

จากการพัฒนาทางเศรษฐกิจของซามัวทำให้ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2550 ที่ประชุมคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (UN Economic and Social Council-ECOSOC) ได้มีมติรับรองรายงานของCommittee on Development Policy (CDP) ที่อนุมัติให้ซามัวเลื่อนระดับจากกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุดไปอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้ ล่าสุดรัฐบาลซามัวมีมาตรการการควบคุมเงินเฟ้อที่ดีทำให้ในปี 2553 อัตตราเงินเฟ้อของซามัวอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ลดลงจากปีที่ผ่านมา และในปี 2554 IMF ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจซามัวจะเติบโตขึ้นประมาณร้อยละ 2.8 หลังจากในปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 0 และในปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ -5.5 แต่ทั้งนี้ รัฐบาลซามัวยังคงขาดดุลการคลังติดต่อกันเป็นเวลามากกว่า 10 ปี โดยในปี 2553 ขาดดุลการคลัง 65.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซามัวยังเป้นประเทศที่ได้รับเงินที่ส่งกลับมาซามัว (remittance) มากที่สุดของประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก โดยในปี 2553 ได้รับประมาณ 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การต่างประเทศ

ซามัวมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนิวซีแลนด์ เนื่องจากซามัวเคยเป็นประเทศในอาณานิคมของนิวซีแลนด์ และภายหลังการประกาศเอกราช ทั้งสองประเทศก็ลงนามใน Treaty of Friendship ซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศในปัจจุบัน โดยสนธิสัญญาดังกล่าวระบุว่า “นิวซีแลนด์จะให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ ด้านบริหาร และอื่นๆ แก่ซามัว และรัฐบาลทั้งสองจะหารือกันในเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสนใจร่วมกัน” ซามัวให้ความสำคัญกับสนธิสัญญานี้ เนื่องจากนิวซีแลนด์เป็นผู้ให้สำคัญและเป็นเครื่องยืนยันความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ

ในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค ซามัวพยายามมีบทบาทนำในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับในกลุ่มแปซิฟิกมากนัก โดยเห็นได้จากการลงคะแนนเสียงในตำแหน่งเลขาธิการกลุ่ม Africa Caribbean and Pacific (APC) ระหว่างการประชุมผู้นำ PIF ครั้งที่ 35 ซึ่งซามัวเป็นเจ้าภาพนั้น นาย Pa’o Luteru ผู้สมัครของซามัว ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่อาวุโสของ APC อยู่แล้วนั้น พ่ายแพ้ให้แก่ Sir John Kaputin ผู้สมัครจากปาปัวนิวกินี ด้วยคะแนนห่างกันถึง 11 ต่อ 3 นอกจากนี้ ซามัวยังเป็นสมาชิก Pacific Islands Forum (PIF), South Pacific Community (SPC), Forum Fisheries Agency, SOPAC, USC และเป็นที่ตั้งของสำนักงานของ the South Pacific Regional Environment Program ACP

ในกรอบพหุภาคี ซามัวเป็นสมาชิกในองค์การสหประชาชาติและมีบทบาทนำด้านการเปลี่ยนแปลงของอากาศใน Alliance of Small Island States (AOSIS) รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลฝรั่งเศสกรณีทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในแปซิฟิกในช่วงต้นปี 2539 (ค.ศ. 1996) นอกจากนี้ ในปี 2543 ซามัวเข้าร่วมในการรักษาสันติภาพในติมอร์ตะวันออก โดยส่งตำรวจจำนวน 25 นายเข้าร่วมปฏิบัติการกับสหประชาชาติ โดยในเดือนสิงหาคม 2548 รัฐบาลซามัวได้มีมติที่จะเข้าร่วมรักษาสันติภาพในไลบีเรีย ติมอร์ตะวันออก และหมู่เกาะโซโลมอนกับสหประชาติ โดยมีแผนจะส่งทหารไปยังโซโลมอนจำนวน 10 นาย ไลบีเรียจำนวน 4 ราย และติมอร์ตะวันออกจำนวน 3 ราย

นอกจากนี้ นาย Tuiloma Neroni Slade อดีต เอกอัครราชทูตประจำคณะผู้แทนถาวรซามัวใน UN ยังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา International Criminal Court (ICC) ในปี ค.ศ. 2003 และดำรงตำแหน่งเลขาธิการ PIF ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 ปัจจุบันซามัวมีสถานะเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ของ WTO และกำลังดำเนินการสมัครเข้าเป็นสมาชิกในปี 2554

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัฐเอกราชซามัว

ความสัมพันธ์ทางการเมือง
ไทยกับซามัวสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2521 โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน มีเขตอาณาครอบคลุมซามัว สำหรับซามัวได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา มีเขตอาณาครอบคลุมไทย ล่าสุดทราบว่ามีคนไทยอาศัยอยู่ในซามัวประมาณ 10 คน โดยส่วนมากประกอบอาชีพเป็นลูกจ้างบริษัทและแรงงาน

ไทยเน้นการกระชับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีและพหุภาคี เนื่องจากซามัวเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในภูมิภาคแปซิฟิกใต้และเป็นที่ตั้งของสำนักงานภูมิภาคของหลายองค์กร กอปรกับซามัวเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 11 ของไทยในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ ไทยยังได้มอบความช่วยเหลือด้านการพัฒนาผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการฝึกอบรมประจำปีภายใต้กรอบ Thai International Cooperation Programme (TICP) แก่ซามัวและประเทศสมาชิก (PIF) อีกจำนวน 13 ประเทศด้วย โดยตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมามีผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจากซามัวแล้วจำนวน 5 คน

ในเดือนมกราคม 2549 ไทยได้บริจาคเงินจำนวน 20,000 ดอลลาร์นิวซีแลนด์เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากพายุเฮตา (Heta) และในเดือนกันยายน 2552 ไทยได้บริจาคเงินจำนวน 15,000 ดอลลารสหรัฐให้แก่ซามัวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากคลื่นสึนามิ

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
มูลค่าการค้ารวมระหว่างซามัวกับไทยยังมีไม่มากนัก สาเหตุเนื่องมาจากระยะทางในการขนส่ง และสินค้าไทยบางส่วนที่นำเข้าไปขายในซามัวถูกนำเข้าจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างไทยและซามัวมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี 2555 มีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 13.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกเป็นมูลค่า 11.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนมากเป็น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำตาลทราย สายไฟ สายเคเบิ้ล ผลิตภัณฑ์พลาสติก ส่วน ไทยนำเข้าสินค้าจากซามัวคิดเป็นมูลค่า 1.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยนำเข้า สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ผ้าผืน ไทยเกินดุลการค้าเป็นมูลค่า 10.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การหารือทวิภาคีระหว่างฝ่ายไทย-ซามัว
-  นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือข้อราชการกับนายตุยลาเอปา ซาอีเลเล มาลิเอเลงอย (Tuila’epa Sa’ilele Mailielegaoi) นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซามัวที่สนามบินกรุงพอร์ตมอ์สบี ประเทศปาปัวนิวกินี ในระหว่างการเดินทางเข้าร่วมประชุม Post-Forum Dialogue (PFD) ครั้งที่ 17 ของเวที PIF ครั้งที่ 37 ที่ประเทศปาปัวนิวกินี ในเดือนตุลาคม 2548

การเยือนของผู้นำระดับสูง
- นายเอโนคาติ โพซาลา มานูอาเลซากาลาลา (Enokati Posala Manu'alesagalala) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานซามัว (Ministry of Works, Transport and Infrastructure) เดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 (2nd Asia Pacific Water Summit – 2nd APWS) ระหว่างวันที่ 19 – 20 พฤษภาคม 2556 ที่จังหวัดเชียงใหม่

*********************************************

สถานะ ณ กรกฎาคม 2556
กองแปซิฟิกใต้ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2203-5000 ต่อ 13028 โทรสาร. 0-2643-5127 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-20130712-130230-408071.pdf