ความร่วมมือเอเชีย - ACD (Asia Cooperation Dialogue)

ความร่วมมือเอเชีย - ACD (Asia Cooperation Dialogue)

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 เม.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 14,620 view

พัฒนาการของความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue)

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

    ACD (Asia Cooperation Dialogue) มีหลักการสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่ง ขันของเอเชีย โดยอาศัยความแตกต่างหลากหลายและทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ซึ่งเอเชียมีอยู่มา ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
    ACD มุ่งบรรลุเป้าหมายในการเป็นประชาคมเอเชีย (Asian Community) โดยการส่งเสริม  Asia-wide cooperation ที่เป็นการต่อยอดหรือเสริมความร่วมมือในกรอบอื่น ๆ มิได้เป็นการสร้าง bloc เพื่อต่อต้านกลุ่มหรือภูมิภาคอื่น ๆ แต่อย่างใด
    ช่วง 4 ปีของการก่อตั้ง ACD มีพัฒนาการอย่างรวดเร็วโดยดำเนินไปใน 2 มิติ ได้แก่ มิติการเจรจาหารือ (dialogue dimension) และมิติโครงการความร่วมมือ (project dimension)
    ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 1 และ 2 เมื่อเดือนมิถุนายน 2545 และ 2546 จีนได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนมิถุนายน 2546 และปากีสถานเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 4 เมื่อเดือนเมษายน 2548
    ACD มีสมาชิกแรกตั้ง 18 ประเทศ และมีการขยายสมาชิกภาพเป็นลำดับ ปัจจุบัน ACD มีสมาชิกรวม 28 ประเทศ ได้แก่ บาห์เรน บังกลาเทศ ภูฏาน บรูไน กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น คาซัคสถาน เกาหลีใต้ คูเวต ลาว มาเลเซีย พม่า โอมาน ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ กาตาร์ สิงคโปร์ ศรีลังกา ไทย เวียดนาม อิหร่าน มองโกเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย และ รัสเซีย ซึ่งที่ประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 4 ได้รับซาอุดีอาระเบีย และรัสเซีย เป็นสมาชิกรายล่าสุด
    ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนา ACD Think Tanks Symposium ระหว่างวันที่ 15 -17 ธันวาคม 2547 ที่กรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายภาควิชาการของ ACD โดยผู้เข้าร่วมเห็นว่าการสัมมนาดังกล่าวเป็นประโยชน์ และเห็นพ้องให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาแนวความคิด “ประชาคมพลังงานแห่งเอเชีย” และ”ศูนย์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ACD”
    ในส่วนของมิติโครงการ มีประเทศสมาชิก 17 ประเทศเสนอตัวเป็นผู้ขับเคลื่อน (prime mover) ในสาขาความร่วมมือทั้งสิ้น 19 สาขา มีการดำเนินกิจกรรมไปแล้วทั้งสิ้น 19 กิจกรรมภายใต้ 12 สาขาความร่วมมือ โดยไทยเป็นผู้ขับเคลื่อนในสองสาขา ได้แก่ การท่องเที่ยว และการเงินการคลัง เพื่อผลักดันการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย ซึ่งทั้งสองสาขาได้มีการจัดการประชุมอย่างต่อเนื่อง

1. ภูมิหลัง

แนวความคิดเรื่องความร่วมมือเอเชีย ( Asia Cooperation Dialogue – ACD) เป็นความคิดริเริ่มของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และได้ถูกยกขึ้นเป็นครั้งแรกในการประชุมระหว่างประเทศของพรรคการเมืองเอเชีย ครั้งที่ 1 ณ กรุงมะนิลา เมื่อวันที่ 17 -20 กันยายน 2543 โดย ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยในขณะนั้น ได้รับมอบหมายจาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคฯ ให้เป็นตัวแทนไปกล่าวสุนทรพจน์ในนามของหัวหน้าพรรคฯ ซึ่งได้เสนอแนวคิดว่า เอเชียควรมีเวทีเป็นของตนเองเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในระดับทวีปของ เอเชีย ต่อมาไทยได้เสนอแนวคิดเรื่อง ACD อย่างเป็นทางการในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 34 ที่กรุงฮานอย ระหว่างวันที่ 23-24 กรกฎาคม 2544 และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) ที่ภูเก็ต ระหว่างวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2545 ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และ ดร.สุรเกียรติ์ฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ยังได้กล่าวสุนทรพจน์ในระหว่างการประชุมต่างๆ และได้หารือกับผู้นำหลายประเทศเกี่ยวกับแนวความคิดความร่วมมือเอเชีย จนทำให้ ACD เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากขึ้น

ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัด การประชุมระดับรัฐมนตรีความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน 2545 ณ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ความสำเร็จของการประชุมเป็นประจักษ์พยานถึงบทบาทนำของไทยในด้านการต่าง ประเทศ ทุกประเทศต่างตระหนักถึงความสำคัญของการรวมเอเชียเข้าด้วยกัน และสร้างกรอบความร่วมมือในแขนงต่าง ๆ ของทั้งทวีปเอเชีย ACD เป็นเวทีให้ประเทศเอเชียมาหารือกันอย่างเปิดกว้างในประเด็นที่เป็นความสนใจ ร่วมกัน เพื่อหามาตรการที่จะเพิ่มความร่วมมือในทุกๆ สาขา รัฐมนตรีต่างประเทศที่มาเข้าร่วมได้แสดงท่าทีสนับสนุน ACD อย่างแข็งขัน และเห็นพ้องว่า ACD จะเป็นเวทีเสริมสร้างเจตนารมย์ทางการเมืองร่วมกันของรัฐบาลประเทศเอเชีย และเปิดโอกาสให้มีแนวทางร่วมมือในประเด็นที่สร้างสรรค์

ในปัจจุบัน ACD มีสมาชิกทั้งหมด 28 ประเทศ ครอบคลุมประเทศในทวีปเอเชีย ตั้งแต่เอเชียตะวันออกถึงตะวันตก และเป็นเวทีแรกที่มีเป้าหมายจะรวมประเทศเอเชียในทุกอนุภูมิภาค

สมาชิกแรกตั้ง

1. บาห์เรน

2. บังกลาเทศ

3. บรูไน ดารุสซาลาม

4. กัมพูชา

5. จีน

6. อินเดีย

7. อินโดนีเซีย

8. ญี่ปุ่น

9. เกาหลีใต้

10. ลาว

11. มาเลเซีย

12. พม่า

13. ปากีสถาน

14. ฟิลิปปินส์

15. กาตาร์

16. สิงคโปร์

17. ไทย

18. เวียดนาม

2546

2547

2548

19. คาซักสถาน

23. ภูฏาน

27. รัสเซีย

20. คูเวต

24. อิหร่าน

28. ซาอุดี อาระเบีย

21. โอมาน

25. มองโกเลีย

22. ศรีลังกา

26. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

วัตถุประสงค์ของ ACD

1) ส่งเสริมการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างประเทศเอเชียในทุกสาขาความร่วมมือ โดยใช้ประโยชน์จาก จุดแข็งและโอกาสร่วมกันของเอเชีย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความยากจน และยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรในเอเชีย ในขณะเดียวกันก็พัฒนาสังคมองค์ความรู้ภายในเอเชีย และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนและสังคม

2) ขยายตลาดการค้าและการเงินภายในเอเชีย และเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับประเทศเอเชีย แทนที่การแข่งขัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของเอเชียในตลาดโลก

3) เป็นตัวเชื่อมที่ขาดหายไป ( missing link ) ของเอเชีย โดยอาศัยศักยภาพและความเข้มแข็งของเอเชีย โดยต่อยอดหรือเสริมจากกรอบความร่วมมือที่มีอยู่ เพื่อเอเชียจะเป็นหุ้นส่วนที่ดีของภูมิภาคอื่นๆ

4) มุ่งบรรลุเป้าหมายในการเป็นประชาคมเอเชีย ที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ในโลกอย่างเท่าเทียมยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างสันติภาพ และความมั่งคั่งร่วมกัน

ลักษณะที่สำคัญของเวทีความร่วมมือเอเชีย (ACD)
ตัวเชื่อมที่ขาดหายไป ( Missing Link )
การหารืออย่างไม่เป็นทางการ/ไม่มีการจัดตั้งองค์กรมารองรับ ( Informal/Non-instutionalized )
กระบวนการที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ( Incremental/Evolving )
เน้นแนวความคิดในเชิงบวก เปิดกว้าง และความสบายใจของสมาชิก( Emphasizes positive thinking, inclusiveness and comfort level )
การมอบแนวทางจากผู้กำหนดนโยบาย ( top-down process )

มิติของความร่วมมือภายใต้ ACD
กลไกความร่วมมือ ภายใต้ ACD แบ่งเป็นสองมิติ ได้แก่ มิติของการหารือ ( dialogue) ที่มีการหารืออย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอในหมู่ผู้วางนโยบายระดับชาติ และมิติโครงการ ( projects) ซึ่งแบ่งออก เป็นสาขาความร่วมมือต่างๆ โดยมีประเทศสมาชิก ACD รับเป็นผู้ขับเคลื่อน (prime mover) ในแต่ละสาขาและมีการจัดกิจกรรม ACD อย่างต่อเนื่อง ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน ความร่วมมือแขนงต่างๆ ในกรอบ ACD เป็นการเสริมและต่อยอด โดยไม่ซ้ำซ้อนกับกรอบเวทีความร่วมมืออื่นที่มีอยู่แล้ว แต่มุ่งเชื่อมโยงสิ่งที่ยังขาดหายไปเข้าด้วยกันให้มีพลังยิ่งขึ้น โดยจะเริ่มจากเรื่องเล็กไปสู่เรื่องใหญ่ เรื่องง่ายไปสู่เรื่องยาก

2. ความคืบหน้าของมิติการหารือ

ในฐานะผู้ประสานงาน ACD ไทยได้ผลักดันให้มีประเทศสมาชิกมีการปรึกษาหารือกันอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมหารือ ดังนี้

- ไทยได้จัดส่งทีมเจ้าหน้าที่อาวุโส ACD ของกระทรวงการต่างประเทศไปเยือนประเทศสมาชิก ACD

- การประชุม ACD Ambassadorial Retreat ซึ่งจัดมาแล้ว 6 ครั้ง ในเดือนกรกฎาคม 2545 ธันวาคม 2545 มิถุนายน 2546 มิถุนายน 2547 พฤศจิกายน 2547 และกุมภาพันธ์ 2548ตามลำดับ โดยได้เชิญเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิก ACD ที่ประจำอยู่ ณ กรุงเทพฯ เข้าร่วมการประชุม โดยมีปลัดหรือรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน

- การพบปะหารืออย่างไม่เป็นทางการ ACD Breakfast/High Tea Meeting ของรัฐมนตรีต่างประเทศ ACD ในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาแรงขับเคลื่อนและความต่อเนื่องของกระบวนการ ACD และแจ้งความคืบหน้าของ ACD ให้ประเทศสมาชิกได้รับทราบ ในช่วงระหว่างการประชุมรัฐมนตรี ACD ที่ผ่านมาที่ประชุมได้ย้ำถึงความสำคัญของ ACD ในการส่งเสริมความแข็งแกร่งและการพัฒนาของเอเชีย รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างให้เอเชียได้รับการยอมรับและเพิ่มน้ำหนักให้กับ เสียงของเอเชียในเวทีระหว่างประเทศ

2.1 การประชุมระดับรัฐมนตรีความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 2 ที่เชียงใหม่
ไทย ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีความร่วมมือเอเชีย หรือ ACD ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 21-22 มิถุนายน 2546 ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยรัฐมนตรีจาก 18 ประเทศสมาชิกได้เข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียง อันเป็นการส่งสัญญาณถึงความเป็นปึกแผ่นแน่นแฟ้นในเอเชีย และการที่ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับกรอบความร่วมมือ ACD ในฐานะเวทีที่จะส่งเสริมผลประโยชน์ของเอเชียบนพื้นฐานของความแตกต่างหลาก หลายและศักยภาพที่เอเชียมีอยู่

ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำแก่รัฐมนตรี ACD ในวันที่ 21 มิถุนายน 2546 ซึ่งระหว่างงานดังกล่าว ได้มีการแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับพัฒนาการของ ACD โดยรัฐมนตรี ACD ต่างชื่นชมความสำเร็จของการจัดตั้ง ACD และความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมในปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น

ยังได้กล่าวสนับสนุนแนวความคิดริเริ่มของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในกระบวนการส่งเสริมการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังมองถึงแนวทางสำหรับอนาคตของ ACD อาทิ การพัฒนาสถาบันจัดลำดับความน่าเชื่อถือของเอเชีย การที่เอเชียจะมีสกุลเงินร่วมกัน และมีสถาบันบริหารกองทุนพันธบัตรเอเชีย รวมถึงความร่วมมือในสาขาอื่นๆ อาทิ ความตกลงการค้าเสรีทวิภาคี การท่องเที่ยว การบิน ความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างพันธมิตรที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นของเอเชีย ในภาพรวม

ที่ประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ในวันที่ 22 มิถุนายน 2546 ซึ่งมีดร.สุรเกียรติ์ฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นเป็นประธาน ได้หารือในประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้

- รัฐมนตรี ACD รับทราบพัฒนาการของ ACD ทั้งในมิติการเจรจาหารือและมิติโครงการความร่วมมือ โดยเฉพาะโครงการความร่วมมือนั้นได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากประเทศสมาชิก

ซึ่งที่ประชุมร่วมกันย้ำหลักสำคัญของโครงการความร่วมมือภายใต้กรอบ ACD ที่เน้นการต่อยอดและเพิ่มคุณค่าให้กับความร่วมมือที่มีอยู่แล้วในภูมิภาค ไม่ทำงานซ้ำซ้อน และให้มีการติดตามผลการประชุมฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงรูปธรรมอย่างแท้จริง

- รัฐมนตรี ACD ร่วมกันรับรองปฏิญญาเชียงใหม่ว่าด้วยการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Chiang Mai Declaration on Asian Bond Market Development)

- รัฐมนตรี ACD ให้การสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์ในการรับประเทศสมาชิกใหม่ 4 ประเทศของ ACD ได้แก่ คาซักสถาน คูเวต โอมาน และศรีลังกา ซึ่งได้แสดงความจำนงอย่างเป็นทางการที่จะเข้าร่วมในกระบวนการ ACD

- รัฐมนตรี ACD ยินดีและให้การสนับสนุนข้อเสนอของจีนที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ACD ครั้งที่ 3 ในปี 2547 รวมทั้งมอบหมายให้ประเทศไทยเป็นผู้ประสานงาน ACD ต่อไปเพื่อความต่อเนื่อง

2.2 การประชุมระดับรัฐมนตรีความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 3 ที่เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีน
การประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 3 เริ่มต้นด้วย การประชุมระหว่างนักวิชาการประเทศ ACD ภายใต้ชื่อว่า ACD High Level Seminar on Asia Cooperation and Development ในวันที่ 21 มิถุนายน 2547 โดย Boao Forum for Asia (BFA) ซึ่งเป็นองค์กรที่มิใช่รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยการสนับสนุนของรัฐบาลจีนและ ดำเนินงานในการส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาค ร่วมกับเครือข่ายคลังสมองของเอเชียตะวันออก (The Network of East Asia Think-Tanks: NEAT) และสถาบันการต่างประเทศสราญรมย์ (Saranrom Institute of Foreign Affairs : SIFA) ร่วมกันจัดขึ้น ทั้งนี้หัวข้อสำคัญในการสัมมนาฯ มี 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1) การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของเอเชียโดยการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และความพยายามร่วมกันของทั้งภูมิภาค 2) การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน 3) ความมั่นคงทางพลังงานและยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของเอเชีย 4) นโยบายร่วมกันด้านการเกษตร

ทั้งนี้ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้รับเชิญให้ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในพิธี เปิดการประชุมเป็นท่านแรกในฐานะผู้ประสานงาน ACD และคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการสัมมนาฯ นำโดยดร . สรจักร เกษมสุวรรณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กิจกรรมดังกล่าวถือเป็นกิจกรรมทางด้านวิชาการครั้งแรกของ ACD ที่มีความสำคัญและผลที่ได้รับเป็น input ที่สำคัญสำหรับการพัฒนากระบวนการ ACD ในระยะต่อไป จีนเป็นเจ้าภาพจัด การประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 3 ในวันที่ 22 มิถุนายน 2547 ที่เมืองชิงต่าว มณฑลชานตง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้รับเชิญจากรัฐบาลจีนให้ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการ ประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีจีน จากนั้นเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของ ACD โดยมีนายหลี่ จ้าวซิง รัฐมนตรีต่างประเทศจีนเป็นประธาน ประเด็นสำคัญที่มีการหารือกันในที่ประชุมฯ สรุปได้ดังนี้
- รัฐมนตรีต่างประเทศ ACD ได้หารือกันเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในโลกและในภูมิภาค และได้เรียกร้องให้เอเชียผนึกกำลังกันเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายด้านความ มั่นคงในสภาวการณ์ปัจจุบันร่วมกันด้วย

- รัฐมนตรีต่างประเทศ ACD พอใจในความคืบหน้าของโครงการความร่วมมือในกรอบ ACD
โดยเฉพาะความกระตือรือร้นของประเทศผู้ขับเคลื่อนและผู้เข้าร่วมในกิจกรรมเพื่อผลักดันโครงการต่างๆ ให้เกิดผลสำเร็จ และส่งเสริม Asia-wide cooperation

- รัฐมนตรีต่างประเทศ ACD ยินดีต้อนรับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มองโกเลีย และอิหร่านเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของ ACD และสำหรับประเทศภูฏานซึ่งประเทศสมาชิก ACD พร้อมที่จะรับเข้าเป็นสมาชิก ได้ขอเลื่อนการเข้าเป็นสมาชิกออกไปเนื่องจากการดำเนินการทางกฎหมายภายใน ประเทศยังไม่เสร็จสมบูรณ์

- รัฐมนตรีต่างประเทศ ACD มอบหมายให้ปากีสถานเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ACD ครั้งที่ 4 ในปี 2548 และกาตาร์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ACD ครั้งที่ 5 ในปี 2549

- ที่ประชุมได้รับรองเอกสาร 2 ฉบับได้แก่ Declaration on Asia Cooperation และ Qingdao Initiative โดยเอกสารฉบับแรกเป็นการแสดงเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ของประเทศสมาชิก ACD ในการผลักดันกระบวนการ ACD ต่อไปในอนาคตบนกรอบทิศทางที่ Declaration on Asia Cooperation ได้กำหนดไว้ ส่วนเอกสาร Qingdao Initiative เป็นการเน้นการส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศสมาชิก ACD ซึ่งประกอบด้วยผู้ผลิตและผู้ใช้พลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวการณ์ปัจจุบันที่ประเทศต่างๆ กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายด้านพลังงานร่วมกัน

2.3 การประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 4 ที่กรุงอิสลามาบัด สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน
ปากีสถานเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 4 ที่กรุงอิสลามาบัด เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2548 โดยได้เชิญ ดร . สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการสัมมนา High Level Expert Seminar และพิธีเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 4 ร่วมกับนายกรัฐมนตรีปากีสถาน และนายกรัฐมนตรีจีน ดร. กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว และได้กล่าวรายงานสรุปความคืบหน้าในรอบปีในฐานะ ผู้ประสานงาน ที่ประชุมได้หารือในประเด็นสำคัญ สรุปได้ดังนี้

- ที่ประชุมรับซาอุดี อาระเบีย และรัสเซีย เป็นสมาชิกรายที่ 27 และ 28 และเห็นพ้องว่า ACD ควรพิจารณากำหนดเงื่อนไขในการรับสมาชิกใหม่ที่ชัดเจนต่อไป

- ที่ประชุมสนับสนุนข้อเสนอของไทยให้จัดการประชุมสุดยอดในเวลาที่เหมาะสมตาม ที่จะหารือต่อไป โดยไทยเป็นเจ้าภาพ ทั้งนี้ เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันของผู้นำต่อความร่วมมือภายใต้กรอบ ACD และให้วิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคตของ ACD

- ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่าง ACD กับประเทศ หรือองค์กรอื่นๆ ( Guidelines for Granting the Status of ACD Partner for Development ) ซึ่งไทยยกร่างตามที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 3 ที่เมืองชิงต่าว ในปี 2547 โดยสอดคล้องกับหลักการของ ACD ในการเป็นกรอบความร่วมมือที่เปิดกว้าง

- ที่ประชุมเห็นพ้องให้กาตาร์ และเกาหลีใต้ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับ รัฐมนตรีประจำปี ครั้งที่ 5 และ 6 ในปี 2549 และ 2550 ตามลำดับ สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 7 คาซัคสถาน ได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่า การเป็นเจ้าภาพในปีต่อๆ ไปควรพิจารณาอย่างยืดหยุ่น และเป็นไปตามความสมัครใจ โดยให้ความสำคัญกับประเทศที่ยังไม่เคยเป็นเจ้าภาพ

- ที่ประชุมเห็นพ้องกับข้อเสนอของไทยที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ACD Summit ในช่วงเวลาที่เหมาะสมซึ่งประเทศสมาชิกจะหารือกันต่อไป

- ไทยได้เสนอให้ที่ประชุมเน้นหารือประเด็นท้าทายที่ทุกประเทศสนใจ และสามารถส่งเสริมความร่วมมือกันยิ่งขึ้นโดยใช้ประโยชน์จากศักยภาพและความ เชี่ยวชาญของเอเชียร่วมกัน อาทิ ปัญหาความมั่นคงทางพลังงาน การแก้ไขปัญหาความยากจน การสร้างสถาปัตยกรรมด้านการเงิน โดยผ่านตลาดพันธบัตรเอเชีย การป้องกันและเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับภัยธรรมชาติ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย ซึ่งที่ประชุม เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว โดยเฉพาะสิงคโปร์ และอินเดีย ได้เสนอหัวข้อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยเหตุผลเดียวกัน และเห็นว่าเรื่องดังกล่าวจะยังประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวมในหลายสาขา อาทิ สาธารณสุข เกษตร การศึกษา

- ในการหารือเรื่องปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน ที่ประชุมเห็นพ้องให้เริ่มดำเนินการตามข้อเสนอของ ACD Think Tanks Symposium ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2547 ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งประชาคมพลังงานเอเชีย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคพลังงาน นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้สนับสนุนข้อเสนอจาก ACD Think Tanks Symposium ในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์

- ที่ประชุมได้รับรองเอกสาร Islamabad Declaration และ Islamabad Initiative on Economic Cooperation in Asia ซึ่งเอกสาร Declaration ยืนยันเจตจำนงค์ร่วมกันของ ACD ที่จะบรรลุเป้าหมายสูงสุดในการเป็นประชาคมเอเชีย และระบุทิศทางความร่วมมือในอนาคตของ ACD ในด้านต่างๆ ซึ่งไทยประสบความสำเร็จในการหารือเพื่อให้มีการบรรจุประเด็นสำคัญลงในเอกสาร ดังกล่าว ได้แก่ การยืนยันเจตนารมณ์ทางการเมืองต่อการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชียเพื่อเสริม สร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค ย้ำท่าทีร่วมกันของ ACD ในการสนับสนุนให้ตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติคนต่อไปมาจากภูมิภาคเอเชีย และเห็นพ้องกับการจัดการประชุม ACD Summit ในเวลาที่เหมาะสมต่อไป

- เอกสาร Islamabad Initiative เป็นข้อเสนอแนะจากที่ประชุมภาควิชาการ High Level Expert Seminar on Economic Cooperation in Asia ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 5 เม . ย . 2548 โดยผู้แทนไทย ที่เข้าร่วมคือ รศ . ดร . สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ ประธานศูนย์เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกสารดังกล่าวระบุข้อเสนอแนะให้ ACD ขยายความร่วมมือด้านต่างๆ อาทิ การจัดตั้งศูนย์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาเครือข่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การขยายความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และการคลัง โดยจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศต่างๆ การหารือระหว่างสภาหอการค้า เป็นต้น

3. มิติโครงการ

ประเทศสมาชิกหลายประเทศได้แสดงความสนใจและเสนอตัวเป็นประเทศผู้ขับ เคลื่อนในสาขาความร่วมมือซึ่งประเทศตนสนใจและมีความเชี่ยวชาญ ความร่วมมือในมิติโครงการจะเป็นไปตามความสมัครใจและไม่อาศัยฉันทามติจาก ประเทศสมาชิกเพื่อความสะดวกในทางปฏิบัติ

3.1 พันธบัตรเอเชียและความร่วมมือทางการเงิน
ในกรอบ ACD ไทยได้เสนอตัวเป็น prime mover ด้านความร่วมมือทางการเงิน โดยตั้งคณะทำงานว่าด้วยความร่วมมือด้านการเงินขึ้นรองรับ และเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2546 ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ACD Working Group on Financial Cooperation ( ACD WGFC ) ครั้งที่ 1

ที่กรุงเทพฯ ซึ่งที่ประชุมได้เห็นพ้องกันถึงความสำคัญของความคิดริเริ่มเรื่องการพัฒนา ตลาดพันธบัตรเอเชีย ( Asian Bond Market Initiative : ABMI ) และนำไปสู่การยกร่าง Chiang Mai Declaration on Asian Bond Market Development (CMD) ซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุมระดับรัฐมนตรี ACD

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2546 ที่เชียงใหม่ เป็นการแสดงให้เห็นถึงฉันทามติทางการเมืองที่สำคัญที่ประเทศสมาชิก ACD ในการสนับสนุนการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชียโดยพร้อมเพรียง

ต่อมาไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ACD Special Group Meeting on Asian Bond Market Development ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2547 เพื่อหารือเรื่องอุปสงค์ อุปทาน และโครงสร้างพื้นฐานที่ประชุมเห็นว่า ควรจะเน้นการพัฒนาอุปทาน คือ พันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นให้มีคุณภาพและหลากหลาย และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยขจัดอุปสรรคในการซื้อขายพันธบัตรเอเชีย

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ACD Informal Meeting on Promoting Supply of Asian Bonds ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องถึงความจำเป็นที่จะพัฒนาอุปทานโดยส่งเสริมการออก พันธบัตรเงินสกุลท้องถิ่นที่มีการจัดอันดับเหมาะสมสำหรับการลงทุนอย่างต่อ เนื่อง และปรับปรุงกฏเกณฑ์ให้เอื้อต่อการซื้อขายพันธบัตรของประเทศสมาชิก ACD ตลอดจนตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีตลาดรองที่มีสภาพคล่องและมี ประสิทธิภาพ โดยการลดอุปสรรคทางโครงสร้างที่ยังคงเป็นปัญหาสำหรับการพัฒนาตลาดพันธบัตร เอเชีย ที่ประชุมยังรับทราบประโยชน์ของการพัฒนา Board-markets เพื่อทดแทนระบบการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ (over-the-counter) ซึ่งใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและเอื้อประโยชน์ต่อการซื้อขายข้ามพรมแดน

3.2 ประเทศผู้ขับเคลื่อนและสาขาความร่วมมือ
ในปัจจุบันประเทศสมาชิก ACD ได้รับที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนใน 19 มิติโครงการ ดังนี้

สาขาความร่วมมือ

ประเทศผู้ขับเคลื่อน/ร่วมขับเคลื่อน

1. ความมั่นคงด้านพลังงาน (energy security)

บาห์เรน อินโดนีเซีย คาซักสถาน กาตาร์ จีน   และฟิลิปปินส์

2. การแก้ไขปัญหาความยากจน (poverty alleviation)

บังกลาเทศ   กัมพูชา และ เวียดนาม

3. การเกษตร (agriculture)

จีนและปากีสถาน

4. การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม (transport linkages)

อินเดีย คาซักสถาน และพม่า

5. เทคโนโลยีชีวภาพ (biotechnology)

อินเดีย

6. การค้าอิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce)

มาเลเซีย

7. กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure fund)

มาเลเซีย

8. การศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ (e-education)

มาเลเซีย

9. สถาบันด้านการจัดมาตรฐานเอเชีย

( Institute of Asian Standards)

ปากีสถาน

10. ความร่วมมือด้านผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

สิงคโปร์ ศรีลังกา

11. การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT development)

เกาหลีใต้

12. พลังงาน (energy)

ฟิลิปปินส์

13. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (science and technology)

ฟิลิปปินส์

14. การท่องเที่ยว (tourism)

ไทย กัมพูชา พม่า และปากีสถาน

15. คณะทำงานด้านความร่วมมือด้านการคลัง (working group on financial cooperation)

ไทย

16. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (human resources development)

เวียดนาม

17. สิ่งแวดล้อมศึกษา (environmental education)

ญี่ปุ่น และกาตาร์

18. การสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างด้านกฎหมาย

(strengthening the legal infrastructure)

ญี่ปุ่น

19. ความปลอดภัยบนท้องถนน ( Road Safety )

โอมาน

4. กิจกรรม ACD

ACD มีวัตถุประสงค์หลักที่จะให้ทุกประเทศได้มีส่วนร่วมและมีบทบาทอย่างเสมอภาคใน ทุกสาขาของความร่วมมือ รวมทั้งในส่วนของภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาควิชาการ เพื่อพัฒนาการและความก้าวหน้าโดยพร้อมเพรียงกัน โดยมีการจัดและเข้าร่วมในหลายโครงการ / การประชุมที่น่าสนใจ ได้แก่

(1) โครงการสัมมนาเรื่อง Trade facilitation โดย International Institute for Trade and Development (ITD) ที่กรุงเทพฯ ระหว่างตุลาคม 2545 – ตุลาคม 2546

(2) การจัดประชุม Boao Forum for Asia Tourism Conference โดย Boao Forum for Asia (BFA) ระหว่างวันที่ 17-20 พฤศจิกายน 2545 ณ นครกุ้ยหลิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งฯพณฯ รมว . กต . ได้รับเชิญให้เป็น co-chairperson of the organizing committee ในฐานะที่ประเทศไทยเป็น ACD coordinator และโดยที่ BFA เป็นเวที track II ของ ACD
(3) การประชุมระหว่างประเทศในหมู่นักวิชาการในหัวข้อ “Building a New Asia : Towards an Asian Economic Community” ระหว่าง 10-11 มีนาคม 2546 ณ กรุงนิวเดลี ซึ่งออท . มนัสพาสน์ ชูโต ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (International Institute for Trade and Development) ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมและนำเสนอในเรื่อง ACD และการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย

(4) การจัดสัมมนาประจำปี 2003 เรื่อง “The Future for Asia ” โดยหนังสือพิมพ์ Nihon Keizai Shimbun (Nikkei) ในวันที่ 5 มิถุนายน 2546 ณ กรุงโตเกียว โดยได้เรียนเชิญ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีกล่าวสุนทรพจน์เรื่อง ACD และ Asian Bond Market Development และร่วมการสัมมนาโต๊ะกลมของผู้นำเอเชียในหัวข้อกำเนิดของการจัดระเบียบใหม่ ในเอเชีย (Genesis of a New Asian Order)

(5) การประชุมประจำปีของ Boao Forum for Asia (BFA) ประจำปี 2547 ระหว่าง 24-25 เมษายน 2547 ซึ่งดร . สรจักร เกษมสุวรรณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมดัง กล่าวในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทยและผู้แทน ACD Coordinator ทั้งนี้ ดร . สรจักรฯ ได้เข้าร่วมการประชุม Informal Meeting for Heads of Asia's Regional/Sub-regional Organizations เพื่อประชาสัมพันธ์ ACD รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นกับหัวหน้าองค์กรในอนุภูมิภาค และภูมิภาคหลายองค์กรที่เข้าร่วมการประชุมฯ

5. เครือข่ายวิชาการ ACD

ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนา ACD Think Tanks Symposium ระหว่างวันที่ 15 -17 ธันวาคม 2547 ที่กรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายภาควิชาการของ ACD โดยผู้เข้าร่วมเห็นว่าการสัมมนาดังกล่าวเป็นประโยชน์ และเห็นพ้องให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาแนวความคิด “ ประชาคมพลังงานแห่งเอเชีย ” และ ” ศูนย์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ACD”

*****************************

สำนักนโยบายและแผน

กระทรวงการต่างประเทศ
22 มิถุนายน 2548