การประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting – ASEM)

การประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting – ASEM)

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 มิ.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 42,646 view

ภูมิหลัง
1. สิงคโปร์และฝรั่งเศสได้ริเริ่มการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting – ASEM) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นเวทีสำหรับผู้นำประเทศเอเชียและประเทศยุโรปพบปะหารือเกี่ยวกับ ประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสนใจ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ ขยายความร่วมมือ และเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกัน ASEM โดยเป็นเวทีสำหรับการหารือ (dialogue) มากกว่าการเจรจา เพื่อให้มีผลบังคับใช้เป็นรูปธรรม โดยครอบคลุม 3 เสาหลัก ได้แก่ 1) การเมือง 2) เศรษฐกิจ และ 3) สังคม วัฒนธรรม และอื่นๆ ทั้งนี้ ASEM เป็นกรอบความร่วมมือระดับผู้นำกรอบเดียวระหว่างภูมิภาคเอเชียและภูมิภาค ยุโรปในขณะนี้
2. ปัจจุบัน ASEM ประกอบด้วยสมาชิก 46 ประเทศ และ 2 องค์การ ได้แก่ ประเทศสมาชิกฝ่ายยุโรป 27 ประเทศ ประเทศสมาชิกฝ่ายเอเชีย 16 ประเทศ ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ และกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียใต้ (Northeast and South Asia – NESA) 6 ประเทศ ประเทศสมาชิกฝ่าย Temporary Third Category 3 ประเทศ และองค์การระดับภูมิภาค 2 องค์การ
3. ASEM ไม่มีสำนักเลขาธิการ แต่ประสานงานผ่านผู้ประสานงาน (Coordinator) ปัจจุบัน ผู้ประสานงานฝ่ายยุโรป ได้แก่ ประธานสหภาพยุโรป (เดนมาร์ก) และ กระทรวงการต่างประเทศ EU (European External Action Service - EEAS) กลุ่มอาเซียน ได้แก่ สปป. ลาว (วาระ 2 ปี และครบวาระในปี 2555) และกลุ่ม NESA ได้แก่ ปากีสถาน (วาระ 1 ปี และครบวาระในปี 2556)
4. การประชุมผู้นำ ASEM กำหนดจัดขึ้นทุก 2 ปี โดยประเทศสมาชิก ASEM ฝ่ายยุโรปและฝ่ายเอเชียสลับกันเป็นเจ้าภาพ ทั้งนี้ การประชุมผู้นำ ASEM ได้จัดขึ้นแล้ว 8 ครั้ง โดยการประชุมผู้นำ ASEM 1 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 – 2 มีนาคม 2539 ณ กรุงเทพฯ ล่าสุด การประชุมผู้นำ ASEM 8 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 – 5 ตุลาคม 2553 ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม และการประชุมผู้นำ ASEM 9 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 - 6 พฤศจิกายน 2555 ณ เวียงจันทน์

ASEM 1 เมื่อวันที่ 1 – 2 มี.ค. 2539 ณ กรุงเทพฯ ASEM 2 เมื่อวันที่ 3 – 4 เม.ย. 2541 ณ กรุงลอนดอน
ASEM 3 เมื่อวันที่ 19 – 21 ต.ค. 2543 ณ กรุงโซล ASEM 4 เมื่อวันที่ 22 – 24 ก.ย. 2545 ณ กรุงโคเปนเฮเกน
ASEM 5 เมื่อวันที่ 7 – 9 ต.ค. 2547 ณ กรุงฮานอย ASEM 6 เมื่อวันที่ 10 – 11 ก.ย. 2549 ณ กรุงเฮลซิงกิ
ASEM 7 เมื่อวันที่ 24 – 25 ต.ค. 2551 ณ กรุงปักกิ่ง ASEM 8 เมื่อวันที่ 4 – 5 ต.ค. 2553 ณ กรุงบรัสเซลส์
ASEM 9 จะจัดวันที่ 5 - 6 พฤศจิกายน 2555 ณ เวียงจันทน์
 
5. ความร่วมมือด้านการเมือง
5.1 การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ ASEM (Foreign Ministers’ Meeting – ASEM FMM) ในอดีต การประชุม ASEM FMM ได้จัดขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ASEM FMM 6 เมื่อวันที่ 17 – 18 เมษายน 2547  ณ เมือง Kildare ไอร์แลนด์ ได้มีมติให้จัดการประชุม ASEM FMM ขึ้นทุก 2 ปี โดยจัดสลับกับการประชุมผู้นำ ASEM ทั้งนี้ การประชุม ASEM FMM ได้จัดขึ้นแล้ว 10 ครั้ง โดยการประชุม ASEM FMM 10 ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 7 มิถุนายน 2554 ณ กรุงบูดาเปสต์ และการประชุม ASEM FMM 11 จะจัดขึ้นในปี 2556 ณ อินเดีย
5.2 การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ASEM (Senior Officials’ Meeting – ASEM SOM) กำหนดที่จะจัดขึ้นตามความจำเป็น อย่างน้อยที่สุดปีละ 2 ครั้ง ก่อนการประชุม ASEM FMM และการประชุมผู้นำ ASEM การประชุม ASEM SOM ครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27-27 ตุลาคม 2554 ณ กรุงโตเกียว เพื่อพิจารณาเรื่อง ASEM Working Methods และการขยายสมาชิกภาพ ASEM ซึ่งยังเป็นประเด็นสำคัญที่คั่งค้างของ ASEM และการประชุมครั้งต่อไปจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 มีนาคม 2555 ณ กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก เพื่อเตรียมความพร้อมการจัดการประชุม ASEM 9
5.3 นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือด้านการเมือง อาทิ การประชุม ASEM Conference on Counter-Terrorism ซึ่งได้จัดขึ้นแล้ว 9 ครั้ง โดยการประชุมฯ ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 12-13 ธ.ค. 2554 ณ  เมืองยอกยาการ์ตา อินโดนีเซีย และการประชุม Informal ASEM Seminar on Human Rights ได้จัดขึ้นแล้ว 11 ครั้ง ล่าสุด การประชุมฯ ครั้งที่ 11 ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2554 ณ กรุงปราก สาธารณรัฐเชก และการประชุมฯ ครั้งที่ 12 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 มิถุนายน 2555 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี

6. ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ
6.1 การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ASEM (ASEM Economic Ministers’ Meeting – EMM) กำหนดที่จะจัดขึ้นทุก 2 ปี ทั้งนี้ การประชุม ASEM EMM ได้จัดขึ้นแล้ว 6 ครั้ง โดยการประชุม ASEM EMM 6 ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 – 17 กันยายน 2548 ณ เมือง Rotterdam เนเธอร์แลนด์
6.2 การประชุมรัฐมนตรีคลัง ASEM (ASEM Finance Ministers’ Meeting – ASEM FinMM) ได้จัดขึ้นแล้ว 9 ครั้ง โดยการประชุม ASEM FinMM 9 ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 – 18 เมษายน 2553 ณ กรุงมาดริด สเปน ล่าสุด สิงคโปร์เสนอที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEM FinMM 10 (รอยืนยัน)
6.3 การประชุมรัฐมนตรีธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ASEM (ASEM Small and Medium Enterprises (SMEs) Ministerial Meeting) ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2550 ณ กรุงปักกิ่ง และเมือง Qingdao สาธารณรัฐประชาชนจีน
6.4 การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการค้าและการลงทุน ASEM (Senior Officials’ Meeting on Trade and Investment – ASEM SOMTI) ได้จัดขึ้นแล้ว 11 ครั้ง โดย ASEM SOMTI 11 ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 – 16 เมษายน 2551 ณ เมือง Maribor ประเทศสโลวีเนีย ล่าสุด ได้มีการจัดการประชุม Informal ASEM SOMTI เมื่อวันที่ 15 – 16 กุมภาพันธ์ 2554 ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม และ สปป. ลาวได้เสนอที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEM SOMTI 12 (รอยืนยัน)
6.5 การประชุมรัฐมนตรีพลังงาน ASEM (ASEM Ministerial Conference on Energy Security) ได้จัดขึ้นแล้ว 1 ครั้ง โดยการประชุมฯ ครั้งที่ 1 ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 – 18 มิถุนายน 2552 ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม
6.6 การประชุมรัฐมนตรีคมนาคม ASEM (ASEM Transport Ministers’ Meeting) ได้จัดขึ้นแล้ว 2 ครั้ง โดยการประชุมฯ ครั้งที่ 1 ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 – 20 ตุลาคม 2552 ณ กรุงวิลนีอุส ประเทศลิทัวเนีย และการประชุมฯ ครั้งที่ 2 ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 - 26 ตุลาคม 2554 ณ เมืองเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน                 
6.7 การประชุมอธิบดีศุลกากร ASEM (ASEM Customs Directors General / Commissioners’ Meeting) ได้จัดขึ้นแล้ว 9 ครั้ง โดยการประชุมฯ ครั้งที่ 1 ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิถุยายน 2539 ณ เมือง Shenzhen สาธารณรัฐประชาชนจีน และการประชุมฯ ครั้งที่ 9 ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11–13 ตุลาคม 2554 ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
6.8 นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการคลัง อาทิ ASEM Anti Money Laundering Initiative Official Launch เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2545 ณ กรุงเทพฯ และการประชุมสภาธุรกิจเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Business Forum – AEBF) ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 4 – 5 ตุลาคม 2553 ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม

7. ความร่วมมือด้านสังคม วัฒนธรรม และอื่นๆ
7.1 การประชุมรัฐมนตรีวัฒนธรรม ASEM (ASEM Cultural Ministers’ Meeting) ได้จัดขึ้นแล้ว 4 ครั้ง โดยการประชุมฯ ครั้งที่ 4 ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 – 10 กันยายน 2553 ณ เมือง Poznan โปแลนด์ และการประชุมฯ ครั้งที่ 5 จะจัดขึ้นในปี 2555 ณ อินโดนีเซีย
7.2 การประชุมรัฐมนตรีศึกษาธิการ ASEM (ASEM Education Ministers’ Meeting) ได้จัดขึ้นแล้ว 3 ครั้ง โดยการประชุมฯ ครั้งที่ 3 ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 10 พฤษภาคม 2554 ณ กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก และการประชุมฯ ครั้งที่ 4 จะจัดขึ้นในปี 2556 ณ มาเลเซีย
7.3 การประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม ASEM (ASEM Environment Ministers’ Meeting) ได้จัดขึ้นแล้ว 3 ครั้ง โดยการประชุมฯ ครั้งที่ 3 ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 - 26 เมษายน 2550 ณ กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์กและ             การประชุมฯ ครั้งที่ 4 จะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2555 ณ กรุงอูลานบาตอร์ มองโกเลีย (รอยืนยัน)
7.4 การประชุมรัฐมนตรีแรงงาน ASEM (ASEM Labour and Employment Ministers’ Meeting) ได้จัดขึ้นแล้ว 3 ครั้ง โดยการประชุมฯ ครั้ง 3 ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 14 ธันวาคม 2553 ณ เมือง Leidenเนเธอร์แลนด์ และการประชุมฯ ครั้งที่ 4 มีกำหนดจะจัดขึ้นในปี 2555 ณ เวียดนาม (รอยืนยัน)
7.5 การประชุมรัฐมนตรีเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ASEM (ASEM Information and Communication Technology (ICT) Ministerial Meeting) ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2549 ณ กรุงฮานอย เวียดนาม
7.6 การประชุม ASEM Interfaith Dialogue (ASEM IFD) ได้จัดขึ้นแล้ว 7 ครั้ง โดยไทยร่วมกับเนเธอร์แลนด์เป็นเจ้าภาพการประชุม ASEM IFD 4 เมื่อวันที่ 3 – 5 มิถุนายน 2551 ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ล่าสุด การประชุม ASEM IFD 7 ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 14 ตุลาคม 2554 ณ กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์

สถานะล่าสุด
1. ที่ประชุมผู้นำ ASEM 8 เมื่อวันที่ 4 – 5 ตุลาคม 2553 ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม ภายใต้หัวข้อหลัก “Achieving Greater Wellbeing and More Dignity for all Citizens” ได้รับรองเอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่ 1) ถ้อยแถลงของประธาน (Chair’s Statement) เรื่อง Greater well-being and more dignity for all citizens และ 2) แถลงการณ์ของผู้นำ (Leaders’ Declaration) เรื่อง Global economic Crisis: Towards more effective global economic governance นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้นำ ASEM 8 ได้รับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และรัสเซีย เป็นสมาชิก ASEM อย่างเป็นทางการ


ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับแนวทางในการร่วมกันแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและ การเงินโลก ซึ่งมุ่งเน้นความร่วมมือและมาตรการที่จะช่วยส่งเสริมการบริหารเศรษฐกิจโลก โดยคำนึงถึงการที่สาธารณรัฐเกาหลีและฝรั่งเศสจะเป็นประธานกลุ่ม G20 และเจ้าภาพการประชุม G20 ระหว่างวันที่ 11 – 12 พฤศจิกายน 2553 ณ กรุงโซล ทั้งนี้ ประเทศสมาชิก ASEM จำนวน 4 ใน 5 ประเทศ เป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และจำนวนถึง 12 ประเทศเป็นสมาชิกกลุ่ม G20
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นว่า ASEM ควรจะมีบทบาทในทางสร้างสรรค์ โดยเน้นย้ำเจตนารมณ์ร่วมกัน รวมทั้งความสำคัญของการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน การเปิดเสรีทางการค้า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแก้ไขปัญหาความเสี่ยงของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การปฏิรูปสถาบันและองค์กรการเงินระหว่างประเทศ และการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ตลอดจนการส่งสัญญาณที่มีความหมายต่อที่ประชุมผู้นำ G20 ซึ่งประชาคมระหว่างประเทศมีความคาดหวังว่า จะสามารถขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจกิจการเงินของโลกอย่างเป็นธรรมได้

อนึ่ง นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงและแสดงข้อคิดเห็น โดยให้ความสำคัญต่อประเด็น ดังนี้
- การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจควรกระทำควบคู่ไปกับการพัฒนา และเน้นย้ำว่า การประชุม G20 ควรให้ความสำคัญต่อประเด็นการพัฒนา
- ความเชื่อมโยงของ 3 เสาหลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้แก่ การพัฒนาสังคม การพัฒนาทางเศรษฐกิจ การรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และเห็นว่า การสนับสนุนให้มีโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเป็นเรื่องที่สำคัญในการสร้าง ความเท่าเทียมและการสร้างความเชื่อมโยงในอาเซียน
- การที่ยุโรปมีความเชี่ยวชาญด้านระบบสวัสดิการและการจัดการเรื่องปัญหาผู้หลบ หนีเข้าเมืองโดยผิดกฏหมายซึ่งน่าจะมีการแบ่งปันความรู้ได้
- ไทยในฐานะ IBL ในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ให้ความสำคัญ และประสงค์จะผลักดันให้มีกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEM Conference on Food Security ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ประเทศไทย
- ไทยให้ความสำคัญ และสนับสนุนกระบวนการเจรจาการค้าในระเบียบวาระโดฮาว่าด้วยการพัฒนา และการเจรจาที่การประชุมภายใต้กรอบกระบวนการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ เมืองแคนคูน
- ASEM มีการติดต่อและกิจกรรมแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนอยู่แล้ว รวมทั้งการหารือเรื่อง Interfaith Dialogue จึงสนับสนุนให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป และชื่นชมเบลเยียมที่จัดกิจกรรมคู่ขนานที่ให้หลายภาคส่วนมีส่วนร่วม อาทิ สมาชิกรัฐสภา ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน สำหรับอนาคตของ ASEM นั้น คงจะขยายสมาชิกภาพต่อไปอีก จึงเห็นว่า ASEM อาจจะต้องหาวิธีการที่จะให้ ASEM ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และควรจะต้องพิจารณาว่าการมีกลไกหรือสถาบันใน ASEM จะช่วยให้การทำงานมีความต่อเนื่องระหว่างประธาo การประชุมและผู้ประสานงานเพื่อให้มีการประสานงานที่ดีขึ้นได้หรือไม่

นอกจากนี้ หน่วยงานต่างๆ ของเบลเยียมได้จัดกิจกรรมคู่ขนาน ในโอกาสที่เบลเยียมจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำ ASEM 8 ดังนี้
- นิทรรศการ “A Passage to Asia: 25 Centuries of Exchange between Asia and Europe”  – Centre for Fine Arts / Palais des Beaux Arts (CFA / BOZAR) ได้จัดนิทรรศการดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน – 10 ตุลาคม 2553 ณ CFA / BOZAR โดย CFA / BOZAR ได้เชิญประเทศสมาชิก ASEM ฝ่ายเอเชียนำโบราณวัตถุร่วมจัดแสดงในนิทรรศการดังกล่าว และนายกรัฐมนตรีเบลเยียมได้เชิญผู้นำประเทศสมาชิก ASEM รวมทั้ง นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมเป็นสมาชิก Patronage Committee ซึ่งเบลเยียมได้จัดตั้งเพื่อส่งเสริมเกียรติภูมิและคุณค่าของนิทรรศการ และเพื่อเป็นกลไกขยายการประชาสัมพันธ์นิทรรศการดังกล่าว
อนึ่ง เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 5 ตุลาคม 2553 นายกรัฐมนตรีได้ร่วมเยี่ยมชมนิทรรศการดังกล่าว ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศและกรมศิลปากรได้นำโบราณวัตถุไทยร่วมจัดแสดง จำนวน 13 ชิ้น และนายกรัฐมนตรีได้ร่วมเป็นสมาชิก Patronage Commitee
- การประชุม Asia-Europe Business Forum (AEBF) – Federation of Enterprises in Belgium (FEB) ได้จัดการประชุม AEBF เมื่อวันที่ 4 – 5 ตุลาคม 2553 ภายใต้หัวข้อหลัก “Globalization of Financial Services: Opportunities and Challenges for Asia and Europe” เพื่อเป็นเวทีสำหรับการหารือระหว่างผู้บริหารระดับสูง (CEO) ของภาคธุรกิจการเงินในภูมิภาคเอเชียและยุโรป โดยได้เชิญนางสาวนวพร มหารักขกะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศ เป็นผู้บรรยาย (panelist) ในหัวข้อ Restoring Financial Stability ในการประชุม AEBF และนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ เข้าร่วมการประชุม AEBF และ Working Breakfast
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2553 นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วม Working Breakfast ระหว่างผู้นำประเทศสมาชิก ASEM กับ CEO ของภาคธุรกิจการเงินในภูมิภาคเอเชีย-ยุโรปที่เข้าร่วมการประชุม AEBF
- การประชุม Asia-Europe Parliamentary Partnership Meeting – รัฐสภาเบลเยียมได้จัดการประชุมดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 – 28 กันยายน 2553 (เลื่อนจาก 30 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2553) ณ รัฐสภาเบลเยียม โดยนายสามารถ แก้วมีชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง นายไพโรจน์ ตันบรรจง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
- การประชุม Asia-Europe People’s Forum – กระทรวงการต่างประเทศเบลเยียม คณะกรรมการองค์การระหว่างประเทศเบลเยียม และ NGOs เบลเยียมได้จัดการประชุมดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 – 5 ตุลาคม 2553 ไดยได้กำหนดหัวข้อสำหรับการประชุมฯ คือ Trade and Development (Millennium Development Goals), Decent Work (ILO Jobs Pact), Food Sovereignty (Agriculture and Regional Markets) และ Environmental Crisis (Climate Change)

2. ที่ประชุม ASEM FMM 10 เมื่อวันที่ 6-7 มิถุนายน 2552 ณ กรุงบูดาเปลต์ ฮังการี ได้รับรองเอกสาร Chair’s Statement ภายใต้หัวข้อ “Working together on non-traditional security challenges” ที่ประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับพัฒนาการในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานการณ์ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ หารือเกี่ยวกับสิ่งท้าทายความมั่นคงในรูปแบบใหม่ เช่น ความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติ ความปลอดภัยของการใช้พลังงานนิวเคลียร์ และการต่อต้านการก่อการร้าย และประเด็นระดับโลกต่างๆ เช่น การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ การพัฒนาอย่างยั่งยืน การปฏิรูปสหประชาชาติ การส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการลดอาวุธและการป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ และเห็นว่าแม้เศรษฐกิจโลกอยู่ระหว่างการฟื้นตัว แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ซึ่งทำให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต้องอาศัยความร่วมมือในระดับโลก โดยสหภาพยุโรปเห็นความสำคัญที่จะต้องเพิ่มพูนการค้ากับเอเชีย ส่วนจีนเห็นว่าการปฏิรูปกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ควรให้บทบาทแก่ประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นว่าความร่วมมือใน ASEM ควรเน้นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม เช่น การจัดการภัยพิบัติ นอกจากนี้ ยังเห็นชอบที่จะจัดตั้งกลุ่ม Chairman Support Group (CSG) เพื่อปรับปรุงวิธีการดำเนินงานของ ASEM

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงความพร้อมของไทยที่จะมีบทบาท ในเวทีโลกมากขึ้นในเรื่องความท้าทายความมั่นคงในรูปแบบใหม่ เช่น  การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและภัยพิบัติโดยเสนอให้ท่าอากาศยานอู่ ตะเภาเป็นศูนย์กระจายความช่วยหลือและจัดการภัยพิบัติและฝึกอบรมในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของศูนย์ประสานงานด้านความช่วยเหลือมนุษยธรรมอา เซียน (ASEAN Coordination Centre for Humanitarian Assistance – AHA) ที่อินโดนีเซีย และศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Center – ADPC) ที่ประเทศไทย ทั้งนี้ ไทยมีศักยภาพในการผลิตอาหารเพื่อช่วยเหลือในกรณีภัยพิบัติ โดยไทยให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงทางอาหารและการดำเนินโครงการแลกเปลี่ยน ข้าว (Rice Swap Arrangement) ร่วมกับโครงการอาหารโลก (World Food Programme ) และการจัดตั้งระบบสำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียน+3 (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve - APTERR) นอกจากนี้ ไทยสามารถแบ่งปัน   องค์ความรู้เกี่ยวกับโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพร้อมผลักดันความร่วมมือไตรภาคีเพื่อให้ความช่วยเหลือในแอฟริกา

นอกจากนี้ ไทยยังได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ โดยเห็นว่า ASEM สามารถแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาประชาธิปไตยแก่ประเทศกำลังพัฒนา ได้ พร้อมส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกรายงานความคืบหน้าการดำเนินการขององค์การ ระหว่างประเทศอื่นที่ประเทศสมาชิกเข้าร่วมเพื่อหลีกเลี่ยงการทำงานที่ซ้ำ ซ้อนกันในเวทีพหุภาคีและกรอบองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ และให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาความมั่นคงระดับนานาชาติ เช่น การแก้ไขปัญหาโจรสลัด ซึ่งควรแก้จากต้นตอของปัญหาด้วยการส่งเสริมการพัฒนาในประเทศ และการร่วมมือกันในการสกัดกั้นอาวุธเล็ก (small arms) ซึ่งต้องแก้ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิก (intelligence network)

กิจกรรม ASEM ที่ไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างปี 2552 - 2555
1.  เมื่อปี 2552 – 2554 ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการศึกษา ดังนี้
1.1 โครงการ ASEM Interfaith Cultural Youth Camp เมื่อวันที่ 6 – 12 กุมภาพันธ์ 2552 ณ กรุงเทพฯ และอยุธยา โดยกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพ โดยเชิญผู้แทนเยาวชนไทย 19 คน และเยาวชนประเทศสมาชิก ASEM 29 คน จากประเทศสมาชิก ASEM 22 ประเทศ อายุระหว่าง 18 – 25 ปี เยี่ยมชมศาสน-สถานและชุมชนศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ซึ่งเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องความเชื่อและวัฒนธรรมของชาวต่างประเทศที่มี ต่อประเทศไทยและระหว่างประเทศ โดยนำเยาวชนไปเยี่ยมชมวัดพุทธ โบสถ์คริสต์ และมัสยิดอิสลาม เวียนเทียนที่พุทธมณฑลในวันมาฆบูชา เยี่ยมชมศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จังหวัดนครนายก เพื่อทดลองปลูกข้าวและเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รับฟังการบรรยายโดยวิทยากรจากมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับ 3 ศาสนาหลักในประเทศไทย และสัมมนากลุ่มย่อย เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในหัวข้อต่างๆ ซึ่งเยาวชนมีความเข้าใจเรื่อง IFD มากขึ้น และเชื่อมั่นยิ่งขึ้นว่า ศรัทธาต่างๆ แม้มีความแตกต่างบ้าง แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีความขัดแย้ง
1.2 การประชุม ASEM Conference Lifelong Learning: E-Learning and Workplace Learning  เมื่อวันที่ 20 – 22 กรกฏาคม 2552 ณ กรุงเทพฯ โดยกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเจ้าภาพ โดยที่ประชุม ASEM Advisory Board ได้เห็นชอบให้เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาดำรงตำแหน่งผู้แทนไทยใน ASEM Advisory Board และ Co-Chairman of ASEM Advisory Board รวมทั้ง Chairman of ASEM Advisory Board in the Asian Region นอกจากนี้ ที่ประชุม RN I  (E-Learning) ได้หารือเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลจากประเทศสมาชิก ASEM เกี่ยวกับการใช้ E-Learning เพื่อเตรียมจัดทำรายงานและนำเสนอบทบาทที่สำคัญของ E-Learning ต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต และที่ประชุม RN II (Workplace Learning) ได้เห็นชอบการจัดทำงานวิจัย เรื่อง Workplace Learning between Compulsory and Voluntary Participation โดยเลือกกลุ่มอุตสาหกรรม 2 กลุ่ม ได้แก่ สาขาท่องเที่ยวและบริการ และสาขายานยนต์ เป็นกลุ่มตัวอย่างในการศึกษา
1.3 โครงการ ASEM Interfaith Cultural Photography Contest เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 – กุมภาพันธ์ 2553 โดยกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพ โดยเปิดโอกาสให้นักถ่ายภาพไทยและนักถ่ายภาพประเทศสมาชิก ASEM แสดงความสามารถและความคิดในเชิงสร้างสรรค์ในด้านการถ่ายภาพเพื่อสื่อให้เข้า ใจถึง IFD ในประเทศของตน ผู้เข้าประกวดที่ได้รับรางวัล 1 – 3 และรางวัลชมเชย 2 รางวัลได้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อรับรางวัลและเยี่ยมชมสถานที่สำคัญทาง ศาสนาเมื่อวันที่ 4 – 7 กุมภาพันธ์ 2553 ณ กรุงเทพฯ และจังหวัดอยุธยา นอกจากนี้ นิทรรศการแสดงภาพถ่ายที่เข้าประกวดได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 – 14 กุมภาพันธ์ 2553 ณ  หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และเมื่อวันที่ 15 – 21 กุมภาพันธ์ 2553 ณ ศูนย์การค้า Siam Discovery ชั้น 3 รวมทั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 19 มีนาคม 2553 ณ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
1.4 การประชุม ASEM 8 Students’ Simulation Summit เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2553 ณ กระทรวง การต่างประเทศ โดยกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย และสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพ โดยจัดกิจกรรมจำลองการประชุมผู้นำ ASEM 8 เพื่อประชาสัมพันธ์การประชุมผู้นำ ASEM 8 โดยคัดเลือกนักศึกษาระดับอุดมศึกษาในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดให้ปฏิบัติหน้าที่เสมือนผู้แทนประเทศสมาชิกหรือกลุ่มประเทศ สมาชิก ASEM ในกิจกรรมจำลองดังกล่าว ซึ่งเป็นการแข่งขันทักษะและการนำเสนอแนวคิด ความเห็นและประเด็นหารือระหว่างผู้แข่งขันตามหัวข้อที่กำหนดเป็นภาษาอังกฤษ ผู้เข้าแข่งขันที่ได้รับรางวัล 1 – 3 ได้เดินทางไปศึกษาดูงานจำนวน 5 วัน ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม
1.5 การประชุม ASEM High-Level Conference on Food Security เมื่อวันที่ 9 – 11 พฤษภาคม 2554 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพ และมีผู้แทนจาก สมาชิก ASEM เข้าร่วมประชุมรวม 20 ประเทศ สำนักเลขาธิการอาเซียน คณะกรรมาธิการยุโรป FAO WFP International Research Rice Institute (IRRI) Southeast Asian Regional Centre for Graduate Study and Research in Agriculture (SEARCA) และ TEIN Cooperation Centre การประชุมสรุปผลได้ว่า ปัจจุบันมีปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลให้ทุกประเทศพบความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางอาหารมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาพื้นที่เพาะปลูกลดลง และจำนวนประชากรโลกที่สูงขึ้น จึงเห็นพ้องถึงความสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือในทุกระดับ รวมถึงกรอบ ASEM เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้าและลดการบิดเบือนทางการค้า สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลและสารสนเทศ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสำรองอาหารในกรณีฉุกเฉินและภัยพิบัติ และความร่วมมือด้านมาตรฐานอาหาร
1.6  การประชุม ASEM Customs Directors-General / Commissioners’ Meeting ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 11–13 ตุลาคม 2554 ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง เป็นเจ้าภาพที่ประชุมได้รับรองรายงานการประชุมอธิบดีศุลกากร ASEM ครั้งที่ 9 และปฏิญญาหัวหิน (Hua Hin Declaration) ซึ่งกำหนดกิจกรรมและความร่วมมือในด้านศุลกากรของประเทศสมาชิก ASEM ระหว่างปี 2555-2556
1.7 ในปี 2555 ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม The International Asia-Europe Conference on Enhancing Balanced Mobility ระหว่างวันที่ 5-6 มีนาคม 2555 ณ โรงแรม Pullman Bangkok King Power Hotel กรุงเทพฯ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เป็นเจ้าภาพ โดยมีจุดประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีในการส่งเสริม การแลกเปลี่ยนบุคลากรทางวิชาการทั้งนักศึกษาและนักวิชาการ ระหว่างภูมิภาคเอเชียและยุโรป โดยจะเชิญผู้เข้าร่วมการภาคการศึกษาและภาครัฐจากทั้งสองภูมิภาคประมาณ 150 คน

Tag