สาธารณรัฐอิตาลี

สาธารณรัฐอิตาลี

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.พ. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 63,770 view


สาธารณรัฐอิตาลี
The Italian Republic

ข้อมูลทั่วไป

อิตาลีอยู่ในตอนใต้ของทวีปยุโรป และตอนเหนือของแอฟริกา โดยมีลักษณะเป็นคาบสมุทรยื่นออกไปในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พื้นที่ร้อยละ 75 เป็นภูเขาและที่ราบสูง
ทิศเหนือติดประเทศสวิตเซอร์แลนด์และออสเตรีย ทิศใต้ติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลไอโอเนียน ทิศตะวันตกติดประเทศฝรั่งเศสและทะเลไทเรเนียน ทิศตะวันออกติดทะเลอาเดรียติก และอยู่ตรงข้ามกับสโลเวเนีย โครเอเชีย บอสเนีย มอนเตเนโกร และแอลเบเนีย

อิตาลีมีเนื้อที่ 116,303 ตารางไมล์ หรือ 301,225 ตารางกิโลเมตร นอกจากพื้นที่ที่เป็นคาบสมุทรแล้ว อิตาลียังประกอบด้วยเกาะซาร์ดิเนียและซิซิลีด้วย พื้นที่ร้อยละ 57 เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ร้อยละ 21 เป็นป่าและภูเขา

ภูมิอากาศ แบบเมดิเตอร์เรเนียน

ประชากร 61. 50 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวอิตาเลียน และมีชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติอื่นๆ คือ เยอรมัน ฝรั่งเศส สโลวีเนีย และแอลเบเนีย

เมืองหลวง โรม (Rome)

ภาษาราชการ อิตาเลียน และมีภาษาเยอรมันเป็นภาษารอง โดยเฉพาะบริเวณแคว้น Trentino-Alto Adige ที่ติดกับออสเตรีย และภาษาฝรั่งเศสในแคว้น Valle d’Aosta นอกจากนี้ สามารถใช้ภาษาสเปนกับชาวอิตาเลียนได้ อนึ่ง ในอิตาลีมีภาษาท้องถิ่น อาทิ TUSCAN dialect

ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก (98%) แต่ให้เสรีภาพทุกศาสนา โดยอิตาลีรับรองสถานะพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543

วันชาติ 2 มิถุนายน

สกุลเงิน ยูโร (Euro)
 

การเมืองการปกครอง

รูปแบบการปกครอง
ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดี ดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศ มีนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายบริหาร และมีฝ่ายตุลาการแยกเป็นอิสระ

ประธานาธิบดี นายแซร์โจ มัตตาเรลลา (Sergio Mattarella) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 12 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

นายกรัฐมนตรี นายมัตเตโอ เรนซี่ (Matteo Renzi) เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 56

นายกรัฐมนตรีเป็นผู้จัดตั้งคณะรัฐบาล (Council of Ministers) โดยได้รับความเห็นชอบจากประธานาธิบดี ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บางทีเรียกว่า President of the Council of Ministers

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายเปาโล เกนติโลนิ (Paolo Gentiloni)

รัฐสภา
ระบบ 2 สภาที่สมบูรณ์แบบ (Perfect bicameral system) คือ สภาผู้แทนราษฎร (Chamber of Deputies) และวุฒิสภา (Senate of the Republic) มีอำนาจและหน้าที่เท่าเทียมกัน วาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี (ปัจจุบัน มี สส. 630 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และแบบสัดส่วน และวุฒิสมาชิก 322 คน มาจากการเลือกตั้งทั่วไปจากแคว้นต่างๆ และตลอดชีพ 7 คน)

การปกครองส่วนท้องถิ่น อิตาลีแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 20 แคว้น
หรือภูมิภาค (regions) (และแบ่งเป็น 94 จังหวัด) ได้แก่ Abruzzo, Basilicata, Calabria,Campania, Emilia-Romagna,Fuiuli-Venezia Giulia, Lazio,Liguria, Lombardia, Marche,Molise, Piemonte, Puglia,Sardegna (Sardinia), Sicilia (Sicily)Toscana, Trentino-Alto Adige, Umbria, Valle d’Aosta, Veneto,โดยมี 5 แคว้นคือ Fuiuli-Venezia Giulia,Sardinia, Sicily, Trentino-Alto Adige, และ Valle d’Aosta ได้รับสถานะพิเศษให้ปกครองตนเองตามรัฐธรรมนูญ

ในแต่ละแคว้นจะมีองค์กรการปกครองหลักอยู่ 3 องค์กร คือ
- คณะมนตรีแคว้น (Regional Council) ทำหน้าที่ตรากฎหมายและระเบียบข้อบังคับในเขตอำนาจ
- คณะกรรมการ (The Junta) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร
- ประธานคณะกรรมการ (The President of the Junta) ทำหน้าที่คล้ายนายกรัฐมนตรีในเขตอำนาจ แต่ทั้งนี้ ก็จะมีผู้แทนของรัฐบาลคนหนึ่งอยู่ประจำ ณ นครหลวงของแคว้นนั้นๆ คอยควบคุมดูแลการบริหารของรัฐบาลท้องถิ่นและทำหน้าที่ประสานงานระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นกับรัฐบาลกลาง

นโยบายต่างประเทศที่สำคัญ

1. อิตาลีเป็นประเทศที่มีบทบาทสูงในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ อาทิ เป็นสมาชิก EU องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic and Co-operation and Development – OECD) องค์การการค้าโลก (World Trade Organization – WTO) องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Cooperation in Europe – OSCE) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations – FAO) กองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม (International Fund for Agricultural Development – IFAD) โครงการอาหารโลก (World Food Programme - WFP) สภายุโรป (Council of Europe) เคยเป็นประธาน G8 ปี พ.ศ. 2544 และ 2552 และเป็นสมาชิกไม่ถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council – UNSC) วาระปี พ.ศ 2550 -2551 

2. นโยบายอิตาลีต่อภูมิภาคเอเชีย/อาเซียน (ASEAN) - อิตาลีหันมาให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว กอปรกับเศรษฐกิจในยุโรปที่ถดถอย โดยสนใจลงทุนในจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ การลงทุนของอิตาลีที่ประสบความสำเร็จในเอเชีย คือ การลงทุนของบริษัท Piaggio ผลิตรถจักรยานยนต์แบบ scooter ยี่ห้อ Vespa และยี่ห้ออื่น ๆ ในเครือ ในอินเดีย จีน และเวียดนาม

อิตาลีมุ่งดำเนินนโยบาย International Economic Diplomacy หรือการใช้การทูตชักนำผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเข้าประเทศอย่างจริงจัง โดยปรับโครงสร้างมาใช้ระบบ Country System เพื่อผลักดันความร่วมมือกับแต่ละภูมิภาคแบบองค์รวม โดยอิตาลีต้องการเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน ซึ่งจะก้าวขึ้นเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) ในปี พ.ศ. 2558 เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนในจีน และอาศัยประโยชน์จากตลาดอาเซียน และความเชื่อมโยงในภูมิภาคให้เกิดประโยชน์กับตน

3. ท่าที/นโยบายต่อภูมิภาคอื่นๆ
- นโยบายต่อตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ ให้ความสำคัญต่อการเข้าไปมีบทบาท เนื่องจากมีความสำคัญต่ออิตาลีในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน เนื่องจากอิตาลีจำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานจากภูมิภาคตะวันออกกลาง และการรับมือกับผู้อพยพผิดกฎหมายจากแอฟริกาเหนือที่สามารถใช้อิตาลีเป็นทางผ่านไปยังประเทศในยุโรปอื่นๆ

- บทบาทที่สำคัญ ได้แก่ การสนับสนุนด้านการพัฒนา สาธารณสุข การศึกษา การเกษตร และโครงสร้างพื้นฐานในแอฟริกาและเอเซีย มูลค่าราว 60 ล้านยูโร (80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)  สำหรับโครงการด้านการเกษตรในเอธิโอเปีย โครงการ Afghan institute consolidation ในอัฟกานิสถาน โครงการด้านการศึกษาในโมซัมบิก และกำลังพิจารณาความช่วยเหลือเงินกู้ยืมให้แก่โซมาเลีย โมซัมบิก เอริเทรีย อัฟกานิสถาน เลบานอน เกาหลีเหนือ และเมียนมาร์ 

เศรษฐกิจการค้า

ข้อมูลเศรษฐกิจโดยสังเขป (ปี พ.ศ. 2557)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
2,129.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

รายได้ประชาชาติต่อหัว 35,511.75 ดอลลาร์สหรัฐ

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ -1.4

โครงสร้างทางเศรษฐกิจทั่วไป
อิตาลีมีพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่เหมาะแก่การเกษตรกรรม และมีทรัพยากรธรรมชาติไม่มาก แม้จะมีก๊าซธรรมชาติอยู่บ้าง จึงเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าอาหาร (net food importer) และพลังงาน ปัจจุบันอิตาลีเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาเกษตรกรรมเป็นสำคัญมาเป็นอุตสาหกรรม และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ของโลก โดยรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรสูงไล่เลี่ยกับอังกฤษและฝรั่งเศส อิตาลีสามารถเป็นโมเดลของไทยในด้านอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยมีอุตสาหกรรมที่สำคัญ อาทิ รถยนต์ เครื่องจักรกล การก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ เภสัชภัณฑ์ เครื่องไฟฟ้า เครื่องเรือน อุตสาหกรรมทอผ้า เสื้อผ้าและแฟชั่น และการท่องเที่ยว

อิตาลีเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม G8 และเข้าร่วมสหภาพการเงินของสหภาพยุโรป (EMU) มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2541 แม้ระบบเศรษฐกิจของอิตาลีเป็นระบบทุนนิยม ภาคเอกชนสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างเสรี แต่รัฐบาลยังคงเข้ามามีบทบาทควบคุมกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ ด้านสาธารณูปโภค อุตสาหกรรมพื้นฐาน เป็นต้น ซึ่งได้ก่อประโยชน์ให้แก่ภาครัฐบาลในการสร้างฐานอำนาจและแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีความพยายามที่จะลด บทบาทของพรรคการเมืองโดยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการ อย่างไรก็ตาม อิตาลียังมีปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศหลายประการ ที่สำคัญได้แก่ การขาดดุลงบประมาณในระดับสูง การว่างงาน การขาดแคลนทรัพยากรพลังงานในประเทศ และระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างอิตาลีตอนเหนือ (Lombardy, Emilia, Tuscany) ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและการค้า และมีกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs อยู่หนาแน่น กับอิตาลีตอนกลางและตอนล่าง รวมทั้งเกาะ Sicily และ Sardinia ซึ่งเป็นแหล่งเกษตรกรรม บริเวณที่พัฒนาน้อยกว่านี้มีพื้นที่รวมกันเป็นร้อยละ 40 ของประเทศ มีประชากรอาศัยอยู่ถึงร้อยละ 35 และมีอัตราการว่างงานสูงถึงกว่าร้อยละ 20
 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอิตาลี

ความสัมพันธ์ทางด้านการทูต
ประเทศไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิตาลีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2411 (ค.ศ. 1868) โดยการลงนามสนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพ การพาณิชย์ และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2411 ต่อมาอิตาลีได้แต่งตั้งกงสุลอิตาลีประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2429

ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-อิตาลีโดยทั่วไปดำเนินไปอย่างราบรื่น ทั้งสองฝ่ายไม่มีปัญหาขัดแย้งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน นอกจากนั้น ยังมีการแลกเปลี่ยนการเยือนทั้งในระดับพระราชวงศ์ บุคคลสำคัญ และเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลทั้งสองประเทศอย่างสม่ำเสมอ

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม มีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐแอลเบเนีย สาธารณรัฐไซปรัส รัฐอธิปไตยทหาร ออร์เดอร์ ออฟ มอลตา และสาธารณรัฐซานมาริโน

สถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทยในอิตาลี มีจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ เจนัว มิลาน เนเปิลส์ ตูริน คาตาเนีย และเวนิส

เอกอัครราชทูตไทยประจำอิตาลี
นายสุรพิทย์ กีรติบุตร

สถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย มีเขตอาณาครอบคลุมลาวและกัมพูชา

เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน
นายฟรันเซสโก ซาเวรีโอ  นีซีโอ  (Francesco Saverio Nisio)

สถานกงสุลกิตติมศักดิ์อิตาลีในประเทศไทย มี 2 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ และภูเก็ต 


การค้า

ในปี 2557 อิตาลีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของไทยในสหภาพยุโรป และอันดับที่ 27 ของไทยในโลก มูลค่าการค้ารวม 3,783.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 1,514.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 2,269.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไทยขาดดุลการค้า 755.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ปลาหมึกสดแช่เย็นและแช่แข็ง ยางพารา รถยนต์และส่วนประกอบ อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เหล็ก เหล็กกล้า เครื่องนุ่งห่ม 
สินค้านำเข้าสำคัญจากอิตาลี ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้า และส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ เวชกรรมและเภสัชกรรม สินค้าทุนอื่นๆ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด
สินค้าส่งออกที่มีศักยภาพของไทย ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า ข้าว อาหารทะเลกระป๋อง ยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง อัญมณีและเครื่องประดับ และยางพารา เป็นต้น
สินค้านำเข้าที่มีศักยภาพจากอิตาลี ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า น้ำมันดิบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องมือเครื่องมือใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เครื่องบินและอุปกรณ์การบิน เป็นต้น

การลงทุน

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา (ปี 2547-2557) อิตาลีมีการลงทุนในไทย จำนวน 79 โครงการ มูลค่าราว 10,164 ล้านบาท

การท่องเที่ยว
ในปี พ.ศ. 2557 มีนักท่องเที่ยวอิตาลีเดินทางมาไทยจำนวน 181,642 คน ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยอยู่ในกลุ่ม 25 ประเทศแรกที่ชาวอิตาลีเลือกเดินทางมาท่องเที่ยว และจำนวนนักท่องเที่ยวอิตาลีก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี

ความตกลงกับไทย
- ความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (ลงนามเมื่อ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2498)
- อนุสัญญาว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีที่เก็บจากเงินได้ (ลงนามเมื่อ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2520)
- ความตกลงพื้นฐานว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ (ลงนามเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2526)
- สนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอิตาลี (ลงนามเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527)
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการเงิน (ลงนามเมื่อ 22 เมษายน พ.ศ. 2531)
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการลงทุน (ลงนามเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535)
- ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะมนตรีธุรกิจ ระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกับสมาพันธ์อุตสาหกรรมแห่งอิตาลี (CONFINDUSTRIA) (ลงนามเมื่อ 14 มีนาคม พ.ศ. 2537)
- ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และเทคโนโลยี ระหว่างสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยกับสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอของอิตาลี (ลงนามเมื่อ 27 มีนาคม พ.ศ. 2542)
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (ลงนามเมื่อ 22 กันยายน พ.ศ. 2547)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ลงนามเมื่อ 22 กันยายน พ.ศ. 2547)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกับสถาบันเพื่อการค้าต่างประเทศของอิตาลี (อิเช่ - ICE) (ลงนามเมื่อ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจของอิตาลีในต่างประเทศระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกับสถาบันการเงินของอิตาลี (ลงนามเมื่อ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในเรื่องการส่งเสริมและการตลาดอาหารไทยและอิตาลีในระดับระหว่างประเทศระหว่างสถาบันอาหารของไทยกับสถาบันเพื่อการค้าต่างประเทศของอิตาลี (ลงนามเมื่อ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อส่งเสริมสินค้า OTOP และ SMEs ระหว่างหอการค้าไทย-อิตาลีกับบริษัทส่งเสริมการค้าเอสเอ็มอีจำกัด (ลงนามเมื่อ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขยายความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ ไทยกับกระทรวงการต่างประเทศอิตาลี  (ลงนามเมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553)    
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านกิจการอวกาศ (ลงนามเมื่อ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2554)
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ (ลงนามเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ฉบับที่ 2) (ลงนามเมื่อ 11 กันยายน พ.ศ. 2556)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกับสถาบันเพื่อการค้าต่างประเทศของอิตาลี (อิเช่ - ICE) ฉบับที่ 2 (11 กันยายน พ.ศ. 2556)

ความร่วมมือด้านวิชาการ
หน่วยงานต่าง ๆ ของไทยได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลอิตาลีภายใต้กรอบความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทยกับอิตาลีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน และมีบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร คมนาคม สาธารณูปโภค อาชีวศึกษา และการแพทย์ รัฐบาลอิตาลีได้จัดสรรทุนด้านพลังงาน การเกษตร เศรษฐศาสตร์ อาชีวศึกษา การโรงแรมและท่องเที่ยวให้แก่ไทยค่อนข้างสม่ำเสมอ

ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม
ไทยและอิตาลีมีความร่วมมือด้านวัฒนธรรมมานาน โดยในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ไทยได้ว่าจ้างสถาปนิก จิตรกร และศิลปินชาวอิตาเลียนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบอาคาร สถานที่สำคัญๆ ของไทย อาทิ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทำเนียบรัฐบาล บ้านพิษณุโลก กระทรวงกลาโหม สถานีรถไฟหัวลำโพง วังบางขุนพรหม พระที่นั่งอภิเษกดุสิต พระที่นั่งสวนอัมพร ห้องสมุดเนลสัน เฮยส์ สำหรับชาวอิตาเลียนที่มีบทบาทในวงการศิลปะของไทยมากที่สุดคือ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี (นาย Corrado Feroci) ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม และความร่วมมือในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นความร่วมมือในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม ระหว่างสอท. อิตาลีประจำประเทศไทยและบริษัทต่างๆ ของอิตาลีในไทย ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของไทยทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมหาวิทยาลัยของไทย นอกจากนี้สถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย ยังได้มีส่วนร่วมในโครงการบูรณะ วังพญาไท (Phya Thai Palace Restoration Project) ของมูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า (Phra Mongkut Klao Hospital Foundation) โดยได้นำคณะผู้เชี่ยวชาญเชิงอนุรักษ์จากอิตาลีมาชมโครงการ และร่วมมือสนับสนุนการบูรณะอีกด้วย 

การเยือนที่สำคัญ
ฝ่ายไทย

ระดับพระราชวงศ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

- วันที่ 28 กันยายน –- 1 ตุลาคม พ.ศ. 2503 เสด็จฯ เยือนอิตาลีอย่างเป็นทางการในฐานะ พระราชอาคันตุกะของประธานาธิบดี Giovanni Gronchi และ นายกรัฐมนตรี Amintore Fanfani

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- วันที่ 3 – 16 เมษายน พ.ศ. 2531 เสด็จฯ เยือนอิตาลี เพื่อทรงเป็นกรรมการตัดสินหนังสือเด็กที่เมืองโบโลญญา และเป็นพระราชอาคันตุกะของรัฐบาลอิตาลี
- วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 เสด็จฯ เยือนอิตาลี
- วันที่ 8 - 11 เมษายน พ.ศ. 2545 เสด็จฯ เยือนจังหวัดคาตาเนีย แคว้นซิซิลี ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของประธานจังหวัดคาตาเนีย
- วันที่ 11 - 14 ตุลาคม พ.ศ. 2547 เสด็จฯ เยือนอิตาลี เพื่อกล่าวเปิดการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการอาหารโลก ครั้งที่ 3 และรับการถวายตำแหน่ง Special Ambassador of the United Nations World Food Programme for School Feeding

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
- วันที่ 23 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม พ.ศ. 2539 เสด็จเยือนอิตาลี
- วันที่ 22-26 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เพื่อทรงรับการถวายรางวัล 2009 Ramazzini Award และทรงเข้าร่วมประชุมวิชาการประจำปีของสถาบัน Collegium Ramazzini

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
หม่อมเจ้าหญิงสิริวัณวรี มหิดล
- วันที่ 24 – 29 กันยายน พ.ศ. 2547 เสด็จเยือนมิลาน เพื่อร่วมงานวิถีแห่งเอเชีย

รัฐบาล
- วันที่ 20 - 21 มกราคม พ.ศ. 2529 ร.ต.ประพาส ลิมปะพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนอิตาลีเพื่อเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-อิตาลี ครั้งที่ 2
- วันที่ 19 - 21 กันยายน พ.ศ. 2537 นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนอิตาลีอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 4 - 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนอิตาลี เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-อิตาลี ครั้งที่ 4
- วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เยือนอิตาลี เพื่อหาเสียงสำหรับการลงสมัครตำแหน่งผู้อำนวยการ WTO
- วันที่ 14 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เยือนอิตาลี
- วันที่ 4 - 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 นายวัฒนา อัศวเหม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เยือนอิตาลี เพื่อดูงานฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
- วันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม พ.ศ. 2542 นายสุทัศน์ เงินหมื่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เยือนอิตาลี
- วันที่ 12 - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เยือนอิตาลี
- วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2542 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เยือนอิตาลี
- วันที่ 10 - 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เยือนอิตาลี
- วันที่ 24 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2543 นายกร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เยือนอิตาลี
- วันที่ 6 – 9 เมษายน พ.ศ. 2543 ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เยือนอิตาลี
- วันที่ 21 - 24 ตุลาคม พ.ศ. 2546 นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เยือนอิตาลี
- วันที่ 20 - 22 กันยายน พ.ศ. 2547 นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี เยือนอิตาลี
- วันที่ 21 - 23 กันยายน พ.ศ. 2547 พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนอิตาลีอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 27 - 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เยือนอิตาลี
- วันที่ 30 กันยายน  - 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนอิตาลี
- วันที่ 10-14 กันยายน พ.ศ. 2556 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเยือนอิตาลี
- วันที่ 16-17 ตุลาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมด้วย พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 10 (ASEM 10) ที่นครมิลาน

ฝ่ายอิตาลี
- วันที่ 7 - 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 นาย Giulio Andreotti รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลี เยือนไทย
- วันที่ 19 - 21 มกราคม พ.ศ. 2530 นาย Bruno Corti รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลี เยือนไทย
- วันที่ 12 - 17 ตุลาคม พ.ศ. 2530 นาย Giulio Andreotti รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลี เยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสหภาพรัฐสภา
- วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 นาย Gianni De Michelis รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลี เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- สิงหาคม พ.ศ. 2538 นาย Emmanuele Scammacca De Murgo รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลี เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 1 - 3 มีนาคม พ.ศ. 2539 นาย Lamberto Dini นายกรัฐมนตรีอิตาลี เยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 1
- วันที่ 23 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2541 นาง Patrizia Toia รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลี เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 11 - 12 ธันวาคม พ.ศ. 2541 นาย Oscar Luigi Scalfaro ประธานาธิบดีอิตาลี เยือนไทย
- วันที่ 1 - 2 เมษายน พ.ศ. 2542 นาย Marco Pezzoni ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ รัฐสภาอิตาลี เยือนไทย
- วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2545 - 2 มกราคม พ.ศ. 2546 นาย Pier Ferdinando Casini ประธานสภาผู้แทนราษฎรอิตาลี เยือนไทย
- วันที่ 16 – 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 นาง Margherita Boniver รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลี เยือนไทย
- วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม พ.ศ. 2546 นาย Silvatore Cicu รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมอิตาลี เยือนไทย
- วันที่ 14 - 15 ธันวาคม พ.ศ. 2546 นาง Margherita Boniver รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลี เยือนไทย
- วันที่ 18 - 19 มกราคม พ.ศ. 2547 นาง Margherita Boniver รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลี เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 31 สิงหาคม - 1 กันยายน พ.ศ. 2547 นาย Roberto Antonione รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลี เยือนไทย
- วันที่ 2 - 3 ธันวาคม พ.ศ. 2547 นาย Paolo Scarpa รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรอิตาลี เยือนไทย
- วันที่ 8 - 10 มกราคม พ.ศ. 2548 นาง Margherita Boniver รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลี เยือนไทย
- วันที่ 21 - 22 มกราคม พ.ศ. 2548 นาย Gianfranco Fini รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลี เยือนไทย
- วันที่ 9 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 นาย Adolfo Urso รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการผลผลิตอิตาลี เยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุม Thai-Italian Working Group for SMEs Cooperation ครั้งที่ 1
- วันที่ 21 – 24 มีนาคม พ.ศ. 2550 นาย Goffredo Bettini วุฒิสมาชิกรัฐสภาอิตาลี เยือนไทย ตามคำเชิญของกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2550 นาย Gianni Vernetti รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลี เยือนไทย (เป็นรัฐมนตรีของประเทศในกลุ่ม EU คนแรกที่มาเยือนไทยภายหลังเหตุการ 19 กันยายน 2549)

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม
Royal Thai Embassy Tel (3906) 8622-051
Via Nomentana 132, Fax (3906) 8622-0555
00162 ROME
Email: [email protected]

กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ประจำเมืองตูริน (นาย Benazzo Achille)
Via Genovesi 2 Torino
Tel. 011 5097214
Fax. 011 5806180
Email: [email protected]

กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ประจำเมืองเจนัว (นาย Franco Novi)
Via D. Fiasella 4/14 - 16121 Genova
Tel. 010 5492500
Email: [email protected]

กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ประจำเมืองมิลาน (นาย Alberto Virgilio)
Viale Berengario 15 - 20149 Milan
Tel. 02 460299
Fax. 02 4812617
Email: [email protected]

กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ที่เมืองเนเปิลส์ (นาย Igor Suprina Petrovic)
Viale Virgilio N.5 - Napoli
Tel. 081 - 7690959
Fax. 081 - 5536107

กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ที่เมืองคาตาเนีย (นาย Nania Giovanni)
Via Ethea, 196 - Catania
Tel. 338 - 1299863
Fax. 095 - 7153273
[email protected]

กงสุลกิตติมศักดิ์ที่เมืองเวนิส (นาย Andrea Marcon)
Sestiere San Marco, Venezia 1808-30124
[email protected]


12 มีนาคม 2558

กองยุโรป 2 กรมยุโรป โทร. 02 643 5000 Fax. 0 2643 5132 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ