วันที่นำเข้าข้อมูล 29 มี.ค. 2555
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สาธารณรัฐเซอร์เบีย
Republic of Serbia
ข้อมูลทั่วไป
สาธารณรัฐเซอร์เบีย ประกอบด้วย 2 มณฑล ได้แก่ โคโซโว และวอยโวดีนา (เดิมเซอร์เบียเป็นหนึ่งในสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียซึ่งประกอบด้วย 2 รัฐ ได้แก่ เซอร์เบีย และมอนเตเนโกร ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเซอร์เบียและมอนเตเนโกร โดยเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2549 มอนเตเนโกรได้มีการลงประชามติเป็นอิสระจากเซอร์เบีย จึงเหลือเพียงเซอร์เบียในปัจจุบัน)
พื้นที่ 77,474 ตารางกิโลเมตร
ประชากร 7.39 ล้านคน (ประมาณการปี 2554) ประกอบด้วยชาวเซิร์บ 66% ชาวอัลแบเนียน 17% ชาวฮังกาเรียน 3.3%
เมืองหลวง กรุงเบลเกรด (Belgrade)
ภาษา ภาษาเซอร์เบียน (ภาษาราชการของประเทศ)
ภาษาโครเอเชียน (ภาษาราชการในวอยโวดีนา) ภาษาอัลแบเนียน (ภาษาราชการในโคโซโว)
ศาสนา เซอร์เบียนออธอดอกซ์ ร้อยละ 85 โรมันคาทอลิก ร้อยละ 5.5 อิสลาม ร้อยละ 3.2 ไม่ระบุ ร้อยละ 2.6 อื่นๆ และไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า ร้อยละ 2.6โปรเตสแตนท์ ร้อยละ1.1
สกุลเงิน ดีน่าร์ (1 ดีน่าร์ ประมาณ 0.38 บาท ณ วันที่ 26 พ.ย. 55)
วันชาติ (Day of Statehood) วันที่ 15 กุมภาพันธ์
การปกครอง แบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข ซึ่งประธานาธิบดีได้รับเลือกตั้งโดยตรง มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล ได้รับเลือกตั้งจากสภาสำหรับมณฑลอิสระโคโซโวอยู่ภายใต้การบริหารของสหประชาชาติ
สถาบันการเมือง ประกอบด้วยสถาบันหลัก คือ รัฐสภา ซึ่งมีลักษณะเป็นสภาเดี่ยว มีสมาชิก 250 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ มีวาระ 4 ปี
ประธานาธิบดี นายโตมีสลัฟ นีโควิช (Tomislav Nikolic) (2555-ปัจจุบัน)
นายกรัฐมนตรี นายอิวิคา ดาคิช (Ivica Dacic) (2555-ปัจจุบัน)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนปัจจุบัน นายอิวาน เมียร์คิช (Ivan Mrkic) (2555-ปัจจุบัน)
เซอร์เบียเดิมเป็น 1 ใน 6 สาธารณรัฐและมลฑลอิสระปกครองตนเอง (สโลวีเนีย โครเอเชีย เซอร์เบีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา มอนเตเนโกร และมาซิโดเนีย กับ มณฑลอิสระโคโซโว และวอยโวดีนา) ที่ประกอบขึ้นเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียเมื่อปี 2488 โดยอยู่ภายใต้การนำของจอมพลติโต (Marshall Josip Broz Tito) ชาวโครอัท ซึ่งปกครองประเทศตามระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ พลเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวโครอัท นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก อย่างไรก็ตาม ภายหลังการอสัญกรรมของจอมพลติโตในปี 2523 ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชของสาธารณรัฐต่างๆ ในยูโกสลาเวียเริ่มมีความรุนแรงขึ้น และเมื่อนาย Slobodan Milosevic ผู้นำเชื้อสายเซิร์บ ซึ่งมีแนวคิดชาตินิยมก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 2532 ความขัดแย้งภายในได้ทวีความรุนแรง โดยสโลวีเนีย และโครเอเชีย ได้ประกาศแยกตัวเป็นเอกราช ไม่อยู่ภายใต้การปกครองของยูโกสลาเวียอีกต่อไป ภายหลังจากการออกเสียงประชามติทั่วประเทศในสาธารณรัฐทั้งสองเมื่อเดือนธันวาคม 2533 และเดือนพฤษภาคม 2534 ตามลำดับ การประกาศเป็นเอกราชดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติการณ์ยูโกสลาเวีย ซึ่งได้ขยายตัวเป็นสงครามกลางเมืองในเวลาต่อมา เมื่อมาซิโดเนีย และบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ได้ประกาศแยกตัวออกเป็นรัฐเอกราชเช่นเดียวกัน เมื่อเดือนกันยายนและตุลาคม 2534 ตามลำดับ
เมื่อบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาประกาศเอกราชจากยูโกสลาเวียนั้น ชาวเซิร์บ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาไม่พอใจต่อการประกาศเอกราชจากยูโกสลาเวียของชาวบอสเนียน (มุสลิม) ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ เนื่องจากเกรงว่า จะไม่ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกับชาวมุสลิม ภายหลังการแยกตัวออกจากยูโกสลาเวีย ชาวเซิร์บจึงประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากรัฐบาลบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา รวมทั้งเป็นพันธมิตรร่วมกับชาวเซิร์บในเมืองคราจินาของโครเอเชีย เพื่อยึดครองพื้นที่ และนำดินแดนที่ยึดได้จากชาวมุสลิม ไปผนวกรวมกับดินแดนของเซอร์เบียในยูโกสลาเวีย ในขณะเดียวกัน ชาวโครอัทในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ก็ได้ประกาศยึดครองดินแดนส่วนหนึ่งในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา เพื่อตั้งเป็นรัฐเฮอร์เซก-บอสนา (Herceg-Bosna) ขึ้น ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างกัน ต่อมา ชาวเซิร์บในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ได้รับการสนับสนุนด้านยุทธปัจจัยจากรัฐบาลเซอร์เบียในยูโกสลาเวีย สงครามจึงขยายตัวรุนแรง และยืดเยื้อจนกลายเป็นสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในที่สุด โดยมีผู้สูญหายและเสียชีวิตกว่า 250,000 คน และประชาชนอีก 2 ล้านคน กลายเป็นผู้อพยพพลัดถิ่น สหประชาชาติจึงได้ร้องขอให้นาโต ส่งกองกำลังเข้าไปในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ซึ่งทำให้เมื่อปี 2538 สงครามดังกล่าวได้ยุติลง ภายหลังการลงนามในข้อตกลงสันติภาพเดย์ตัน (Dayton Accord) ซึ่งได้มีจัดการลงนามย่อขึ้นที่ฐานทัพอากาศ Wright-Patterson เมืองเดย์ตัน มลรัฐโอไฮโอ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2538 และมีการลงนามอย่างเป็นทางการขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2538 โดยผู้เข้าร่วมลงนามได้แก่ นาย Bill Clinton ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Jacques Chirac ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นาย John Major นายกรัฐมนตรี สหราชอาณาจักรฯ นาย Helmut Kohl นายกรัฐมนตรีเยอรมนี นาย Viktor Chernomyrdin นายกรัฐมนตรีรัสเซีย นาย Slobodan Milosevic ประธานาธิบดีเซอร์เบีย ซึ่งเป็นตัวแทนของชาวเซิร์บในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา นาย Franco Tudman ประธานาธิบดีโครเอเชีย และนาย Alija Izetbegovic ประธานาธิบดีบอสเนียฯ
การประกาศเอกราชของประเทศต่างๆ ในยูโกสลาเวียในศตวรรษที่ 1990 ทำให้เซอร์เบีย และมอนเตเนโกรเป็น 2 รัฐสุดท้ายที่ยังคงรวมตัวกันอยู่ และได้ประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นเซอร์เบียและมอนเตเนโกร โดยรัฐทั้งสองได้ลงนามในข้อตกลงเบลเกรดเมื่อปี 2545 เพื่อรองรับการรวมตัวและเปลี่ยนชื่อประเทศ รวมทั้งระบุให้มีการทบทวนการรวมตัวดังกล่าวได้ภายหลังระยะเวลา 3 ปี ต่อมา เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2549 ประชาชนมอนเตเนโกรได้ลงประชามติให้มอนเตเนโกรเป็นอิสระจากเซอร์เบีย ภายหลังประชาชนได้ลงประชามติ ร้อยละ 55 ให้แยกออกจากเซอร์เบีย และมีการประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2549 ทั้งนี้ ภายใต้ข้อตกลงเบลเกรดนั้น ในกรณีที่มอนเตเนโกรเลือกที่จะแยกตัวออกจากเซอร์เบีย เซอร์เบียจะเป็นรัฐสืบสิทธิ์เพียงผู้เดียว และยังคงมีที่นั่งในองค์การสหประชาชาติ และในองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ต่อไป สำหรับมอนเตเนโกรนั้น จะต้องขอรับการรับรองจากนานาประเทศ และสมัครเป็นสมาชิกใหม่ในสถาบันและองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ
สถานการณ์ในโคโซโว ซึ่งเป็นมณฑลอิสระทางภาคใต้ของเซอร์เบีย นับว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญที่สุดประเด็นหนึ่งของเซอร์เบียมาโดยตลอดเนื่องจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนา โดยประชากรกว่า ร้อยละ 90 เป็นชาวแอลเบเนียน (นับถืออิสลาม) และประชาชนส่วนน้อยเป็นชาวเซิร์บ ร้อยละ 10 (นับถือออโธดอกซ์) จากประชากร 2 ล้านคน สถานการณ์ในโคโซโวเริ่มมีความตึงเครียดมากขึ้นในสมัยการปกครองของนาย Slobodan Milosevic ประธานาธิบดีเซอร์เบีย ที่มีนโยบายชาตินิยมที่แข็งกร้าว โดยในปี 2541 เกิดการสู้รบอย่างรุนแรง ระหว่างกองกำลังชาวโคโซวาร์ เชื้อสายแอลเบเนีย กับกองทัพของเซอร์เบียเมื่อเซอร์เบียประกาศยกเลิกสถานะการปกครองตนเองของโคโซโว การสู้รบขยายตัวไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวแอลเบเนียอย่างโหดเหี้ยม ส่งผลให้เกิดผู้ลี้ภัยชาวแอลเบเนีย ในประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก การสู้รบดังกล่าวยุติลงเมื่อนาโตใช้ปฏิบัติการทางทหารกับเซอร์เบีย ในปี 2542 ซึ่งต่อมา นาโตได้ส่งกองกำลัง Kosovo Force (KFOR) เข้าไปปฏิบัติการรักษาสันติภาพในโคโซโว และสหประชาชาติได้จัดตั้งองค์กรบริหารชั่วคราวขึ้นในโคโซโว (UNMIK) เพื่อดูแลผู้อยู่อาศัยในโคโซโว
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในโคโซโวยังคงไม่สงบนัก เนื่องจากมีการปะทะกันระหว่างชาวโคโซโวเชื้อสายแอลเบเนีย กับเชื้อสายเซิร์บอยู่เป็นประจำ ก่อให้เกิดความตึงเครียดเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่ปี 2549 ได้มีการเจรจาระหว่างฝ่ายเซิร์บและฝ่ายโคโซโว แอลเบเนียนในการหาข้อยุติความขัดแย้ง และเพื่อกำหนดสถานะของโคโซโว โดยมีสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และรัสเซียร่วมเจรจาด้วย ต่อมา ในช่วงปลายปี 2550 ได้มีการจัดการเจรจาขึ้นระหว่างสามฝ่าย (Troika) ประกอบด้วย สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และรัสเซีย อย่างไรก็ดี การเจรจาของกลุ่ม Troika ต้องจบลงไปโดยปริยายเมื่อเดือนธันวาคม 2550 เนื่องจากไม่สามารถหาข้อยุติได้ และในที่สุด สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ตัดสินใจที่จะสนับสนุนข้อเสนอของนาย Maarti Ahtisaari ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ให้โคโซโวเป็นรัฐอิสระ โดยอยู่ในความดูแลขององค์การสหประชาชาติ ในช่วงแรก ถึงแม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากรัสเซียและเซอร์เบียก็ตาม โดยล่าสุด โดยปัจจุบัน ประเทศที่ให้การรับรองสถานะของโคโซโว 92 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ของสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และบรูไน
ข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจ
GDP 46.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
GDP per capita 6,266 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเจริญเติบโต ร้อยละ 2
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 6.2
การค้าระหว่างประเทศ ....พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก .....พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการนำเข้า .....พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกที่สำคัญของเซอร์เบีย ธาตุเหล็ก เหล็กกล้า แป้งสาลี ผักและผลไม้ เครื่องจักรและอุปกรณ์การขนส่ง ยาง เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากเหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า อาวุธและอาวุธยุทธภัณฑ์
ตลาดส่งออกที่สำคัญ อิตาลี เยอรมนี บอสเนียฯ มอนเตเนโกร โรมาเนีย รัสเซีย สโลวีเนีย มาซิโดเนีย
สินค้านำเข้าที่สำคัญ เครื่องจักรและอุปกรณ์การขนส่ง สินค้าอุตสาหกรรม เชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น
ตลาดนำเข้าที่สำคัญ รัสเซีย เยอรมนี อิตาลี จีน ฮังการี
ทรัพยากรธรรมชาติ ปิโตรเลียม ก๊าซ ถ่านหิน เหล็ก ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี โครเมียม ทอง เงิน แมกนีเซียม หินปูน เกลือ
เศรษฐกิจและสังคม
เซอร์เบียประสบปัญหาทางเศรษฐกิจสืบเนื่องจากการบริหารเศรษฐกิจประเทศที่ผิดพลาดในสมัยประธานาธิบดี Slobodan Milosevic ตลอดจนความเสียหายทางระบบสาธารณูปโภคและอุตสาหกรรมจากการโจมตีของกองกำลังนาโตในปี 2542 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีมูลค่าเหลือเพียงครึ่งเดียวของมูลค่าในปี 2533 ปัจจุบัน รัฐบาลเซอร์เบียให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การลดอัตราการว่างงานในประเทศ การลดอัตราเงินเฟ้อ และการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และสมาชิกองค์การการค้าโลก โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund - IMF) ธนาคารโลก (World Bank) และ European Bank for Reconstruction and Development อย่างไรก็ดี การปฏิรูประบบเศรษฐกิจและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างล่าช้าเนื่องจากการเลือกตั้งทั่วไปบ่อยครั้งและวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551
นโยบายต่างประเทศ
สถานการณ์ในโคโซโว
สถานการณ์ในโคโซโวยังคงเป็นประเด็นสำคัญในด้านการต่างประเทศของรัฐบาลเซอร์เบีย โดยภายหลังจากที่โคโซโวประกาศเอกราชฝ่ายเดียวจากเซอร์เบียเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2551 นั้น รัฐบาลเซอร์เบียมีความพยายามที่จะขอเสียงสนับสนุนจากนานาประเทศไม่ให้รับรองโคโซโว และพยายามที่จะโน้มน้าวประเทศที่ตัดสินใจรับรองโคโซโวแล้ว ให้เปลี่ยนการตัดสินใจ เนื่องจากอ้างว่า การประกาศเอกราชฝ่ายเดียวของโคโซโวผิดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติ ที่ 1244 เมื่อปี 2542 ซึ่งกำหนดให้นานาประเทศเป็นผู้กำหนดสถานะสุดท้ายของโคโซโว
นอกจากนี้ ยังประณามการปฏิบัติการของข้าราชการของสหภาพยุโรป (EULEX) ในโคโซโวอีกด้วย เนื่องจากไม่ได้รับการอนุมัติและเห็นชอบจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติอย่างไรก็ดี ภายหลังจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ให้ความเห็นเชิงแนะนำ (Advisory Opinion) เกี่ยวกับการประกาศเอกราชฝ่ายเดียวของโคโซโว เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2553 โดยมีสาระสำคัญว่า การประกาศเอกราชฝ่ายเดียวโดยโคโซโวไม่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไป มติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เซอร์เบียได้พยายามเสนอข้อมติเกี่ยวกับโคโซโวต่อที่ประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติในเดือนกันยายน 2553 แต่ถูกสหภาพยุโรปกดดันอย่างหนักเพื่อให้ปรับแก้ถ้อยคำของร่างข้อมติดังกล่าวจนนำไปสู่การเสนอร่างข้อมติร่วมกันระหว่างเซอร์เบียกับ EU และได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติโดยฉันทามติ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2553 โดยข้อมติดังกล่าวได้ระบุถึงการรับทราบความเห็นเชิงแนะนำของศาลโลกดังกล่าว และสนับสนุนความพร้อมของพร้อมของสหภาพยุโรปในฐานะผู้ประสานงานในกระบวนการเจรจาระหว่างเซอร์เบียและโคโซโว
สหภาพยุโรปได้ใช้ความพยายามในการจัดการเจรจาสันติภาพให้การเจรจาระหว่างเซอร์เบียและโคโซโวเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 – 9 มีนาคม 2554 ที่กรุงบรัสเซลล์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือแนวทางการลดอุปสรรคระหว่างกันซึ่งมีผลเชิงลบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนของทั้งสองฝ่ายและแนวทางในขยายความร่วมมือระหว่างกัน รวมทั้งแนวทางของการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของทั้งสองฝ่าย และการหารือครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 4) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 – 18 พฤษภาคม 2554 ที่กรุงบรัสเซลล์ อย่างไรก็ดี สถานการณ์ระหว่างเซอร์เบียและโคโซโวตึงเครียดอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 2554 หลังจากโคโซโวสั่งห้ามการนำเข้าสินค้าจากเซอร์เบียและส่งกองกำลังเข้าควบคุมบริเวณด่านศุลกากรทั้ง 2 จุดเพื่อตอบโต้เซอร์เบียซึ่งสั่งห้ามการนำเข้าสินค้าจากโคโซโว ส่งผลให้กลุ่มชาวเซิร์บที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของโคโซโวไม่พอใจและประท้วงต่อเหตุการณ์ดังกล่าว จนกระทั่งกองกำลัง NATO Kosovo Force เข้ายุติเหตุการณ์ดังกล่าวและเข้าควบคุมด่านศุลกากรดังกล่าว ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้การเจรจาระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายต้องยุติลงชั่วคราวและยังคงไม่มีทีท่ากลับสู่ภาวะปกติ
การเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป
การเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเป็นประเด็นการต่างประเทศที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่ง โดย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 เซอร์เบียได้ลงนามในความตกลง Stabilization and Association Agreement กับสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นความตกลงที่สำคัญสำหรับเซอร์เบียในการเริ่มต้นกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และได้แสดงความประสงค์เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2553
· ปัจจุบันเซอร์เบียได้รับสถานะการเป็น official candidate membership จากสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2555
· อย่างไรก็ดี เซอร์เบียยังคงมีอุปสรรคในการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป โดยอุปสรรคที่สำคัญที่สุดในขณะนี้คือเรื่องโคโซโวเนื่องจากการกลับเข้าสู่การเจรจาสันติภาพกับโคโซโวเป็นเงื่อนไขสำหรับการได้รับสถานะประเทศที่ได้รับพิจารณาเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป นอกจากนี้ อุปสรรคอื่น ๆ ได้แก่ ปัญหาอาชญากรรม อัตราเงินเฟ้อที่สูง สำหรับ การส่งมอบอาชญากรสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสมัยสงครามบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนานั้น เซอร์เบียได้ดำเนินเรื่องดังกล่าวแล้วเสร็จสิ้นแล้ว
ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเซอร์เบียและมอนเตเนโกร (สมัยที่ยังไม่แยกตัวเป็น 2 ประเทศ) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2546 โดยเซอร์เบียได้ให้ สอท.เซอร์เบีย/อินโดนีเซีย ดูแลความสัมพันธ์กับไทย และให้ ออท.เซอร์เบีย/อินโดนีเซีย เป็น ออท.เซอร์เบีย/ไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงจาการ์ตา ในขณะที่ไทยกำลังดำเนินการยกระดับ สอท. ณ กรุงเอเธนส์ จากสถานะจุดติดต่อกับเซอร์เบียให้มีเขตอาณาครอบคลุมเซอร์เบีย
ในภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเซอร์เบียเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีปัญหาระหว่างกัน แต่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันยังมีไม่มากนัก โดยประเด็นที่เซอร์เบียให้ความสำคัญกับไทยก็คือ การขอมิให้ไทยรับรองโคโซโว ซึ่งท่าทีของไทยในปัจจุบันคือยังคงไม่ให้การรับรองโคโซโว รวมทั้งการเสนอขยายความร่วมมือด้านยุทโธปกรณ์กับไทย อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเซอร์เบียได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับโดย รมว.กต. เซอร์เบียได้เดินทางเยือนไทยเมื่อปี 2552 ในฐานะแขกของ กต. นอกจากนี้ รมว.กต.ไทยและเซอร์เบียได้มีโอกาสพบหารือกันในระหว่างการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน สมัยที่ 13 ที่กรุงเจนีวา ในการพบหารือระหว่างกันในช่วงที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงแนวทางที่จะกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เช่น การส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการศึกษา
ด้านการค้า เซอร์เบียเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 156 ของไทย การค้าของไทยกับเซอร์เบียในปี 2553 มีมูลค่ารวม 13.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปเซอร์เบีย 7.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 6.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปยังเซอร์เบีย ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป รองเท้าและชิ้นส่วน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนสินค้านำเข้าจากเซอร์เบีย ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (ไทยมีการนำเข้ายุทโธปกรณ์จากเซอร์เบีย) สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปยังเซอร์เบีย ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป รองเท้าและชิ้นส่วน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนสินค้านำเข้าจากเซอร์เบีย ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (ไทยมีการนำเข้ายุทโธปกรณ์จากเซอร์เบีย)
ด้านการท่องเที่ยว เซอร์เบียเป็นตลาดนักท่องเที่ยวขนาดเล็ก นักท่องเที่ยวจากเซอร์เบียมาไทยยังมีจำนวนน้อย โดยในปี 2553 จำนวนนักท่องเที่ยวจากเซอร์เบียเดินทางมาไทยจำนวน 2,472 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 54 จากปี 2552(1,602 คน) โดยในปี 2554 มีนักท่องเที่ยวเซอร์เบียมาไทย 3,019 คน
ด้านการลงทุน ยังไม่ปรากฏว่ามีการลงทุนระหว่างกัน และไม่มีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนระหว่างไทยกับเซอร์เบีย
สถานะ ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2555
กองยุโรป 3 กรมยุโรป โทร. 0 2203 5000 ต่อ 13141 หรือ 0 2643 5142 Fax. 0 2643 5141 E-mail : [email protected]
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **