วันที่นำเข้าข้อมูล 9 เม.ย. 2553
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สหพันธรัฐรัสเซีย
Russian Federation
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทั้งในทวีปเอเชียตอนเหนือและทวีปยุโรป มีเทือกเขาอูราลเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างทั้งสองทวีป พื้นที่ 2 ใน 3 ของรัสเซียอยู่ในทวีปเอเชีย และมีพรมแดนติดกับประเทศอาเซอร์ไบจาน จอร์เจีย เบลารุส จีน เอสโตเนีย ฟินแลนด์ คาซัคสถาน เกาหลีเหนือ ลัตเวีย ลิทัวเนีย มองโกเลีย นอร์เวย์ โปแลนด์ และยูเครน และมีพื้ที่ติดกับมหาสมุทรอาร์กติกและมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ
พื้นที่ 17,075,400 ตารางกิโลเมตร (ใหญ่กว่าประเทศไทย 33 เท่า)
โดยมีระยะทางจากด้านตะวันออกจรดตะวันตก 9,000 กิโลเมตร และจากด้านเหนือจรดใต้มีระยะทาง 4,000 กิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงมอสโก (Moscow)
ประชากร 143 ล้านคน เป็นชาวรัสเซีย ร้อยละ 79.8 ที่เหลือเป็นเชื้อชาติอื่น ๆ อาทิ ตาตาร์ ยูเครน บาชคีร์ เบลารุส เยอรมัน ยิว อาร์เมเนีย และคาซัค
ภูมิอากาศ มี 4 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง ฤดูหนาว และฤดูใบไม้ผลิ โดยเนื่องจากเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ ระดับอุณหภูมิจะแตกต่างตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ อุณหภูมิโดยเฉลี่ยทั้งปีของรัสเซียฝั่งยุโรป ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส
ภาษาราชการ ภาษารัสเซีย
ศาสนา คริสตศาสนานิกายออธอดอกซ์รัสเซีย ร้อยละ 70 ศาสนาอิสลาม ร้อยละ 5.5 คริสตศาสนานิกายโรมัน คาทอลิก ร้อยละ 1.8 ศาสนาพุทธนิกายมหายาน ร้อยละ 0.6 อื่นๆ และไม่นับถือศาสนาใดๆ ร้อยละ 22.1
ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายวลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Putin)
เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2555
นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ นายดมิทรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2555
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คือ นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Sergey Lavrov)
ระบอบการปกครอง สหพันธรัฐ ประกอบด้วยหน่วยการปกครอง 83 หน่วย แบ่งเป็น 21 สาธารณรัฐ (Republic) 9 เขตการปกครอง (Krai) 46 มณฑล (Oblast) 2 นคร (Federal cities) ได้แก่ กรุงมอสโกและนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
4 ภาคปกครองตนเอง (Autonomous Okrug) และ 1 มณฑลปกครองตนเอง (Autonomous Oblast) ปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาดูมา (Duma) และสภาสหพันธรัฐ
วันชาติ 12 มิถุนายน
วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1897 (พ.ศ. 2440)
หน่วยเงินตรา รูเบิล (Russian ruble) อัตราแลกเปลี่ยน 1 รูเบิล เท่ากับประมาณ 0.96 บาท (ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2555)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 16,687 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ต่อปี (ปี 2554)
สินค้านำเข้าสำคัญ เครื่องมือ เครื่องจักร สินค้าอุปโภคบริโภค ยารักษาโรค เนื้อสัตว์ น้ำตาล และสินค้าโลหะกึ่งสำเร็จรูป
สินค้าส่งออกสำคัญ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ไม้ เหล็ก เคมีภัณฑ์ และอุตสาหกรรม
1. ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับสหพันธรัฐรัสเซีย
1.1 ความสัมพันธ์ทางการทูต
ไทยและรัสเซียได้ถือเอาการเสด็จประพาสรัสเซียของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ระหว่างวันที่ 3-11 กรกฎาคม 2440) เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม ไทยกับรัสเซียยุติความสัมพันธ์ทางการทูตนับตั้งแต่ปี 2460 เมื่อเกิดการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัสเซียจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบสังคมนิยม ต่อมาทั้งสองประเทศได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกันอีกครั้งในปี 2482 โดยสหภาพโซเวียตได้ส่งเอกอัครราชทูตคนแรกมาประจำการที่ประเทศไทยในปี 2489 และไทยได้ส่งเอกอัครราชทูตคนแรกไปประจำการที่สหภาพโซเวียตในปี 2490 เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 2534 รัสเซียได้เป็นผู้สืบสิทธิ์ของสหภาพโซเวียตทั้งหมด จึงถือได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียดำเนินต่อมาโดยไม่หยุดชะงัก
1.2 ความสัมพันธ์ทางการเมือง
ในช่วงที่นายปูตินดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซีย (ระหว่างปี 2543- พฤษภาคม 2551) ความร่วมมือไทย-รัสเซีย ได้พัฒนาอย่างมีพลวัต โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีปูติน ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเดือนตุลาคม 2546 ซึ่งยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และเมื่อปี 2550 รัฐบาลทั้งสองได้ร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อฉลองโอกาสครบรอบ 110 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-รัสเซีย โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ เยือนสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการในฐานะผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (State Visit) ระหว่างวันที่ 2-11 กรกฎาคม 2550 เพื่อร่วมฉลองโอกาสดังกล่าว
ทั้งสองฝ่ายได้จัดตั้งกลไกการหารือที่จัดขึ้นเป็นประจำหลายกลไก อาทิ การหารือประจำปีระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองฝ่าย (Ministerial Bilateral Consultation) (ประชุมแล้ว 3 ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 ที่กรุงเทพฯ)
การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission - JC) ซึ่งจัดขึ้นทุก ๆ 2 ปี โดยจัดไปแล้ว 4 ครั้ง และฝ่ายไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมฯ ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 ที่กรุงเทพฯ โดยมีนายเซอร์เกย์ ซาเบียนิน (Sergey Sobyanin) รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าสำนักรัฐบาลสหพันธรัฐรัสเซีย เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายรัสเซีย และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย
1.3 ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง
ไทยและรัสเซียได้จัดตั้งคณะทำงานว่าด้วยการหารือด้านความมั่นคง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นหัวหน้าคณะ เพื่อเป็นกลไกที่สำคัญในการรวมความร่วมมือด้านความมั่นคงในด้านต่าง ๆ มาไว้ในกรอบเดียวกัน และช่วยให้การติดต่อประสานงานมีเอกภาพ โดยการประชุมครั้งที่ 1 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2548 ที่กรุงมอสโก โดยมี พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ในขณะนั้น) เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย และนายอิกอร์ อิวานอฟ (Igor Ivanov) เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติของรัสเซีย เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายรัสเซีย นอกจากนี้ ไทยและรัสเซียได้ลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการส่งกำลังบำรุง ระหว่างการเยือนไทยของอดีตประธานาธิบดีปูติน เมื่อเดือนตุลาคม 2546 โดยมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลการส่งกำลังบำรุง การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญเทคนิค การสัมมนาและการประชุมร่วมการวิจัย
1.4 ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
1.4.1 การค้า
รัสเซียเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States CIS) และเป็นอันดับที่ 21 ของโลก การค้าระหว่างไทยกับรัสเซียมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงระหว่างปี 2544 -2551 จาก 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2544 เพิ่มขึ้นถึง 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2551 โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลรัสเซียมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี วิกฤติเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2552 ได้ส่งผลกระทบให้มูลค่าการค้ารวมลดลง โดยมีมูลค่าการค้ารวม 2,097.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 27.69 โด ไทยยังเป็นฝ่ายขาดดุล 1,286.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2554 การค้ามีมูลค่าประมาณ 5,667.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มจากปี 2553 (ร้อยละ 41.85) ไทยยังขาดดุลการค้า 3,368.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
1.4.2 การลงทุน
ในส่วนของการลงทุนของรัสเซียในไทย ในปี 2553 มีโครงการลงทุนจากรัสเซีย 3 โครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยได้รับอนุมัติแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ โครงการของบริษัท Formica-Phianite Co.Ltd ซึ่งผลิตพลอยเทียม และโครงการของบริษัท Mermaids Property Co.Ltd ซึ่งสร้างบ้านพักสำหรับคนเกษียณอายุ และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 1 โครงการของบริษัท Digital Innovation Mercantile ซึ่งเป็นโครงการด้าน การวิจัยและการพัฒนา สำหรับการลงทุนของไทยในรัสเซียมี 2 กิจการ คือ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (CP) โดยมีเงินทุนประมาณ 50 ล้านเดอลลาร์สหรัฐ และบริษัท Warehouse ซึ่งผลิตเครื่องสำอาง ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับการลงทุนระหว่างกันอยู่ในระดับต่ำ เนื่องมาจากการขาดความรู้เรื่องโอกาสลงทุนของทั้งสองฝ่าย
ปัจจุบัน มีการลงทุนของรัสเซียในไทย ทั้งในรูปแบบการเป็นเจ้าของทั้งหมด และการร่วมลงทุนกว่า 30 บริษัท ส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจด้านการนำเข้า-ส่งออก และการท่องเที่ยว ณ เดือนกรกฎาคม 2555 มีโครงการลงทุนของรัสเซียที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ดังนี้ (1) บริษัท Amek Industries (ไทย/รัสเซีย) โครงการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ (ส่งออกร้อยละ 95) มูลค่าการลงทุน 134.3 ล้านบาท (2) บริษัท Formica – Phianite (ไทย/รัสเซีย) โครงการผลิต cubic zirconia (ส่งออกร้อยละ 80) มูลค่าการลงทุน 17.4 ล้านบาท และโครงการผลิตนาโนคริสตัล (ส่งออก 100 %) มูลค่าการลงทุน 10 ล้านบาท (3) บริษัท Mermaids Property (รัสเซีย) ดำเนินโครงการบ้านพักสำหรับผู้เกษียณอายุ มูลค่าการลงทุน 70 ล้านบาท (4) บริษัท Sibirsko Zoloto (รัสเซีย) ดำเนินโครงการสวนน้ำ
รามายณะพัทยา มูลค่าการลงทุน 900 ล้านบาท (5) บริษัท Weblogy Consulting (รัสเซีย/ฝรั่งเศส) ดำเนินธุรกิจด้านซอฟท์แวร์ มูลค่าการลงทุน 4.2 ล้านบาท (6) นาย Georgy Aistov (รัสเซีย/ยูเครน) ดำเนินธุรกิจด้านซอฟท์แวร์ มูลค่าการลงทุน 17.9 ล้านบาท
1.4.3 การท่องเที่ยว
ในปี 2554 มีนักท่องเที่ยวจากรัสเซียเดินทางมาประเทศไทยสูงถึง 1,054,000 คน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางไทย-รัสเซีย ที่เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550 นอกจากนี้ ไทยและรัสเซียได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเมื่อปี 2545 และได้เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2550 ปัจจุบัน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้เปิดสำนักงานที่กรุงมอสโก เพื่อดูแลและส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยในรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช จากเดิมที่ให้สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่กรุงสตอกโฮล์มดูแล
1.4.4 การบิน
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเส้นทางบินตรงกรุงเทพฯ-กรุงมอสโก ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 โดยในช่วงฤดูร้อนมีสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน และในช่วงฤดูหนาวมีสัปดาห์ 4 เที่ยวบิน นอกจากนี้ ยังมีเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ-กรุงมอสโกของสายการบินแอโรฟลอตและสายการบินทรานส์แอโรว์ของรัสเซียด้วย
1.4.5 พลังงาน
1) ในการหารือระหว่าง พ.ต. ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) กับอดีตประธานาธิบดีปูติน (ในขณะนั้น) เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2549 ที่นครอัลมาตี ประธานาธิบดีปูตินได้ย้ำข้อเสนอของรัสเซียที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของรัสเซียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และต่อมา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2549 ระหว่างการประชุม APEC ที่กรุงฮานอย อดีตประธานาธิบดีปูติน (ในขณะนั้น) ได้เน้นย้ำข้อเสนอดังกล่าวกับ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะสานต่อความร่วมมือด้านพลังงานต่อไป
2) ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-รัสเซีย ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงความร่วมมือด้านพลังงาน อาทิ ความร่วมมือระหว่างบริษัทร่วมทุน Gazprom ของรัสเซีย กับกระทรวงพลังงาน และกลุ่มบริษัท ปตท.สผ. เพื่อศึกษาลู่ทางในการพัฒนาร่วมด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในไทย รัสเซีย และประเทศที่สาม การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานทดแทน เป็นต้น
1.5 ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม
1.5.1 ไทยกับรัสเซียมีความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างกัน ซึ่่งลงนามเมื่อปี 2543 และต่อมา ได้มีการจัดทำพิธีสารต่อท้ายความตกลงฯ ซึ่งระบุกิจกรรมความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างกัน โดยพิธีสารต่อท้ายความตกลงฯ ฉบับล่าสุด ลงนามเมื่อเดือนกันยายน 2552 ระบุกิจกรรมสำหรับปี 2552 -2554 อาทิ การจัดงานวันวัฒนธรรมรัสเซียในไทยในปี 2553 และงานวันวัฒนธรรมไทยในรัสเซียในปี 2554 นอกจากนี้ ศาลาว่าการนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประสงค์จะจัดงานวันเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในกรุงเทพฯ โดยเน้นกิจกรรมทางวัฒนธรรมเป็นหลัก รวมถึงจะเชิญนักธุรกิจจากนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเข้าร่วมงานด้วย
1.5.2 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินโครงการฟื้นฟูสัญลักษณ์ไทยในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยการบูรณะปีกซ้ายของพระราชวังปีเตอร์โฮฟ ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในระหว่างการเสด็จฯ เยือนรัสเซีย เมื่อปี 2440 อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นต้องหยุดชะงักโครงการเป็นการชั่วคราว เนื่องจากความไม่พร้อมของฝ่ายรัสเซียอันมีสาเหตุจากการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีในกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ของรัสเซีย
1.5.3 รัฐบาลไทยและรัสเซียได้ร่วมกันจัดการแสดงบัลเลต์จากโรงละครมารีนสกีที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 6-8 ธันวาคม 2550 ตามพระราชเสาวณีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยการแสดงบัลเลต์ชุดหลักเป็นของขวัญจากอดีตประธานาธิบดีปูติน ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา
1.5.4 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ มูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ บี กริมแอนโก และสถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย ได้จัดการแสดงคอนเสิร์ต "Pletnev Returns : Mikhail Pletnev " เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
1.5.5 นาย J.S. Uberoi ประธานบริษัท International Cultural Promotions Limited และกรรมการในคณะกรรมการจัดงานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ มีแผนที่จะจัดงานแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ
เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ที่ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม - 5 มิถุนายน 2553 โดยจะมีการบรรเลงบทเพลง Requiem ซึ่งนาย Boris Tishchenko นักประพันธ์เพลงที่มีชื่อเสียงของรัสเซียได้ประพันธ์ขึ้น เมื่อปี 2551 เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ที่ได้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์การจัดมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ทั้งนี้ งานแสดงดังกล่าวมีกำหนดจะจัดขึ้นในเมืองใหญ่ของรัสเซีย 4 แห่ง ได้แก่ กรุงมอสโก นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมืองเยคาเตรินเบิร์ก และเมืองนาวาซีเบียร์สก์
1.6 ความร่วมมือทางวิชาการ
1.6.1ไทยได้ส่งนักเรียนจำนวน 26 คน ตามโครงการทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (ทุน One District One Scholarship-ODOS) ไปศึกษาต่อที่รัสเซียในสาขาต่างๆ ได้แก่ วิศวกรรมการบิน ป่าไม้ เคมีชีวภาพ ฟิสิกส์ และรัฐศาสตร์
1.6.2 ปัจจุบัน มีนักศึกษาไทยในประเทศรัสเซียประมาณ 122 คน โดยรัฐบาลรัสเซียได้มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยไปศึกษาในระดับปริญญาตรี โท และเอก ประมาณ 30 ทุน ทุกปี
2. ความตกลงที่สำคัญกับไทย
ความตกลงที่ลงนามไปแล้ว
มีทั้งสิ้น 18 ฉบับ อาทิ ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมทวิภาคี (ลงนามเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2536) อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (ลงนามเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2542 มีผลบังคับใช้ 15 มกราคม 2552) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม (ลงนามเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2543)
ความตกลงที่อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำ
มีทั้งสิ้น 24 ฉบับ อาทิ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงยุติธรรม
บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพลังงาน ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการปราบปรามยาเสพติด ความตกลงทางการค้า ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการสำรวจอวกาศ และการใช้อวกาศเพื่อวัตถุประสงค์ในทางสันติ ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนต่างตอบแทน
3. การเยือนที่สำคัญ
3.1 ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- ปี 2550 / วันที่ 2-11 กรกฎาคม เสด็จฯ เยือนสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการในฐานะผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (State Visit)
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
- ปี 2532 / วันที่ 15-23 พฤษภาคม เสด็จฯ เยือนสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- ปี 2536 / วันที่ 14-25 มีนาคม เสด็จฯ เยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
- ปี 2554 / วันที่ 4-13 มิถุนายน เสด็จเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
- ปี 2517 / วันที่ 13-23 พฤษภาคม เสด็จเยือนสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการ
- ปี 2532 / วันที่ 10-19 กรกฎาคม เสด็จเยือนสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการ
รัฐบาล
นายกรัฐมนตรี / รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- ปี 2545 / วันที่ 28 กันยายน 2 ตุลาคม นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ
- ปี 2545 / วันที่ 16-18 ตุลาคม พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ
- ปี 2548 / วันที่ 15 ตุลาคม พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ
- ปี 2548 / วันที่ 25-29 พฤศจิกายน นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ
3.2 ฝ่ายรัสเซีย
ประธานาธิบดี / นายกรัฐมนตรี / รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- ปี 2546 / วันที่ 22 ตุลาคม นายวลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดี พร้อมด้วยนางลุดมิลา ปูตินา (Lyudmila Putina) ภริยา เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะ พระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- ปี 2547 / วันที่ 1-2 ธันวาคม นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Sergey Lavrov) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- ปี 2552 / วันที่ 22 กรกฎาคม นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับรัฐมนตรีต่างประเทศของคู่เจรจา ณ จังหวัดภูเก็ต
- ปี 2552 / วันที่ 23-24 กรกฎาคม นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
เอกอัครราชทูตไทยประจำสหพันธรัฐรัสเซีย คือ นาวาตรีอิทธิ ดิษฐบรรจง (เริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555)<a data-cke-saved-href="http://th.thaiembassymoscow.com/info/?section=d2&artid=57" href="http://th.thaiembassymoscow.com/info/?section=d2&artid=57" "=""> เว็บลิงค์ >>> สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก
กงสุลกิตติมศักดิ์ไทยในสหพันธรัฐรัสเซีย
- สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก มีนาย Yuri Valentinovich Kovalchug เป็นกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์
- สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำเมืองวลาดิวอสต็อก มีนาย Vitaliy Garievich Kulyushin เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์
เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย คือ นายอเล็กซานเดอร์ มารียาซอฟ (เริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553)เว็บลิงค์ >>> สถานเอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย
กงสุลกิตติมศักดิ์สหพันธรัฐรัสเซียในประเทศไทย
- สถานกงสุลกิตติมศักดิ์สหพันธรัฐรัสเซียประจำเมืองพัทยา มีนางพงา วรรธนกุล เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์
- สถานกงสุลกิตติมศักดิ์สหพันธรัฐรัสเซียประจำจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ มีนายนายสุภกิต เจียรวนนท์ เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์
15 พฤศจิกายน 2555
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **