วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ก.พ. 2554
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สาธารณรัฐไซปรัส
REPUBLIC OF CYPRUS
ที่ตั้ง
อยู่ในทวีปยุโรปใต้ เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ห่างจากทางตอนเหนือของอียิปต์ 240 ไมล์ ห่างจากตะวันตกของซีเรีย 64 ไมล์ ห่างจากทางใต้ของตุรกี 44 ไมล์ และห่างจากเกาะ Rhodes และเกาะ Carpathos ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรีซ 240 ไมล์
พื้นที่
9,251 ตารางกิโลเมตร แต่อยู่ในการครอบครองของไซปรัสตุรกี 3,355 ตาราง กิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของพื้นที่ทั้งหมด
เมืองหลวง
นิโคเซีย (Nicosia) ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลังจากการยึดครองส่วนเหนือของเกาะไซปรัสในปี 2517 โดยตุรกี
ประชากร
838,897 คน (ปี 2555) เป็นเชื้อสายไซปรัสกรีกร้อยละ 77 ไซปรัสตุรกีร้อยละ 18 และอื่น ๆ ร้อยละ 5
ภูมิอากาศ เมดิเตอร์เรเนียน เดือนที่อากาศร้อนและแห้งแล้งที่สุด คือ เดือนกรกฎาคม เดือนที่อากาศเย็นที่สุดและมีฝนตกมากที่สุด คือ เดือนมกราคม
ภาษาราชการ กรีก ตุรกี
ศาสนา คริสต์นิกายไซปรัสออร์โธด็อกซ์ ร้อยละ 78 มุสลิมนิกายสุหนี่ ร้อยละ 18 นอกจากนี้ ยังมีคริสต์นิกายมาโรไนต์ นิกายโรมันคาทอลิก และนิกายอาร์มาเนียนออร์โธดอกซ์อีกด้วย
วันชาติ 1 ตุลาคม
หน่วยเงินตรา ยูโร (Euro)
ภูมิหลัง
2503 ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร
2517 เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวไซปรัสเชื้อสายกรีกและชาวไซปรัสเชื้อสายตุรกี โดยชาวไซปรัสเชื้อสายกรีกมีอำนาจรัฐบาล แต่ได้รับการแทรกแซงจากตุรกี ทำให้เกิดการแบ่งแยกเป็นไซปรัสกรีกและไซปรัสตุรกี ซึ่งต่อมาไซปรัสตุรกีได้ควบคุมพื้นที่ 36.2% ของเกาะไซปรัส
2526 ไซปรัสตุรกีพยายามสถาปนาตนเองขึ้นเป็นรัฐ เรียกพื้นที่ในการครอบครองว่า Turkish Republic of Northern Cyprus (TRNC) แต่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลตุรกีแต่เพียงฝ่ายเดียว
2545-ปัจจุบัน สหประชาชาติได้ดำเนินความพยายามให้ไซปรัสกรีกและไซปรัสตุรกีเจรจาเพื่อการรวมประเทศ
การเมืองการปกครอง
ระบบการเมือง สาธารณรัฐ
รูปแบบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข และเป็นหัวหน้ารัฐบาล
อำนาจนิติบัญญัติ ไซปรัสมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2503 เป็นกฏหมายสูงสุด
รัฐสภาของไซปรัสเป็นแบบสภาเดียว คือสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะจัดให้มีการเลือกตั้งโดยตรงทุก 5 ปี โดยแบ่งออกเป็นสภาผู้แทนราษฎรของไซปรัสกรีก หรือ Vouli Antiprosopan และสภาผู้แทนราษฎรของไซปรัสตุรกี หรือ Cumhuriyet Meclisi
สภาฯ ของไซปรัสกรีก มีทั้งหมด 80 ที่นั่ง โดยแบ่งเป็นสมาชิกสภาฯ จากไซปรัสกรีก 56 ที่นั่ง และสมาชิกสภาฯ จากไซปรัสตุรกี 24 ที่นั่ง (ในขณะนี้ มีเพียงตัวแทนจากไซปรัสกรีกในสภา ขณะที่ที่นั่งของฝ่ายไซปรัสตุรกีได้ว่างเว้นไว้ เนื่องจากไซปรัสตุรกีไม่ให้การรับรอง จึงไม่มีการจัดส่งสมาชิกมาเข้าร่วมประชุม แต่ได้มีการจัดตั้งสภาฯ ขึ้นเป็นของตนเอง)
อำนาจตุลาการ ศาลสูงสุด (Supreme Court) ผู้พิพากษาได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี
ประธานาธิบดี (Chief of State and Chief of Government) ไซปรัสมีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง และอยู่ในวาระคราวละ 5 ปี ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2556 นายยนิคอส อนาสตาเซียเดส(Nicos Anastasiades) ชนะการเลือกตั้ง และเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 โดยเป็นประธานาธิบดีคนที่ 7 นับตั้งแต่ไซปรัสได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมื่อปี 2503
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
นายโยอานิส คัสซูลีเดส (Ioannis Kasoulides)
ทั้งนี้ รัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นรัฐบาลของสาธารณรัฐไซปรัสที่ถูกต้อง คือรัฐบาลไซปรัสกรีก
เศรษฐกิจการค้า
ดัชนีทางเศรษฐกิจที่สำคัญ (ปี 2555)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 23.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้เฉลี่ยต่อหัว 26,389 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตของ GDP ร้อยละ -2.3
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 3.4
สินค้าส่งออก เภสัชกรรม ซีเมนต์ เสื้อผ้า ยาสูบ
ประเทศผู้ส่งออกสำคัญ กรีซ (ร้อยละ 23) อังกฤษ (ร้อยละ 10)
สินค้านำเข้า สินค้าอุปโภคบริโภค ปิโตรเลียม เครื่องจักร
ประเทศผู้นำเข้าสำคัญ กรีซ (ร้อยละ 21) อิสราเอล (ร้อยละ 12) อิตาลี (ร้อยละ 8) สหราชอาณาจักร (ร้อยละ 7) เยอรมนี (ร้อยละ 7) เนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 7) ฝรั่งเศส(ร้อยละ 6) จีน (ร้อยละ 5)
ทรัพยากร ธรรมชาติที่สำคัญ ก๊าซธรรมชาติ ทองแดง ไพไรท์ (ธาตุใช้ในการผลิตกรดซัลฟูริค) เส้นใย ไฟเบอร์ธรรมชาติ (ใช้กันไฟ) ยิบซั่ม ไม้ เกลือ หินอ่อน
อุตสาหกรรมหลัก การธนาคาร การท่องเที่ยว การเดินเรือ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับแร่และซิเมนต์ การก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์รองเท้า อาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับไซปรัส
1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
1.1 การทูต
ไทยและไซปรัสได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2523 ปัจจุบัน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม มีเขตอาณาครอบคลุมไซปรัส โดยเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐไซปรัส มีถิ่นพำนัก ณ กรุงโรม (อิตาลี) คนปัจจุบันคือ นายสุรพิทย์ กีรติบุตร และมีนาย Elias Panayides เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำไซปรัส ส่วนเอกอัครราชทูตไซปรัสประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน คือ นาง Maria Michail โดยมีถิ่นพำนักอยู่ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย และนายปณิธิ วสุรัตน์ เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ไซปรัสประจำไทย
สำหรับท่าทีของไทยต่อปัญหาไซปรัส คือ ไทยไม่ให้การรับรองสาธารณรัฐตุรกีแห่งไซปรัสเหนือ หรือ Turkish Republic or Northern Cyprus (TRNC) โดยตุรกีเป็นประเทศเดียวที่รับรอง TRNC ทั้งนี้ ไทยยึดถือและปฏิบัติตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) และการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาไซปรัส ซึ่งไม่รับรองดินแดนส่วนเหนือที่ตุรกีส่งกองกำลังเข้าไปยึดครองตั้งแต่ปี 2517 และไทยสนับสนุนบทบาทของสหประชาชาติในการดำเนินความพยายามเพื่อให้มีการเจรจา แก้ไขปัญหาระหว่างชุมชนไซปรัสทั้งสองกลุ่มและประเทศที่เกี่ยวข้องต่อไป
1.2 การเมือง
ไทยกับไซปรัสมีความสัมพันธ์ทางการเมืองค่อนข้างน้อย ไม่มีการแลกเปลี่ยนการเยือนมากนัก อย่างไรก็ดี ไทยกับไซปรัสมีความร่วมมือในกรอบพหุภาคี อาทิ กรอบการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting (ASEM)) และการแลกเสียงในองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ
1.3 เศรษฐกิจ
1.3.1 การค้า
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับไซปรัสยังมีอยู่น้อยเช่นกัน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการค้าของไซปรัสผูกติดกับประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป เป็นส่วนใหญ่
มูลค่าการค้าไทย-ไซปรัส ในปี 2555 การค้าสองฝ่ายระหว่างไทยกับไซปรัสมีมูลค่าเท่ากับ 34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกของไทย อาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์และส่วนประกอบ ปลาหมึกสด/กุ้งสดแช่แข็ง เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องดื่ม
สินค้านำเข้าจากไซปรัส ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผลไม้ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เลนซ์ แว่นตา และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ยุทธปัจจัย
1.3.2 การลงทุน
การลงทุนของไซปรัสในไทยมีเพียงโครงการเดียวในด้านพาณิชย์นาวี มูลค่า 228 ล้านบาท
1.4 การท่องเที่ยว
นักท่องเที่ยวไซปรัสมาไทย 2,732 คน (2555)
1.5 คนไทยในไซปรัส
มีคนไทยอาศัยอยู่ในไซปรัสประมาณ 200 คน ส่วนใหญ่เป็นสตรีที่แต่งงานกับคนไซปรัส
1.6 สังคมและวัฒนธรรม
ในด้านสังคม สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำไซปรัสประเมินว่ามีคนไทยอยู่ในไซปรัสประมาณ 200 คน โดยในจำนวนนี้ มีถิ่นพำนักอยู่ในกรุงนิโคเซียประมาณ 100 คน ส่วนใหญ่เป็นสตรีที่แต่งงานกับคนไซปรัส
2. ความตกลงกับไทย
2.1 ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (ลงนามเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2537)
2.2 ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรใน ส่วนที่เกี่ยวกับภาษีที่เก็บจากเงินได้ (ลงนามเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2541 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2543)
3. การเยือนที่สำคัญ
3.1 ฝ่ายไทย
- วันที่ 25-26 ตุลาคม 2547 นายวรพจน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เอกอัครราชทูตไทยประจำไซปรัส โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงโรม เยือนไซปรัสเพื่อยื่นพระราชสาส์นต่อประธานาธิบดี Tassos Papadopoulos
3.2 ฝ่ายไซปรัส
- วันที่ 25 - 29 พฤษภาคม 2517 พระสังฆราชมาการิออส อดีตประธานาธิบดีไซปรัส เยือนไทยในฐานะแขกของรัฐบาล
- วันที่ 1 - 3 กรกฎาคม 2527 ประธานาธิบดี Spyros Kyprianou แห่งสาธารณรัฐไซปรัส พร้อมด้วยนาย George Iacovou รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทย
- วันที่ 18-20 มีนาคม 2533 นาย Andreas Jacovides ปลัดกระทรวงการต่างประเทศไซปรัสเยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 14 พฤษภาคม 2534 นาย Tassos Panayides ปลัดกระทรวงการต่างประเทศไซปรัสเแวะผ่านไทย
- วันที่ 18 ธันวาคม 2546 นาย Andreas G. Skarparis เอกอัครราชทูตไซปรัสประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงนิวเดลี เยือนไทย ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตไซปรัสประจำประเทศไทย โดยมีถิ่นพำนักอยู่ที่ประเทศอินเดีย
- วันที่ 18 ธันวาคม 2554 นาง Nafsika Chr. Krousti เอกอัครราชทูตไซปรัสประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงนิวเดลี เยือนไทย ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตไซปรัสประจำประเทศไทย
- วันที่ 10 ธันวาคม 2556 นาง Maria Michail เอกอัครราชทูตไซปรัสประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงนิวเดลี เยือนไทย ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตไซปรัสประจำประเทศไทย
หน่วยงานของไทยในไซปรัส
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโรม (อิตาลี) มีเขตอาณาครอบคลุมไซปรัส
Royal Thai Embassy, Rome
ที่ตั้ง: Via Nomentana 132t 00162, Rome, Republic of Italy
Tel. (3906) 8620-4381, 8620-4382
Fax (3906) 8620-8399
E-mail : [email protected]
- สถานกงสุล ณ กรุงนิโคเซีย (ไซปรัส)
Royal Thai Consulate, Nicosia
ที่ตั้ง: 40 Evagoras Ave., Flat 3, Nicosia, Cyprus
Tel. +357 (22) 674900, 676666
Fax +357 (22) 675544
Email: [email protected]
3 ม.ค. 2557
กองยุโรป 2 กรมยุโรป โทร. 0 2643 5000 ต่อ 13181 Fax. 0 2643 5132 E-mail : [email protected]
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **