วันที่นำเข้าข้อมูล 1 พ.ค. 2556
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี
ข้อมูลทั่วไป
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) ตั้งอยู่ทางเหนือของคาบสมุทรเกาหลี ทิศเหนือ
ติดกับจีนและรัสเซียทิศตะวันออกติดกับทะเลตะวันออก (ทะเลญี่ปุ่น) ทิศตะวันตกติดกับทะเลตะวันตก (ทะเลเหลือง) และทิศใต้ติดกับสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)
พื้นที่ 120,540 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 55 ของพื้นที่คาบสมุทรเกาหลี
ประชากร ประมาณ ๒๔.๕๘ ล้านคน (ประมาณการปี ๒๕๕๕)
เมืองหลวง กรุงเปียงยาง
เมืองที่สำคัญ ฮัมฮึง ชองจิน วอนซาน ชินึยจู นัมโพ และแคซอง
สมาชิกสหประชาชาติ 17 กันยายน 2534
GDP 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (2554)
GDP ต่อหัว รายได้ต่อหัว 1,800 ดอลลาร์สหรัฐ (2554)
เงินตราต่างประเทศ 100 วอน ต่อ 22.23 บาท (เมษายน 2556)
ภูมิอากาศ มี 4 ฤดู คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว
เอกอัครราชทูตไทย โดยมีถิ่นพำนักที่กรุงปักกิ่ง (ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศจีนด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง)
เอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือ นายอัน ซง นัม (H.E. An Song Nam)
ผู้นำประเทศ นายคิม จง อุน (Kim Jong Un)
ประธานสภาบริหารสูงสุดของสภาประชาชนสูงสุด นายคิม ยอง นาม (Kim Yong Nam)
นายกรัฐมนตรี นายปัก พง จู (Pak Pong Ju)
รัฐมนตรีต่างประเทศ นายปัก อึย ชุน (Pak Ui Chun)
การเมืองการปกครอง
เกาหลีเหนือ มีการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์บนพื้นฐานของลัทธิจูเช่ (Juche) โดยมีพรรคการเมืองพรรคเดียวคือพรรคคนงาน (Workers’ Party) ซึ่งปกครองประเทศมาโดยตลอดตั้งแต่สถาปนาประเทศเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2491 พรรคคนงาน (Workers’ Party of Korea) เป็นองค์กรที่มีบทบาทและอิทธิพลสูงสุดทางการเมือง มีอำนาจควบคุมหน่วยงานของรัฐบาลในการบริหารประเทศตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปกครองประเทศของเกาหลีเหนือ โดยมีสภาบริหารสูงสุด (Presidium) ของสภาประชาชนสูงสุดเกาหลีเหนือ (Supreme People's Assembly) เป็นองค์กรนิติบัญญัติสูงสุดของประเทศ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 687 คน มาจากการเลือกตั้ง และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี
ในด้านการบริหาร (Executive Branch) รัฐบาลเกาหลีเหนือทำหน้าที่บริหารประเทศภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมาธิการป้องกันประเทศ (National Defense Commission) โดยมีนายกรัฐมนตรี (ปัจจุบันคือนายปัก พง จู) เป็นผู้นำรัฐบาล ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยสภาประชาชนสูงสุดเกาหลีเหนือ หน่วยงานในคณะรัฐมนตรีประกอบด้วย 26 กระทรวง และ 9 หน่วยงานเทียบเท่าระดับกระทรวง และเกาหลีเหนือแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 จังหวัด (Provinces) และ 2 เขตปกครองโดยตรง (Directly-governed cities)
เศรษฐกิจ
เกาหลีเหนือมีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจโดยมีการควบคุมและวางแผนเศรษฐกิจทั้งหมด
มาจากส่วนกลาง และยึดถืออุดมการณ์ลัทธิจูเช่ของพรรคคนงานเกาหลีมาเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศอย่างเคร่งครัด การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจจะมุ่งเน้นความเป็นเอกภาพ การพึ่งพาตนเอง เกียรติภูมิของชาติ และการสร้างความเจริญให้กับประเทศ ทั้งนี้ พรรคแรงงานได้ประกาศหลักการ “ขบวนการม้าบิน” (Chollima Movement) ในปี 2501 ที่กระตุ้นให้ประชาชนขยันขันแข็งในการทำงานเร่งเพิ่มผลผลิต โดยเฉพาะผลิตผลด้านการเกษตร
รัฐบาลเกาหลีเหนือได้พยายามดำเนินนโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศโดยได้เปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยใช้แนวคิดในลักษณะเดียวกับสาธารณรัฐประชาชนจีน บริเวณใกล้พรมแดนจีนและรัสเซียเรียกว่า ‘Rajin-Sonbong Free Trade Zone’ (FTZ) หรือเรียกย่อว่า “ราซอน” (Rason) และเขต
เขตปกครองพิเศษชินึยจู (Sinuiju Special Administrative Region) ขึ้นบริเวณพรมแดนเกาหลีเหนือ-จีน ตรงข้ามกับเมืองต่านตง มณฑลเหลียวหนิงของจีน เพื่อเป็นเขตผ่อนผันให้กับนักลงทุนต่างชาติผ่านเข้าออกได้โดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตรา มีการลดภาษีศุลกากรและมีสิ่งจูงใจอื่น ๆ เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในเขตดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากจีนและรัสเซียเป็นหลัก
นับตั้งแต่การประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ระหว่างนายคิม จอง-อิล ผู้นำเกาหลีเหนือกับนายคิม แด-จุง (Kim Dae-jung) อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ในปี 2543 เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ได้ร่วมกันส่งเสริมโครงการนิคมอุตสาหกรรมแกซอง (Gaeseong Industrial Complex- GIC) ตั้งอยู่เหนือเขตปลอดทหาร (Demilitarized Zone) ประมาณ 10 กม. โดยมีเส้นทางรถไฟ และถนนเชื่อมโยงกับเกาหลีใต้ ซึ่งมีบริษัทจากเกาหลีใต้เข้าไปลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว อาทิ บริษัทผลิตเครื่องใช้ในครัว เสื้อผ้า รองเท้า อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ นิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวประสบปัญหาอย่างหนักจากความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี
1. ความสัมพันธ์ทางการทูต
ไทยและเกาหลีเหนือเริ่มแลกเปลี่ยนการติดต่อในด้านการค้าและกีฬาอย่างไม่เป็นทางการ ในปี 2515 ต่อมาในวันที่ 8 พฤษภาคม 2518 ไทยและเกาหลีเหนือได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันและมีการแลกเปลี่ยนเอกอัครราชทูตระหว่างกันในเวลาต่อมา โดยเอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือประจำสหภาพพม่า (ในขณะนั้น) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือประจำประเทศไทย และฝ่ายไทยได้แต่งตั้งให้เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำเกาหลีเหนือ ต่อมา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2534 เกาหลีเหนือได้ยกระดับสำนักงานผู้แทนการค้าของเกาหลีเหนือในกรุงเทพฯ (ที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2522) เป็นสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีประจำประเทศไทย
2. ความสัมพันธ์ทางการเมือง
เอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือประจำประเทศไทยคนปัจจุบันคือ นายอัน ซง-นัม (An Song Nam) และเอกอัครราชทูตไทยประจำเกาหลีเหนือคนปัจจุบันคือนายวิบูลย์ คูสกุล โดยมีถิ่นพำนักที่กรุงปักกิ่ง (ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศจีนด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง)
ในโอกาสครบรอบ 30 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2548 ไทยและเกาหลีเหนือได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสองประเทศ และได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการหารือและความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อ 27 สิงหาคม 2548 และต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 35 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเกาหลีเหนือ ทั้งสองประเทศได้มีการแลกเปลี่ยนสารแสดงความยินดีในระดับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
3. ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทย-เกาหลีเหนือมีแนวโน้มลดลงเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2550 โดยในปี 2555 มีมูลค่าการค้ารวม 62.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า สินค้าส่วนใหญ่ที่ไทยส่งไปเกาหลีเหนือ ได้แก่ ยางพารา ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เคมีภัณฑ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก และสินค้าที่ไทยนำเข้าจากเกาหลีเหนือ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกล ลวดและสายเคเบิล แผงวงจรไฟฟ้า ในด้านการลงทุนของไทยในเกาหลีเหนือ บริษัทล็อกซ์เล่ย์ได้ร่วมทุนกับบริษัทของฟินแลนด์และไต้หวันจัดตั้งบริษัทล็อกซ์เล่ย์ แปซิฟิค (LOXPAC) ดำเนินกิจการโทรคมนาคมในเขตเศรษฐกิจพิเศษรา-ซอน (Rason)
4. ความร่วมมือทางวิชาการ
สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) ได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมดูงานในสาขาต่าง ๆ ให้แก่ผู้รับทุนชาวเกาหลีเหนือในไทย ตั้งแต่ปี 2541 ที่สำคัญ ได้แก่ (๑) ความร่วมมือทางวิชาการในรูปแบบทวิภาคี โดยมีการจัดฝึกอบรมหลักสูตรฝึกอบรมด้านการค้าระหว่างประเทศและหลักสูตรฝึกอบรมด้านการคมนาคม (๒) ความร่วมมือในกรอบการฝึกอบรมประเทศที่สาม (Third Country Training Program) สพร. ได้ให้ความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) จัดการฝึกอบรม/ดูงานด้านการสาธารณสุขให้แก่เกาหลีเหนือ
5. สังคมและวัฒนธรรม
ไทยและเกาหลีเหนือมีการแลกเปลี่ยนการติดต่อและการดำเนินกิจกรรมทางด้าน
วัฒนธรรมในสาขาต่าง ๆ ระหว่างกันบ้าง เช่น ความตกลงด้านวัฒนธรรม ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2545 โครงการแลกเปลี่ยนเยาวชน โครงการแลกเปลี่ยนสื่อมวลชน กีฬา รวมทั้ง มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกรมสารนิเทศของกระทรวงการต่างประเทศไทยกับเกาหลีเหนือ
*****************
กองเอเชียตะวันออก 4
กรมเอเชียตะวันออก
เมษายน 2556
กองเอเชียตะวันออก 4 กรมเอเชียตะวันออก โทร. 0 2203-5000 ต่อ 14492 Fax. 0 2643 5208
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **