สาธารณรัฐโครเอเชีย

สาธารณรัฐโครเอเชีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 มี.ค. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 32,945 view


สาธารณรัฐโครเอเชีย
Republic of Croatia

ข้อมูลทั่วไป

สาธารณรัฐโครเอเชีย
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง อยู่ระหว่างยุโรปกลางและเมดิเตอร์เรเนียน บริเวณริมฝั่งตะวันออกของทะเลเอเดรียติก
พื้นที่ ๕๖,๕๔๒ ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงซาเกร็บ (Zagreb)
ประชากร ๔.๕ ล้านคน ประกอบด้วยชาวโครอัท (๘๙.๖%) ชาวเซิร์บ (๔.๕๔%) และอื่นๆ ได้แก่ ชาวบอสเนีย ฮังกาเรียน สโลวีน เช็ก (๕.๙%)
ภูมิอากาศ แบบเมดิเตอร์เรเนียนแถบชายฝั่งทะเลเอเดรียติกและ
ภูมิอากาศแบบเทือกเขาบริเวณตอนกลางของประเทศอุณหภูมิโดยเฉลี่ย ๑๔-๒๗ องศาเซลเซียส
ภาษา โครเอเชียนเป็นภาษาราชการ ภาษาอื่นๆ ที่ใช้พูดกันโดยชนกลุ่มน้อยได้แก่ เซอร์เบียน ฮังกาเรียน อิตาเลียน เยอรมัน อังกฤษ
ศาสนา โรมันคาทอลิก ๘๕.๘% ออโธด็อกซ์ ๓.๒% มุสลิม ๑๑%
หน่วยเงินตรา คูน่า (Kuna) อัตราแลกเปลี่ยนโดยประมาณ ๔.๖๖ คูน่า
เท่ากับประมาณ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ๖๐.๖๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (๒๕๕๑)
รายได้ประชาชาติต่อหัว ๑๓ม๔๗๗ ดอลลาร์สหรัฐ (๒๕๕๑)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ ๒.๑ (๒๕๕๑)
ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีสภาเดียว เรียกว่า Sabor มีสมาชิก ๑๕๒ คน ประธานาธิบดีเป็นประมุข โดยมาจากการเลือกตั้งโดยตรง
และเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐบาล มีวาระ ๕ ปี ปัจจุบัน คือ นาย Ivo Josipovic ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ มีนายกรัฐมนตรี คือ นาง Jadranka Kosor
รัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลผสมเสียงข้างมาก ระหว่างพรรค Croatia Democratic Union และพรรค Democratic Centre มี ๙๑ เสียง จากทั้งหมด ๑๕๒ เสียง

 

 

 

การเมืองการปกครอง

 

๑.   การเมืองการปกครอง

       ๑.๑   โครเอเชียมีระบอบการปกครองประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข
มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ดำรงตำแหน่งวาระละ ๕ ปี  และนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล รัฐสภา  ใช้ระบบสภาเดียว (Unicameral) เรียกว่าซาบอร์ (Sabor) และทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติของประเทศ มีจำนวนสมาชิกทั้งหมด ๑๕๑ คน โดยมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนจากการแบ่งเขตเลือกตั้ง

๑.๒   การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๔ ได้พลิกโฉมหน้าการเมือง โดยกลุ่มพรรคพันธมิตร ประกอบด้วย พรรค SDP (Social Democratic Party), HNS (Croatian People's Party), IDS (Istrian Democratic Assembly) and HSU (Croatian Party of Pensioners) ซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมือง กลาง-ซ้าย ได้รับชัยชนะเหนือพรรค Croatian Democratic Union (HDZ) และพรรคพันธมิตร ซึ่งมีอุดมการณ์ กลาง-ขวา และเป็นพรรครัฐบาลต่อเนื่องมา ๘ ปี นับตั้งแต่โครเอเชียได้รับเอกราช  ในปี ๒๕๓๔ การเสื่อมความนิยมที่มีต่อรัฐบาลผสมพรรค HDZ ของนางยาดรานกา คอซอร์ เนื่องจาก             ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาการว่างงานของประเทศได้ ถึงแม้ว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union – EU) ก็ตาม

      ๑.๓   เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๕ โครเอเชียได้ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ภายหลังที่ผลประชามติเสียงส่วนใหญ่ร้อยละ ๖๖ ให้การสนับสนุน มีกำหนดเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างสมบูรณ์ ในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖

๑.๔  นโยบายหลักของรัฐบาล คือ การปฏิรูปประเทศตามพันธกรณีสหภาพยุโรป ซึ่งรวมถึงการปฏิรูประบบยุติธรรม การต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง และความร่วมมือในการส่งมอบตัวอาชญากรสงครามให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่กรุงเฮก และการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังเพื่อลดภาวะการขาดดุลของประเทศ


นโยบายต่างประเทศ
จุดมุ่งหมายของนโยบายต่างประเทศของโครเอเชียให้ความสำคัญกับเรื่องต่างๆ ดังนี้
๑. การเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) รัฐบาลโครเอเชียเห็นว่า การเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปเป็นหัวใจสำคัญของสันติภาพที่มั่นคง เสรีภาพที่เป็นประชาธิปไตย และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ในยุคโลกาภิวัตน์ ทางที่ดีที่สุดที่ประเทศเล็กๆ อย่างโครเอเชียจะพัฒนา และดำรงความเจริญรุ่งเรืองไว้ได้โดยการรักษาผลประโยชน์ของชาติ คือการเข้าเป็นสมาชิก EU โดยคาดว่าจะเป็นสมาชิกภายในปี 2555 นอกจากนี้ เรื่องความมั่นคงเป็นประเด็นสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมัยใหม่ การเข้าเป็นสมาชิก NATO เป็นวิถีทางที่ดีที่สุดที่จะปกป้องความปลอดภัยของประเทศ
ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอด NATO ที่กรุงบูคาเรสต์ เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๑ บรรดาผู้นำของประเทศพันธมิตร NATO ได้มีมติให้เชิญโครเอเชียให้เข้าร่วมเป็นประเทศพันธมิตร NATO ลำดับที่ ๒๘ ทันทีที่ขั้นตอนการสมัครเข้าเป็นพันธมิตรและกระบวนการให้สัตยาบันลุล่วง โดยเจ้าหน้าที่ของ NATO คาดว่า จะสามารถดำเนินการได้ภายใน ๑ ปี
๒ การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างโครเอเชียและประเทศเพื่อนบ้าน
รัฐบาลโครเอเชียจะพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอยู่บนพื้นฐานของความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี ให้ความเคารพต่ออธิปไตย เสรีภาพ ดินแดน และความเท่าเทียมซึ่งกันและกัน โดยแก้ไขปัญหาผ่านการเจรจาทางการเมืองตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ โครเอเชียมีอาณาเขตติดต่อกับฮังการี บอสเนียและเฮอร์เซโกวินา สาธารณรัฐเซอร์เบีย และสโลวีเนีย และมีปัญหาความขัดแย้งบริเวณชายแดนกับบอสเนียและเฮอร์เซโกวินา และสาธารณรัฐเซอร์เบีย รวมทั้งความขัดแย้งเหนือน่านน้ำกับสโลวีเนีย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ความตึงเครียดดังกล่าวได้ลดลงอย่างมาก เนื่องจากรัฐบาลโครเอเชียได้ดำเนินนโยบายเข้มงวดในการควบคุมการใช้น่านน้ำของโครเอเชียเหนือทะเลเอเดรียติก
๓ การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งด้านทวิภาคีและพหุภาคี
รัฐบาลโครเอเชียต้องการพัฒนาความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการเมืองกับทุกประเทศที่เป็นประชาธิปไตยในโลกบนพื้นฐานของหลักการความเป็นอธิปไตยและความเท่าเทียมกัน สำหรับการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคี โครเอเชียให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมขององค์การระหว่างประเทศเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของนโยบายต่างประเทศของโครเอเชีย และจะส่งเสริมบทบาทของประเทศในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ EU องค์การ NATO สหประชาชาติ
๔ การส่งเสริมเศรษฐกิจของโครเอเชีย
รัฐบาลโครเอเชียมีแผนที่จะเพิ่มมูลค่าการส่งออก ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
๕. ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๑ เป็นต้นมา โครเอเชียได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีวาระ ๒ ปี โครเอเชียจะยึดถือและดำเนินการตามหลักการที่ระบุในนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสหภาพยุโรปที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างกันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

 

เศรษฐกิจการค้า

เศรษฐกิจและสังคม
๑. ในบรรดาสาธารณรัฐที่อยู่ภายใต้สหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย โครเอเชียมีสถานะทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี เป็นรองเพียงสโลวีเนีย เนื่องจากเป็นเขตอุตสาหกรรมของสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย รายได้ส่วนใหญ่ของโครเอเชียมาจากการท่องเที่ยว เนื่องจากภูมิประเทศเป็นชายฝั่งทะเลเอเดรียติกและมีหมู่เกาะที่สวยงาม ทำให้ในปัจจุบัน โครเอเชียจึงยังคงสภาวะเศรษฐกิจที่ดีกว่าประเทศอดีตสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียส่วนใหญ่ นอกจากสโลวีเนีย ไว้ได้
๒. สำหรับนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้แก่ การปฏิรูปเศรษฐกิจให้เป็นระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจมากขึ้น ออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ โดยได้ประกาศนโยบายที่มุ่งสร้างเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค รักษาเสถียรภาพของค่าเงินสกุลคูน่า (Kuna) คงระดับอัตราเงินเฟ้อ เพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ใช้มาตรการดึงดูดคู่ค้าและนักลงทุนมากขึ้น รวมถึงการเร่งแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
๓. รัฐบาลโครเอเชียยังมีโครงการสนับสนุนการลงทุนด้านท่าเรือ ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว เนื่องจากเห็นว่า การลงทุนด้านนี้จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโครเอเชีย ช่วยให้เกิดการขนส่ง การก่อสร้างถนน ทางรถไฟ และธุรกิจบริการเกี่ยวกับบริษัทขนส่งสินค้าต่างๆ โดยรัฐบาลได้สนับสนุนเงินกู้จำนวนหนึ่งเพื่อสร้างถนนเชื่อมโยงกับเส้นทางของฮังการี ปรับปรุงทางรถไฟและสาธารณูปโภคอื่นๆ ทั้งนี้ โครเอเชียมีชายฝั่งทะเลที่ยาวกว่า ๕,๐๐๐ กิโลเมตร และเต็มไปด้วยเกาะแก่งต่างๆ ถึง ๑,๑๘๕ เกาะ จึงมีความจำเป็นต้องจัดการคมนาคมขนส่งทางน้ำเพื่อเชื่อมโยงระหว่างกัน รวมทั้งดูแลชายฝั่งทะเลซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ และการก่อสร้างถนนหนทางภาคพื้นดินภายในประเทศเพื่อรองรับการคมนาคมทางน้ำ โครเอเชียมีท่าเรือ Rijeka ใช้ขนถ่ายและกระจายสินค้าได้ มีโครงการปรับปรุงเส้นทางขนส่ง โดยเริ่มตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๙ ซึ่งจะเป็นเส้นทางคมนาคมทางบกที่รวดเร็วที่สุดระหว่างเอเชียและยุโรปกลาง

 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐโครเอเชีย

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
๑. ความสัมพันธ์ทั่วไป
ไทยและโครเอเชียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๓๕ ซึ่งในโอกาสการครบรอบ ๑๐ ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์เมื่อปี ๒๕๔๕ ได้มีการแลกเปลี่ยนสารแสดงความยินดีระหว่างกัน ไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ มีเขตอาณาครอบคลุมโครเอเชียในขณะที่ฝ่ายโครเอเชียได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตโครเอเชีย ณ กรุงจาการ์ตา มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย นอกจากนี้ ไทยและโครเอเชียได้จัดตั้งสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ระหว่างกัน โดยกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำโครเอเชีย ได้แก่ นาย Alojzije Pavlovic และ กงสุลกิตติมศักดิ์โครเอเชียประจำประเทศไทย ได้แก่ นายวิฑูรย์ อร่ามวารีกุล
๒. ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและโครเอเชียราบรื่น ไม่มีข้อขัดแย้งใดๆ โดยฝ่ายโครเอเชียแสดงความชื่นชมอยู่เสมอว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่รับรองเอกราชของโครเอเชีย แต่ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เนื่องจากโครเอเชียยังคงพัวพันในสงครามกับ ชาวเซิร์บจนถึงปี ๒๕๓๗ และภายหลังการสู้รบ โครเอเชียต้องมุ่งกับการบูรณาการภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันฝ่ายโครเอเชียแสดงท่าทีกระตือรือร้นที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์กับไทยให้เพิ่ม มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้พยายามส่งเสริมให้ทั้งสองฝ่ายมีการเยือนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง
๓. ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
โครเอเชียเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๑๑ ของไทยในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก มูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างไทยกับโครเอเชีย ในปี ๒๕๕๒ มีมูลค่า ๖๐.๖๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า ๓๓.๗๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย คอมพิวเตอร์ ข้าว เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องวิดีโอ ส่วนสินค้าสำคัญที่นำเข้าจากโครเอเชีย ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรและส่วนประกอบ ปูนซีเมนต์ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ โดยไทยเห็นว่า ควรเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกัน และพยายามศึกษาลู่ทางขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับโครเอเชียภายหลังการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป โดยใช้กลไกความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่จะจัดทำขึ้น
นอกจากนี้ โครเอเชียกำลังเร่งปูพื้นฐานทางเศรษฐกิจเพื่อรองรับการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป โดยพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่เมือง Rijeka ที่มีความลึกที่สุดในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และกำลังปรับปรุงเส้นทางขนส่งสินค้าไปยังประเทศในยุโรปตอนกลางและตอนใต้ ซึ่งเมื่อปี ๒๕๔๘ กระทรวงพาณิชย์ของไทยได้เคยส่งคณะไปสำรวจลู่ทางความเป็นไปได้ในการจัดทำคลังกระจายสินค้า
ด้านการท่องเที่ยวเป็นสาขาที่โครเอเชียมีศักยภาพสูง ซึ่งไทยสามารถหาลู่ทางการร่วมลงทุนกับโครเอเชียในการเปิดร้านอาหารไทย โรงแรมและการนวดแผนไทยได้ ทั้งนี้ ในปี ๒๕๕๐ มีนักท่องเที่ยวจากโครเอเชียเดินทางมาไทยจำนวน ๓,๔๑๔ คน ๔. แนวโน้มความสัมพันธ์ไทย-โครเอเชีย
เมื่อพิจารณาจากพัฒนาการของความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับโครเอเชียแล้ว การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในสาขาและระดับต่างๆ น่าจะพัฒนาต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและราบรื่น โครเอเชียมีความสนใจที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์กับไทยให้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนโยบายต่างประเทศของโครเอเชียขณะนี้มุ่งเน้นการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ และส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเป็นลำดับแรก การมีปฏิสัมพันธ์กับไทยอาจจะพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป
๕. ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย
๑. ความตกลงว่าด้วยการจราจรทางอากาศระหว่างไทยและโครเอเชีย (ลงนามเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๒)
๒. ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์
๒๕๔๓)
๓. ความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการระหว่างไทยและโครเอเชีย
(ลงนามเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕)

๖. การเยือนที่สำคัญ
๖.๑ ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- วันที่ ๑๐-๑๔ เมษายน ๒๕๔๓ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เยือนโครเอเชียตามคำกราบบังคมทูลเชิญของนาย Ivica Racan นายกรัฐมนตรีโครเอเชีย และได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้นาย Stjepan Mesic ประธานาธิบดีโครเอเชีย นาย Zlatko Tomcic ประธานรัฐสภาโครเอเชีย และนาย Ivica Racan นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯ ในโอกาสดังกล่าว
รัฐบาล
- วันที่ ๑๘-๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง
การต่างประเทศ เดินทางเยือนโครเอเชียอย่างเป็นทางการ
- วันที่ ๑-๒ มิถุนายน ๒๕๔๓ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางเยือนโครเอเชีย
- วันที่ ๒๘-๓๐ มีนาคม ๒๕๔๙ ดร. วีระชัย วีระเมธีกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง
การต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนโครเอเชีย
๖.๒ ฝ่ายโครเอเชีย
- วันที่ ๒๕-๒๗ ตุลาคม ๒๕๓๖ ดร. Ivo Sanader รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศโครเอเชีย เดินทางเยือนไทย
- วันที่ ๓๐ มีนาคม – ๓ เมษายน ๒๕๓๙ ดร. Mate Granic รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโครเอเชีย เดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของกระทรวง
การต่างประเทศ
- วันที่ ๖-๗ กรกฎาคม ๒๕๔๒ นาย Nenad Porges รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจโครเอเชีย เดินทางเยือนไทยเพื่อร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยการจราจรทางอากาศระหว่างไทยและโครเอเชีย
- วันที่ ๒๕-๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๓ นาย Goranko Fizulic รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจโครเอเชีย เดินทางเยือนไทย
- วันที่ ๑๐-๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ นาย Stjepan Mesic ประธานาธิบดีโครเอเชีย พร้อมภริยา
เดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของรัฐบาลในระดับ Official Working Visit และได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

กุมภาพันธ์ 2553



กองยุโรป 3 กรมยุโรป โทร. 0 2643 5142-3 Fax. 0 2643 5141 E-mail : [email protected]

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-20130402-115741-242990.pdf